ข้ามไปเนื้อหา

อาหารอัลคาไลน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อัลคาไลน์ ไดเอต)
Leafy green, allium, and cruciferous vegetables are key parts of alkaline diet.

อัลคาไลน์ ไดเอต (หรือ อาหารที่มีสภาวะเป็นด่าง) เป็นการอธิบายถึงกลุ่มของอาหารที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า อาหารแต่ละประเภทสามารถส่งผลกระทบต่อ ความเป็นกรด และ ค่า pH ของของเหลวในร่างกาย ซึ่งรวมถึง ปัสสาวะ และ เลือด และสามาถนำไปใช้เพื่อรักษาและป้องกันโรค แต่เนื่องจากยังขาดการศึกษาที่สนับสนุนผลดีของอาหารประเภทนี้ ดังนั้นจึงเป็นที่ไม่แนะนำโดยนักโภชนาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ[1] มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและ สภาวะสมดุลกรดด่าง หรือ การควบคุมภาวะความเป็นกรด – ด่างของร่างกาย มากว่าทศวรรษ การประยุกต์ใช้ทฤษฎีนี้ในทางการแพทย์จะมุ่งเน้นกับการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของปัสสาวะ โดยหลักแล้วอาหารประเภทนี้สนับสนุนให้หลีกเลี่ยงการบริโภค เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ชีส และ ธัญพืช เพื่อที่จะทำให้ปัสสาวะมีความเป็นด่างมากขึ้น (มีค่า pH ที่สูงขึ้น) และเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมของปัสสาวะเพื่อที่จะป้องกันการเกิด โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (UTIs) และ โรคนิ่วไต (Nephrolithiasis) อย่างไรก็ตาม ความยากในการคาดหมายผลของการบริโภคอาหารประเภทนี้ จึงทำให้ การรักษาด้วยยา เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากกว่าในการปรับค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะมากกว่าที่จะเป็นการปรับเปลี่ยนอาหาร การบริโภคอาหารที่มีสภาวะเป็นกรดถูกพิจารณาโดยผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์จำนวนมาก ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของ โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) แม้ว่าในช่วงระยะเวลาไม่นานมานี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่สนับสนุนสมมุติฐานนี้ แผนการบริโภค “อาหารที่มีสภาวะเป็นด่าง (alkaline diet)” ยังได้ถูกใช้โดย การแพทย์ทางเลือก โดยแนะนำว่าอาหารประเภทดังกล่าวจะสามารถรักษาหรือป้องกัน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ภาวะระดับพลังงานต่ำ (low energy levels) รวมทั้งโรคอื่น ๆ ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์มาสนับสนุน และทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผลของการบริโภคอาหารที่มีสภาวะเป็นด่าง ซึ่งขัดแย้งกับความเข้าใจใน สรีรวิทยา ของมนุษย์

มุมมองทางการแพทย์

[แก้]

องค์ประกอบของโภชนาการ

[แก้]

ตามทฤษฎีพื้นฐานของการแยกประเภทอาหารนี้ กรดจะถูกสร้างขึ้นโดยการบริโภคอาหารประเภทเนื้อแดง เนื้อไก่ ชีส เนื้อปลา ไข่ และธัญพืช ส่วนด่างจะถูกสร้างโดยการบริโภคอาหารประเภทผักและผลไม้ ยกเว้น แครนเบอร์รี่ พรุน และ ลูกพลัม อาหารประเภทผลไม้ตระกูลส้มที่โดยทั่วไปจะถูกพิจารณาว่าเป็นอาหารที่เป็นกรดถูกพิจารณาว่าเป็นอาหารที่ทำให้เกิดด่างในโภชนาการนี้[2]เนื่องจากการแยกประเภทว่าอาหารชนิดใดที่สร้างกรดหรือด่างเกิดจากการพิจารณาส่วนที่เหลือ (residue) ภายหลังจากการการออกซิไดซ์ (เผาไหม้ - Combustion) มากกว่าที่จะเป็นการวัดความเป็นกรดของอาหาร

สมมติฐานในปัจจุบัน

[แก้]

