อาร์มินิอุส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาร์มินิอุส
รูปปั้นอาร์มินิอุส ณ อนุสรณ์สถานแฮร์มันเด็นคมอล์
เจ้าชายและหัวหน้าเผ่าเครุสกี
ก่อนหน้าเซจิแมร์
ถัดไปอิตาลีคัส
ประสูติ18/17 ปีก่อนคริสต์กาล
เจอร์มาเนีย
สวรรคตค.ศ. 21 (อายุ 37–38 ปี)
เจอร์มาเนีย
คู่อภิเษกทุสเนลดา
พระราชบุตรทูมลีกุส
Armin, Hermann
พระราชบิดาเซจิแมร์
ศาสนาเจอร์มานิก

อาร์มินิอุส (Arminius; 18/17 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 21) หรือที่ชาวเยอรมันเรียกว่า แฮร์มัน (Hermann) เป็นหัวหน้าเผ่าเครุสกีซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งของชนชาติเยอรมันโบราณ เขาเป็นผู้นำกองกำลังพันธมิตรชนเผ่าเยอรมันทั้งหลายในยุทธการที่ป่าท็อยโทบวร์คเมื่อปีที่ 9 ก่อนคริสตกาล และมีชัยชนะเหนือกองทหารโรมันทั้งสามได้ ชัยชนะของเขาที่ป่าท็อยโทบวร์คทำให้จักรวรรดิโรมันกำหนดนโยบายถอนกำลังออกจากแผ่นดินเยอรมันอย่างถาวร และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เร่งรัดการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในเวลาต่อมา[1] นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่หลายคนถือว่าชัยชนะของอาร์มินิอุสเป็นความปราชัยครั้งใหญ่ที่สุดของกรุงโรม[2] อาร์มินิอุสได้ป้องกันชนเผ่าเยอรมันจากการถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมโรมันไว้ ชัยชนะของอาร์มินิอุสได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในชัยชนะอย่างขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์[3][4][5][6] และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์โลก[7]

อาร์มินิอุสเกิดในตระกูลผู้นำเผ่าเครุสกีในปี 18 หรือ 17 ก่อนคริสต์กาล และถูกนำตัวไปเป็นองค์ประกันของโรมันตั้งแต่ยังเล็ก เขาเติบโตในกรุงโรมและถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารโรมันตั้งแต่วัยหนุ่ม นั่นทำให้เขาได้รับสัญชาติโรมันและกลายเป็นอัศวินโรมัน ภายหลังมีส่วนปราบกบฏในมณฑลอิลลีรีลงได้ เขาก็ถูกส่งตัวไปยังแผ่นดินเยอรมัน (Germania) เพื่อช่วยเหลือผู้ว่าการโรมัน ปูบลิอุส วารุส (Publius Varus) ในการสยบพวกเยอรมันเผ่าต่าง ๆ ในช่วงนี้เอง อาร์มินิอุสได้สมคบกับชนเผ่าเยอรมันเพื่อเตรียมการกบฎต่อพวกโรมัน จนนำไปสู่ซุ่มโจมตีสามกองทหารโรมันที่ป่าท็อยโทบวร์คจนพินาศย่อยยับ

ภายหลังมีชัยในศึกท็อยโทบวร์ค อาร์มินิอุสก็นำทัพชนเผ่าเยอรมันเข้าต่อสู้กับทัพของแกร์มานิกุส (Germanicus) แม่ทัพชาวโรมัน อีกหลายครั้งหลายครา นอกจากนี้ยังสามารถกำจัดคู่แข่ง มารอบอดุอุส (Maroboduus) แห่งเผ่ามาร์โคมัน (Marcomanni) ซึ่งหวั่นวิตกถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของอาร์มินิอุสจนพยายามลอบสังหารเขาใน ค.ศ. 21 แต่ล้มเหลว นักประวัติศาสตร์ตากิตุสยกย่องอาร์มินิอุสว่าเป็นผู้ปลดแอกชนแห่งเผ่าเยอรมันที่กล้าต่อสู้จักรวรรดิโรมันในช่วงที่กรุงโรมเรืองอำนาจขีดสุด

ในช่วงการรวมชาติเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาร์มินิอุสถูกยกยอโดยเหล่านักชาติเยอรมันนิยมในฐานะสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวและอิสรภาพ[8] อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อของอาร์มินิอุสกลับเลือนหายไปจากหนังสือเรียนเนื่องจากเขามีภาพลักษณ์ชาติทหารนิยม ทำให้คนเยอรมันรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องราวของเขามากนัก แม้แต่งานฉลองครบสองพันปีศึกท็อยโทบวร์คก็ยังเป็นเพียงงานรำลึกเล็ก ๆ เท่านั้น[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Dr. Aaron Ralby (2013). "The Roman Legion: Refining Military Organization". Atlas of Military History. Parragon. p. 241. ISBN 978-1-4723-0963-1.
  2. Murdoch 2012
  3. Tucker 2010, p. 75
  4. Cawthorne 2012
  5. Davis 1999, p. 68
  6. Creasy 2007, p. 104
  7. "How the eagles were tamed". The Spectator. 27 มีนาคม 2004. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2015. Mommsen referred to the Battle of the Teutoburg forest as a turning-point in world history.
  8. 8.0 8.1 Crossland, David (28 สิงหาคม 2009). "Battle of the Teutoburg Forest: Germany Recalls Myth That Created the Nation". Spiegel Online International. Der Spiegel. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2015.

ข้อมูลทั่วไป[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]