อัสวัง
ภาพ "อัสวัง" ที่วาดโดยศิลปิน | |
ภูมิภาค | วิซายัส, บริเวณทางตอนใต้ของเกาะลูซอน และเป็นเขตปกครองของเกาะมินดาเนา |
---|
อัสวัง [1] (อังกฤษ: Aswang หรือ Asuwang; มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตคำว่า "อสูร" ที่แปลว่า "ปีศาจ") เป็นผีหรือปีศาจชนิดหนึ่ง จำพวกผีดูดเลือดหรือแวมไพร์ ตามเทพปกรณัมฟิลิปปินส์ มีลักษณะคล้ายคลึงมานานังกัล ความเชื่อเรื่องอัสวังกระจายไปทั่วฟิลิปปินส์ ชาวสเปนที่เข้ามาปกครองฟิลิปปินส์ในช่วงศตวรรษที่ 16 ได้บันทึกว่าอัสวังเป็นปีศาจที่น่ากลัวที่สุดของฟิลิปปินส์[2] ในภูมิภาควิซายันตะวันตก มีความเชื่อเรื่องอัสวังมาก [3] อัสวังยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาค เช่น ติ๊ก-ติ๊ก (tik-tik), วัก-วัก (wak-wak) หรือ ซก-ซก (sok-sok) ยกเว้นในภูมิภาคอีโลโกส ที่ไม่ได้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอัสวัง[4]
อัสวังอาจแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบ โดยมาในรูปแบบของผีกินศพมนุษย์หรือผีดูดเลือด บัล-บัล มีลักษณะคล้ายผีปอบตามความเชื่อของไทย ยักษ์กินคน มนุษย์หมาป่า และหมอผี อัสวังในรูปแบบของผีปอบมีพฤติกรรมการเอาต้นกล้วยมาวางไว้แทนซากศพที่ตนได้กินไปแล้ว อัสวังสามารถแปลงกายเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัข และยังแปลงเป็นสัตว์อื่น ๆได้อีก เช่น แมว, นก, ค้าวคาว หรือหมู นอกจากนี้แล้วยังชอบกินเด็กที่ยังไม่คลอดหรือเด็กทารก รวมถึงชอบกินปอดและหัวใจของมนุษย์ อัสวังบางจำพวกมีลิ้นยาวเพื่อลากเด็กที่แม่ไม่ได้ดูแลไปกิน บางจำพวกมีตัวผอมบางจนสามารถหลบหลังต้นไผ่ได้ บางจำพวกก็เคลื่อนไหวได้เร็วและเงียบ บางจำพวกก็ชอบส่งเสียงดังเพื่อให้เหยื่อตกใจกลัว ในตอนกลางวันอัสวังจะมีรูปกายแบบมนุษย์ และไม่กลัวแสงแดด บางครั้งมนุษย์ก็แต่งงานอยู่กินกับอัสวังโดยไม่รู้ตัว อัสวังก็จะทำให้คู่ของตนกลายเป็นอัสวังไปด้วย และออกล่าเหยื่อด้วยกัน แต่จะไม่แบ่งปันอาหารให้กัน ทั้งนี้ อัสวังจะไม่ทำร้ายมนุษย์ที่เป็นเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน ในภาษาฟิลิปีโนมีภาษิตว่า "Mas mabuti ang aswang kaysa sa isang magnanakaw" (อัสวังยังดีกว่าโจร) แต่หากมนุษย์คนใดรู้ตัวตนที่แท้จริงของอัสวัง อัสวังก็อาจฆ่าผู้ที่รู้เห็นได้ อัสวังกลัวกระเทียม เกลือ น้ำมนต์ ไม้กางเขน และลูกประคำ อัสวังถูกฆ่าได้ด้วยแส้หางปลากระเบน รวมถึงยังกลัวเสียงแส้แหวกอากาศอีกด้วย ส่วนการป้องกันไม่ให้อัสวังเข้าบ้าน อาจทำได้ด้วยการแขวนเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ไว้ที่ประตูบ้าน และยังใช้ลูกปัดสีส้มสลับดำแขวนไว้กับเด็กแรกเกิดก็สามารถป้องกันอัสวังได้ การสังเกตว่าผู้ใดเป็นอัสวัง กระทำได้โดยการมองลอดหว่างขาตัวเอง หรือการสังเกตจากน้ำมันเสกของหมอผี ซึ่งหากมีอัสวังอยู่ใกล้ ๆ น้ำมันเสกนั้นจะเดือดขึ้นเอง[1]
เรื่องราวของอัสวังที่เป็นที่รู้จักดีที่สุด คือ เรื่องของมาเรีย ลาโบ ซึ่งเป็นตำนานเล่าขานที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้ เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งที่กลายมาเป็นอัสวัง จากชายชราสองคนที่เธอดูแลอยู่เป็นงานพิเศษเพื่อหารายได้เข้าครอบครัว นอกเหนือจากการงานของสามีของเธอซึ่งเป็นตำรวจ เมื่อเธอถูกสาปจากอัสวังสองตนนั้นให้เป็นผู้สืบทอด สามปีผ่านไป เมื่อเธอกลับจากการเป็นแม่บ้านในแคนาดา คำสาปก็เริ่มแสดงผล เธอกลายเป็นอัสวังและได้ฆ่าลูกสองคนนำไปต้มเป็นอาหารในครัว เมื่อผู้เป็นสามีกลับมาพบเห็นเรื่องสยองขวัญก็ตกใจได้ใช้มีดทำครัวฟันไปที่ใบหน้าของเธอจนเกิดเป็นแผลขนาดใหญ่ และขับไล่เธอออกจากบ้าน จากนั้นเรื่องราวของเธอก็ได้เป็นที่รู้จัก โดยเล่าว่าได้พบเห็นเธออาละวาดในวิซายาและมินดาเนา เธอออกหาเนื้อมนุษย์รวมถึงอวัยวะภายในสด ๆ กิน รวมถึงแปลงร่างเป็นอะไรก็ได้ เรื่องราวของมาเรีย ลาโบ ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์สยองขวัญในปี ค.ศ. 2015 ในชื่อเดียวกัน[5] [6]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Argen (อาเจ้น). Ghost Story เรื่องผีเขย่าขวัญรอบโลก ตอน ผีอาเซียนสุดสยอง. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, บมจ., 2015. 80 หน้า. ISBN 9786160823178
- ↑ Scott, William Henry (1994). Barangay: Sixteenth Century Philippine Culture and Society. Quezon City: Ateneo de Manila University Press. ISBN 971-550-135-4.
- ↑ Clark, Jordan (2011) The Aswang Phenomenon Documentary, High Banks Entertainment Ltd. https://www.youtube.com/watch?v=2ePhqoyLpXQ
- ↑ Tan, Michael (2008-10-26). "Aswang! Aswang!". Sunday Inquirer Magazine.
- ↑ "Maria Labo: The Creepy Tale Of The Legendary Aswang". oddityworld. 2014-11-28. สืบค้นเมื่อ 2016-09-25.
- ↑ Maria Labo ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Cruz, Neal (2008-10-31). "As I See It: Philippine mythological monsters". Philippine Daily Inquirer.
- Eugenio, Damiana (2002). Philippine Folk Literature: The Legends. Matt Asombrado Paculba City: University of the Philippines Press. p. 490. ISBN 971-542-357-4.
- Ramos, Maximo D. (1971). Creatures of Philippine Lower Mythology. Quezon City: University of the Philippines Press. ISBN 971-06-0691-3.
- Ocampo, Ambeth (2010-02-16). "Looking Back: 'Aswang' and counter-insurgency". Philippine Daily Inquirer.