อุปกรณ์สังเกตการณ์ดาราศาสตร์ในวงโคจร
อุปกรณ์สังเกตการณ์ดาราศาสตร์ในวงโคจร (อังกฤษ: Orbiting Astronomical Observatory; OAO) เป็นชุดหอดูดาวในอวกาศสี่ตัวขององค์การนาซาที่ส่งขึ้นสู่อวกาศระหว่างปี ค.ศ. 1966 - 1972 ซึ่งให้ผลสังเกตการณ์คุณภาพสูงสำหรับวัตถุท้องฟ้าในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตได้เป็นครั้งแรก แม้อุปกรณ์สังเกตการณ์ 2 ตัวไม่ประสบความสำเร็จ แต่อุปกรณ์อีกสองตัวก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งและช่วยกระตุ้นความสนใจในแวดวงนักดาราศาสตร์ให้มองเห็นความสำคัญของการสังเกตการณ์ในห้วงอวกาศ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความสำเร็จของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
OAO-1
[แก้]ดาวเทียม OAO-1 ดวงแรกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1966 พร้อมเครื่องมือตรวจสอบการแผ่รังสีในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต รังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา ทว่าก่อนที่เครื่องมือวัดจะได้ทำงาน ก็เกิดปัญหากับระบบจ่ายไฟ ทำให้ต้องยกเลิกภารกิจไปในเวลาเพียง 3 วัน
OAO-2
[แก้]ดาวเทียม OAO-2 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1968 พร้อมกล้องโทรทรรศน์อัลตราไวโอเลต 11 ตัว มันทำการสังเกตการณ์อวกาศได้อย่างสมบูรณ์จนกระทั่งเดือนมกราคม ค.ศ. 1973 ผลที่ได้เป็นการค้นพบที่สำคัญทางดาราศาสตร์หลายประการ เช่นการค้นพบว่ารอบๆ ดาวหางเป็นแก๊สไฮโดรเจนจำนวนมาก หรือการเฝ้าสังเกตการณ์โนวาและพบว่าความสว่าง UV ของมันมักจะเพิ่มขึ้นระหว่างที่ความสว่างทางแสงลดลง เป็นต้น
OAO-B
[แก้]OAO-B มีภารกิจนำกล้องโทรทรรศน์อัลตราไวโอเลตขนาด 38 นิ้วขึ้นไปเพื่อตรวจลำแสงของวัตถุที่ไม่ค่อยสว่างนัก แต่โชคร้ายที่จรวดนำส่งไม่ยอมแยกตัวออกจากดาวเทียมระหว่างการขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970 ดาวเทียมจึงย้อนกลับเข้ามาสู่บรรยากาศของโลกและตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติกในเวลาต่อมา
OAO-3 (โคเปอร์นิคัส)
[แก้]OAO-3 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1972 และได้ทำงานเป็นผลสำเร็จอย่างมากสำหรับโครงการ OAO ทั้งหมด ดาวเทียมนี้เป็นโครงการร่วมระหว่างนาซากับสภาวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของสหราชอาณาจักร มันนำเครื่องตรวจวัดรังสีเอกซ์ที่สร้างโดยห้องทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศมุลลาร์ดของยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจ ลอนดอน รวมถึงกล้องโทรทรรศน์อัลตราไวโอเลตขนาด 80 ซม. จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน หลังจากที่ส่งขึ้นสำเร็จ ดาวเทียมนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โคเปอร์นิคัส" เพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบวันเกิดปีที่ 500 ของนิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส
ดาวเทียมโคเปอร์นิคัสปฏิบัติภารกิจจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1981 ได้ส่งภาพสเปคตรัมความละเอียดสูงของดาวฤกษ์หลายร้อยดวงผ่านการสังเกตการณ์รังสีเอ็กซ์ ในบรรดาการค้นพบที่โดดเด่นของโคเปอร์นิคัสรายการหนึ่งคือ การค้นพบพัลซาร์คาบยาวจำนวนมาก ซึ่งมีรอบการหมุนหลายนาที แทนที่กลุ่มที่เคยพบเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น
อ้างอิง
[แก้]- Code A.D., Houck T.E., McNall J.F., Bless R.C., Lillie C.F. (1970), Ultraviolet Photometry from the Orbiting Astronomical Observatory. I. Instrumentation and Operation, Astrophysical Journal, v. 161, p.377
- Rogerson J.B., Spitzer L., Drake J.F., Dressler K., Jenkins E.B., Morton D.C. (1973), Spectrophotometric Results from the Copernicus Satellite. I. Instrumentation and Performance, Astrophysical Journal, v. 181, p. L97