ข้ามไปเนื้อหา

อัมเพิลเม็นเชิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัมเพิลเม็นเชินตัวสีเขียวและแดง (ซ้ายและขวา ตามลำดับ)

อัมเพิลเม็นเชิน (เยอรมัน: Ampelmännchen, ออกเสียง: [ˈampl̩ˌmɛnçən] ( ฟังเสียง), แปลตรงตัว: "มนุษย์ไฟจราจรตัวน้อย"; รูปบอกความเล็กของคำ Ampelmann, [ampl̩ˈman]) เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนไฟจราจรสำหรับคนข้ามในประเทศเยอรมนี อัมเพิลเม็นเชินเป็นสัญลักษณ์อันเป็นที่รักอย่างหนึ่งในอดีตเยอรมนีตะวันออก[1] และนับตั้งแต่การรวมเยอรมนี สัญลักษณ์นี้ได้เข้าไปอยู่ในใจของผู้คนและกลายเป็นของที่ระลึกยอดนิยมในธุรกิจการท่องเที่ยว[1]

แนวคิดและการออกแบบ

[แก้]
คาร์ล เพกลา แรกเริ่มเสนอระบบสัญญาณไฟจราจรสำหรับรถในรูปแบบทางซ้าย

นับตั้งแต่ระบบสัญญาณไฟจราจรข้ามเริ่มแพร่หลายในทศวรรษ 1950 แต่ละรัฐได้มีการออกแบบระบบของตนเองก่อนที่จะมีการกำหนดมาตรฐานร่วมในภายหลัง[2] ในเวลานั้น จักรยานและคนเดินถนนใช้สัญญาณไฟจราจรแบบเดียวกับสำหรับรถ[3] ในเบอร์ลินตะวันออก คาร์ล เพเกลา (1927–2009) นักจิตวิทยาจราจร ได้สร้างอัมเพิลเม็นเชินขึ้นมาในปี 1961 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งสำหรับเสนอรูปแบบระบบไฟจราจรใหม่ เพเกลาวิจารณ์ว่าระบบไฟจราจรที่มีอยู่อยู่ (แดง เหลือง เขียว) ใช้งานไม่ได้สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไม่สามารถแยกความต่างของสีได้ ซึ่งคิดเป็นราว 10% ของประชากร นอกจากนี้ ไฟจราจรยังมีขนาดเล็กและความสว่างไม่อาจสู้กับแสงไฟโฆษณาและแสงอาทิตย์ได้ เพเกลาจึงเสนอให้คงสีทั้งสามไว้ ในขณะเดียวกันก็นำเสนอรูปร่างสำหรับแต่ละสีที่สามารถเข้าใจได้โดยสัญชาตญาณ แนวคิดของเขาได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน แต่ก็ถูกยกเลิกไปหลังมีการประเมินแล้วว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนไฟจราจรที่มีอยู่มีราคาสูงมาก[4]

สำหรับการจราจรทางเท้า ไม่มีข้อจำกัดทางกายหรืออายุเหมือนการจราจรทางรถ ดังนั้นไฟจราจรสำหรับผู้เดินเท้าควรจะเข้าถึงและใช้งานได้โดยทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการด้วย เพเกลาจึงนำเอาแผนการเดิมของตนกลับมาเสนอใหม่ โดยสัญลักษณ์ตัวคนสีแดงกางแขนออกสองข้าง หันหน้าเข้าหาผู้ชม มีความเกี่ยวเนื่องกันกับไม้กั้น แทนสัญญาณ "หยุด" ในขณะที่สัญลักษณ์ตัวคนสีเขียวหันข้าง ก้าวขาสองข้างกว้างออกจากกัน มีความสัมพันธ์กันกับลูกศรที่มีพลวัต แทนสัญญาณ "ไปต่อได้" สำหรับไฟเหลืองในสัญญาณจราจร เขาไม่ได้นำมาออกแบบด้วยเนื่องจากธรรมชาติของการจราจรทางเท้าที่ไม่มีความเร่งรีบ[4]