อาหารที่มีส่วนประกอบที่มีสภาวะเป็นกรด (สร้างกรด) จะทำให้ร่างกายพยายามที่จะ ลดความเป็นกรด (buffer) กรดอื่น ๆ ที่อยู่ในร่างกายด้วย การกร่อนกระดูก ซึ่งทำให้กระดูกเปราะและทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิด โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ในทางตรงข้าม อาหารที่มีส่วนประกอบที่มีสภาวะเป็นด่าง (สร้างด่าง) จะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน ทฤษฎีนี้ได้รับการสนับสนุนในบทความของ สมาคมโภชนาการอเมริกัน[2] (American Dietetic Association) โดยตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา[3] (U.S. National Academy of Science; NAS) เช่นเดียวกับในวารสารวิทยาศาสตร์อื่น ๆ[4] ซึ่งได้ชี้บ่งว่า อาหารที่มีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสูง เช่น ผักและผลไม้ อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนด้วยการเพิ่มการสร้างสภาวะด่าง อย่างไรก็ตาม การยอมรับสมมุติฐานความเป็นกรด-ด่างว่าเป็นตัวแปรสำคัญของความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนโดยวารสารเหล่านี้ ไม่ได้มีการตรวจสอบโดยการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ (Systematic reviews) ที่มีคุณภาพสูง[5] ผลการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ได้วิเคราะห์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และพบว่าไม่มีหลักฐานที่สำคัญที่สนับสนุนสมมุติฐานของการบริโภคอาหารที่มีสภาวะเป็นกรด เกี่ยวกับการป้องกันโรคกระดูกพรุน ผลการศึกษาด้วยวิธีการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) เกี่ยวกับผลของปริมาณฟอสเฟต (Phosphate) ที่บริโภคขัดแย้งกับสมมุติฐานของการบริโภคอาหารที่มีสภาวะเป็นกรดที่เกี่ยวข้องกับแคลเซี่ยมในปัสสาวะและการสลายของกระดูก ผลการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการบริโภคอาหารประเภทนี้ (Alkaline diet) เพื่อป้องกันการสูญเสียแคลเซี่ยมจากกระดูกนั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้[5] ผลการศึกษาอื่น ๆ ที่วิจัยด้วยวิธี Meta-analysis ที่ได้ศึกษาผลของปริมาณการบริโภคอาหารที่เป็นกรดก็ไม่พบหลักฐานที่ชี้บ่งว่าการบริโภคอาหารที่เป็นกรดเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างเช่นที่คาดเดาตามสมมุติฐานของการบริโภคอาหารที่มีสภาวะเป็นกรด[4][6] การพิสูจน์ชิ้นหนึ่งพิจารณาผลของการบริโภค ผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งตามสมมุติฐานแล้วเป็นอาหารที่เพิ่มความเป็นกรดในร่างกายจากองค์ประกอบที่เป็นฟอสเฟตและโปรตีน แต่การพิสูจน์นี้ไม่พบหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์จากนมที่บริโภคเข้าไปทำให้เกิดภาวะกรดเกิน (Acidosis) หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน[7]

นอกจากนี้ยังมีการคาดเดาว่าการจำกัดการบริโภคอาหารนี้อาจส่งผลเกี่ยวกับ ภาวะกล้ามเนื้อลีบ การสร้างโกรทฮอร์โมน (growth hormone metabolism) หรือ อาการปวดหลัง แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่ยืนยันสมมุติฐานดังกล่าว[8][9][10] ก็ตาม และเนื่องจากการมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก การบริโภคอาหารที่มีสภาวะเป็นด่างเพื่อผลทางสุขภาพจึงอาจได้รับความสนใจ แม้ว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้อยู่น้อยมากก็ตาม[10]

การแพทย์ทางเลือก

[แก้]

การแพทย์ทางเลือกซึ่งสนับสนุนโภชนาการอาหารที่มีสภาวะเป็นด่าง (alkaline diet) ได้ใช้หลักการควบคุมอาหารนี้ในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึง โรคมะเร็ง[11] ข้อกล่าวอ้างนี้ได้ถูกเสนอแนะใน เว็บไซต์ นิตยสาร จดหมาย และ หนังสือ ซึ่งมีต่อบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ[4] ขณะที่หลักการควบคุมอาหารประเภทนี้ได้ถูกเสนอแนะว่าสามารถเพิ่มพลังงาน ลดน้ำหนัก รักษาโรคมะเร็งและ โรคหัวใจ อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานที่สามารถสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว[12] การควบคุมการบริโภคอาหารประเภทนี้ นอกเหนือจากการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และโปรตีน ยังรวมถึงการหลีกเลี่ยงการทานอาหารแปรรูป น้ำตาลทรายขาว แป้งขาว และคาเฟอีน[9] และการออกกำลังกายเฉพาะอย่าง และ แผน การทานอาหารเสริมด้วย[13]

หลักฐานเชิงประจักษ์

[แก้]

