อัลแบร์ท โฮฟมัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อัลเบิร์ต ฮอฟมานน์)
อัลแบร์ท โฮฟมัน
อัลแบร์ท โฮฟมัน ใน พ.ศ. 2536
เกิด11 มกราคม พ.ศ. 2449
บาเดิน สวิตเซอร์แลนด์
เสียชีวิต29 เมษายน พ.ศ. 2551 (102 ปี)
บวร์คอิมไลเมินทาล สวิตเซอร์แลนด์
สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยซือริช
มีชื่อเสียงจากผู้ค้นพบสารแอลเอสดี, ผู้ตั้งชื่อและสังเคราะห์ไซโลซิน (psilocin)
คู่สมรสอนีทา โฮฟมัน (?–2550) (เธอเสียชีวิต)
บุตร4 คน
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมี
อัลแบร์ท โฮฟมัน เมื่ออายุ 100 ปี ใน พ.ศ. 2549

อัลแบร์ท โฮฟมัน (เยอรมัน: Albert Hofmann; 11 มกราคม พ.ศ. 2449 – 29 เมษายน พ.ศ. 2551) เป็นนักเคมีคนสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งแอลเอสดี" เกิดที่เมืองบาเดินในสวิตเซอร์แลนด์ จบการศึกษาด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยซือริช ขณะเรียนมีความสนใจเคมีที่เกี่ยวกับพืชและสัตว์ ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การค้นคว้าวิจัยงานสำคัญในโครงสร้างของสารที่มีอยู่ทั่วไปในสัตว์ คือ "ไคทิน" (สารหลักในเปลือกกุ้ง ปู และสัตว์ที่คล้ายกัน) ซึ่งเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของโฮฟมัน

อัลแบร์ท โฮฟมัน ได้เข้าทำงานในแผนกเภสัช-เคมีในสถานีทดลองของบริษัทแซนดอส (ปัจจุบันคือบริษัทโนวาร์ติส) เมืองบาเซิล โดยทำการวิจัยพืชหัวที่ใช้ทำยา และเออร์กอตของพวกเห็ดรา เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสังเคราะห์และทำความบริสุทธิ์ให้กับตัวยาสำคัญที่จะนำมาใช้ทางเภสัชกรรม

อัลแบร์ท โฮฟมันเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มในปี พ.ศ. 2551 ขณะมีอายุได้ 102 ปี[1]

ชีวิตการทำงาน[แก้]

งานค้นคว้าเกี่ยวกับกรดไลเซอร์จิกของโฮฟมันนำไปสู่การสังเคราะห์แอลเอสดี – 25 เมื่อ พ.ศ. 2481 ซึ่งในอีกห้าปีต่อมาหลังจากถูกลืม โฮฟมันก็ได้กลับมาค้นพบผลโดยความบังเอิญว่าสารแอลเอสดีเป็นตัวก่ออาการโรคจิต โดยโฮฟมันรับรู้ผลของอาการได้หลังจากการซึมของสารเข้าสู่ร่างกายของเขาทางปลายนิ้ว เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2486 อีก 3 วันต่อมาในวันที่ 19 เมษายน (ต่อมาเรียกวันนี้กันว่า "วันจักรยาน" หลังจากที่โฮฟมันขี่จักรยานกลับบ้านภายใต้อิทธิพลของแอลเอสดี) โฮฟมันจงใจเสพสารนี้เป็นจำนวน 250 ไมโครกรัมและได้ประสบกับอิทธิพลของสารในระดับที่เข้มขึ้น หลังจากได้ทดลองกับตนเองอีกหลายครั้ง โฮฟมันจึงได้เขียนรายงานผลการทดลองนี้เมื่อวันที่ 22 เมษายน ปีเดียวกัน

โฮฟมันได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการแผนกผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของบริษัทแซนดอสและได้ทำการทดลองสารหลอนประสาทที่พบในเห็ดเม็กซิกันและพืชชนิดอื่นที่ชนพื้นเมืองใช้เสพ ทำให้นำไปสู่การสังเคราะห์ไซโลไซบิน (psilocybin) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของ "เห็ดวิเศษ" ดังกล่าว

นอกจากนี้ โฮฟมันยังสนใจในเมล็ดของต้นคริสต์มาสไวน์ (Turbina corymbosa) ซึ่งได้พบอย่างน่าแปลกใจว่าสารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของมล็ดพืชชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับแอลเอสดีเป็นอย่างมาก

ในปี พ.ศ. 2505 โฮฟมันและภริยาได้เดินทางไปเยือนเม็กซิโกตอนใต้เพื่อเสาะหาต้นไม้ชื่อ "เซจออฟเดอะดิไวเนอส์" (Salvia divinorum) แม้จะขออนุญาตนำกลับประเทศได้ แต่โฮฟมันก็ไม่สามารถแยกและบ่งชี้องค์ประกอบหลักทางเคมีที่สำคัญของพืชชนิดนี้ได้

โฮฟมันเรียกแอลเอสดีว่า "ยาแห่งจิตวิญญาณ" และหงุดหงิดจากการที่ประชาคมโลกพากันถือว่าสารนี้เป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้สารนี้หายไปจากบนดินกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โฮฟมันกล่าวว่า "สารนี้ได้ถูกใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางจิตอย่างระมัดระวังมานานถึง 10 ปี" ก่อนที่จะถูกกลุ่มเยาวชนยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 มายึดไปใช้ในทางที่ผิด ทำให้สารนี้กลายเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ถูกต่อต้าน แต่อย่างไรก็ดี โฮฟมันยอมรับว่าหากสารนี้ตกอยู่ในมือของคนไม่ดีก็มีอันตรายมากได้

โฮฟมันได้เขียนบทความทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 100 บทความและหนังสืออีกหลายเล่มรวมทั้ง แอลเอสดี ลูกเจ้าปัญหาของข้าพเจ้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอัตชีวประวัติและการบรรยายถึงการขี่จักรยานที่โด่งดังของตน

ในโอกาสครบอายุ 100 ปีเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2549 โฮฟมันกลับมาเป็นจุดเด่นของ การประชุมเอกสารัตถ์นานาชาติว่าด้วยแอลเอสดี เนื่องในวาระครบอายุ 100 ปีของอัลแบร์ท โฮฟมัน ในเมืองบาเซิลที่ทำให้สื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจในการค้นพบแอลเอสดีของเขาอีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง[แก้]

  1. Craig S Smith (30 April 2008). "Albert Hofmann, the Father of LSD, Dies at 102". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2 May 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]