ผู้ที่สนับสนุนการบริโภคโภชนาการอาหารที่มีสภาวะเป็นด่างเสนอว่าเนื่องจากค่า pH ปกติของร่างกายจะเป็นด่างอ่อน ๆ เป้าหมายของบริโภคอาหารประเภทนี้จึงสะท้อนผลดังกล่าวด้วยการบริโภคอาหารที่ผลิตด่าง ผู้สนับสนุนเหล่านี้กล่าวอ้างว่าการบริโภคอาหารมีองค์ประกอบที่ผลิตกรดสูงซึ่งทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรดจะทำให้เกิดโรค[9][12] กลไกที่กล่าวอ้างว่าอาหารสามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของเลือดอย่างมีนัยสำคัญ ขัดแย้งกับ “ทุกสิ่งที่ทราบเกี่ยวกับสารเคมีของร่างกายมนุษย์” และถูกเรียกว่า “นิทานปรัมปรา” ในคำแถลงโดย สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Institute of Cancer Research)[14] การบริโภคอาหารที่มีสภาวะเป็นด่างไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของระดับค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือดหรือแม้แต่ผลทางคลินิก (ซึ่งแตกต่างไปจากระดับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH levels) ในปัสสาวะอันมีผลเนื่องจากการบริโภคอาหารประเภทดังกล่าว) ทั้งนี้เนื่องจากกลไกทางธรรมชาติของร่างกายไม่ได้ต้องการอาหารที่พิเศษ การบริโภคอาหารที่มีสภาวะเป็นด่างจึงมีผลเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือดเพียงเล็กน้อยและชั่วคราว.[1][9][12][14] ข้อกล่าวอ้างโดยผู้ที่สนับสนุนโภชนาการประเภทนี้ยังกล่าวว่าเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตในสภาวะแวดล้อมที่เป็นกรดซึ่งการบริโภคอาหารที่มีความเป็นด่างอย่างเหมาะสมจะสามารถเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของร่างกายเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ข้อกล่าวอ้างนี้มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าในขณะที่เนื้อเยื่อมะเร็งแพร่ขยายในสภาวะแวดล้อมที่เป็นกรด เนื้อเยื่อมะเร็งเองก็สร้างสภาวะความเป็นกรด กล่าวคือการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเซลล์มะเร็งสามารถสร้างสภาวะแวดล้อมที่เป็นกรด สภาวะแวดล้อมที่เป็นกรดไม่ได้ก็ให้เกิดมะเร็ง[11]ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวยังไม่ยอมรับว่าไม่มีความเป็นไปได้ที่จะลดสภาวะที่มีความเป็นกรดให้น้อยลงในร่างกาย[14] แผนการควบคุมและจำกัดการบริโภคอาหารอย่างสุดโต่ง เช่นการควบคุมอาหารประเภทนี้ (alkaline diet) ยังมีความเสี่ยงต่อคนไข้โรคมะเร็ง [11] มากกว่าข้อดี ข้อดีอื่น ๆ จากการบริโภคอาหารที่มีความเป็นด่างที่ถูกกล่าวอ้างขึ้นก็ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เช่นกัน แม้ว่าว่าการจำกัดการบริโภคอาหารประเภทนี้จะถูกกล่าวอ้างสามารถเพิ่ม “พลังงาน” หรือ รักษาโรคหลอดเลือด แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนข้อกล่าวอ้างนี้[12]เช่นกัน แบบหนึ่งของการควบคุมอาหารนี้ถูกนำเสนอโดย โรเบิร์ต โอ ยัง ว่าเป็นวิธีการลดน้ำหนักในหนังสือมหัศจรรย์ pH (The pH Miracle) สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งสหรัฐอเมริกา (Academy of Nutrition and Dietetics หรือ AND) ให้ความเห็นว่าการกำหนดสัดส่วนของอาหารของโรเบิร์ต โอ ยังที่เน้นหนักไปทางการบริโภคผักใบเขียวและการออกกำลังกายย่อมส่งเสริมความมีสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ตาม “ทฤษฎีที่คลุมเครือ” ซึ่งเป็นฐานของการกำหนดอาหารของเขาและแผนการอดอาหารที่ซับซ้อนและ การทานอาหารเสริม ทำให้เห็นว่าการควบคุมอาหารแบบนี้ไม่ใช่วิธีการลดน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ[13] นอกจากนี้ยังมีการกล่าวอ้างอีกว่ากรดทำให้เกิด โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (rheumatoid arthritis) และโรคข้อกระดูกอักเสบ (osteoarthritis) ดังนั้นการทานอาหารที่มีสภาวะเป็นด่างสามารถใช้เพื่อรักษาอาการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนการกล่าวอ้างดังกล่าว[15] การตรวจความเป็นกรดของปัสสาวะและน้ำลายถูกเสนอให้นำมาใช้เป็นวิธีหนึ่งในการวัดระดับความเป็นกรดของร่างกายและระดับความเสี่ยงในการเกิดโรค[4] อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างการวัดระดับค่า pH ของปัสสาวะโดย”ชุดตรวจ” ที่บ้าน และความเป็นกรดของร่างกาย[14]

ผลที่ไม่พึงประสงค์

[แก้]

เนื่องจากการบริโภคอาหารที่มีสภาวะเป็นด่างจำกัดการบริโภคอาหารบางชนิด จึงส่งผลให้ขาดความสมดุลของโภชนาการทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารเช่น กรดไขมันที่จำเป็น และ สารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients)[1] เว็บไซต์และหนังสือจำนวนมากที่สนับสนุนโภชนาการประเภทนี้ขายชุดอาหารและอาหารเสริม ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้แต่อย่างใด ผู้ปฏิบัติตามแผนการควบคุมอาหารต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการจำกัดอาหารประเภทนี้เนื่องจากมีอาหารหลายประเภทที่ถูกจำกัด[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Vangsness, Stephanie (16 January 2013). "Alkaline Diets and Cancer: Fact or Fiction?". Intelihealth. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-27. สืบค้นเมื่อ 5 February 2014.
  2. 2.0 2.1 Cunningham E (October 2009). "What impact does pH have on food and nutrition?". J Am Diet Assoc. 109 (10): 1816. doi:10.1016/j.jada.2009.08.028. PMID 19782182.
  3. Food and Nutrition Board. Dietary Reference Intakes for Water, Potassium, Sodium, Chloride, and Sulfate (2005), page 189. National Academies Press.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Fenton TR, Tough SC, Lyon AW, Eliasziw M, Hanley DA (2011). "Causal assessment of dietary acid load and bone disease: a systematic review & meta-analysis applying Hill's epidemiologic criteria for causality". Nutr J. 10: 41. doi:10.1186/1475-2891-10-41. PMC 3114717. PMID 21529374.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 Fenton TR, Lyon AW, Eliasziw M, Tough SC, Hanley DA (2009). "Phosphate decreases urine calcium and increases calcium balance: a meta-analysis of the osteoporosis acid-ash diet hypothesis". Nutr J. 8: 41. doi:10.1186/1475-2891-8-41. PMC 2761938. PMID 19754972.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  6. Fenton TR, Lyon AW, Eliasziw M, Tough SC, Hanley DA (November 2009). "Meta-analysis of the effect of the acid-ash hypothesis of osteoporosis on calcium balance". J. Bone Miner. Res. 24 (11): 1835–40. doi:10.1359/jbmr.090515. PMID 19419322.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  7. Fenton TR, Lyon AW (October 2011). "Milk and acid-base balance: proposed hypothesis versus scientific evidence". J Am Coll Nutr. 30 (5 Suppl 1): 471S–5S. PMID 22081694.
  8. Pizzorno J, Frassetto LA, Katzinger J (April 2010). "Diet-induced acidosis: is it real and clinically relevant?". Br. J. Nutr. 103 (8): 1185–94. doi:10.1017/S0007114509993047. PMID 20003625.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 "Alkaline Diets". WebMD. สืบค้นเมื่อ 5 February 2014.
  10. 10.0 10.1 Schwalfenberg GK (2012). "The alkaline diet: is there evidence that an alkaline pH diet benefits health?". J Environ Public Health (Review). 2012: 727630. doi:10.1155/2012/727630. PMC 3195546. PMID 22013455.
  11. 11.0 11.1 11.2 Cassileth, Carrie R. (2008). Principles and Practice of Gastrointestinal Oncology. Philadelphia, PA: Lippincott Williams & Wilkins. p. 137. ISBN 0-7817-7617-1.
  12. 12.0 12.1 12.2 "An alkaline diet and cancer". Canadian Cancer Society. สืบค้นเมื่อ 10 August 2012.[ลิงก์เสีย]
  13. 13.0 13.1 "The pH Miracle for Weight Loss Book Review". Academy of Nutrition and Dietetics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-06. สืบค้นเมื่อ 10 August 2012.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 "Cancer and Acid-Base Balance: Busting the Myth". American Institute for Cancer Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-22. สืบค้นเมื่อ 10 August 2012.
  15. Skarnulis, Leanna. "Arthritis diets and supplements: Do they work?". สืบค้นเมื่อ 10 August 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]