เพกลาได้ให้อันเนอลีเซอ เวกเนอร์ เลขานุการของตน วาดรูปตัวอัมเพิลเม็นเชินขึ้นตามคำเสนอของเขา ท้ายที่สุดมีการนำแบบที่ดู "ทะเล้น" และ "ร่าเริง" และสวมหมวกแบบ "กระฎุมพีตัวน้อย" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพของเอริช ฮ็อนเน็คเคอร์ สวมหมวกฟาง[5] ไปเสนอและสร้างเป็นต้นแบบแรกที่เฟาเอเบ-ล็อยช์เทินเบาในเบอร์ลิน[4] และในวันที่ 13 ตุลาคม 1961 อัมเพิลเม็นเชินได้รับการนำเสนออย่างเป็นทางการ แม้ในเวลานั้นสื่อและสาธารณชนจะพุ่งเป้าความสนใจไปที่ระบบไฟจราจรใหม่สำหรับคนเดินเท้า ไม่ใช่ที่ตัวสัญลักษณ์[4]

หลายทศวรรษต่อมา ดานีเอล ม็อยเริน จาก แดร์ชปีเกิล นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ภาษาเยอรมัน บรรยายอัมเพิลเม็นเชินว่าเป็นการรวมกันระหว่าง "ความสวยงามกับความมีประสิทธิภาพ ความมีเสน่ห์กับการใช้งานได้ [และ] ความมีไมตรีกับการบรรลุหน้าที่"[6] บ้างมองอัมเพิลเม็นเชินแล้วนึกถึงตัวละครคล้ายเด็กเนื่องด้วยหัวที่โตและขาที่สั้น บ้างนึกถึงผู้นำในศาสนาบางคน[7]

อัมเพิลเม็นเชินได้รับความนิยมมาก ดังที่สังเกตได้จากในต้นทศวรรษ 1980 ผู้ปกครองและคุณครูได้รวมกันเสนอให้สัญลักษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการให้การศึกษาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับเด็ก[4] กระทรวงมหาดไทยเยอรมนีตะวันออกมีแนวคิดที่จะนำเอาตัวละครคนข้ามทั้งสองมาทำให้มีชีวิตและใช้งานเป็น "ผู้แนะนำ" อัมเพิลเม็นเชินได้รับการนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ และได้รับการตอบรับสูง ปรากฏในการ์ตูนช่องแม้ในสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับไฟจราจร อัมเพิลเม็นเชินตัวแดงมักเป็นตัวที่ไปปรากฏในสถานการณ์อันตราย และอัมเพิลเม็นเชินตัวเขียวเป็นคนคอยแนะนำ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเกมเกี่ยวกับอัมเพิลเม็นเชินโดยความร่วมมือกับยุงเงอ เว็ลท์ และมีการสร้างเรื่องราวอัมเพิลเม็นเชินมานำเสนอทางวิทยุ[8] เรื่องอัมเพิลเม็นเชินที่เป็นภาพเคลื่อนไหวบางส่วนภายใต้ชื่อ ชตีเฟิลเชินอุนท์ค็อมพัสคัลเลอ ได้รับการถ่ายทอดเดือนละครั้งในฐานะส่วนหนึ่งของรายการโทรทัศน์ก่อนนอนสำหรับเด็กในเยอรมนีตะวันออก ซันท์เม็นเชิน รายการนี้มีจำนวนผู้ชมมากที่สุดรายการหนึ่งนเยอรมนีตะวันออก[9] เทศกาลในเช็กเกียให้รางวัลภาพยนตร์ว่าด้วยการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน ได้ให้รางวัลแก่ ชตีเฟิลเชินอุนท์ค็อมพัสคัลเลอ ในสาขารางวัลพิเศษโดยคณะกรรมการ และรางวัลหลักสำหรับความสำเร็จในภาพรวมในปี 1984[9]

หลังการรวมชาติ

[แก้]
ในเบอร์ลิน

หลังการรวมชาติเยอรมนีในปี 1990 ได้มีความพยายามสร้างมาตรฐานไฟจราจรใหม่ให้เป็นตามมาตรฐานของเยอรมนีตะวันตก ป้ายถนนและป้ายจราจรในเยอรมนีตะวันออกถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยแบบตะวันตกเนื่องด้วยแบบอักษรที่ต่างกัน[10] รายการให้ความรู้ที่ใช้อัมเพิลเม็นเชินหายไป นำไปสู่การเรียกร้องให้อนุรักษ์อัมเพิลเม็นเชินในฐานะวัฒนธรรมของเยอรมนีตะวันออก[1][11]

มาร์คุส เฮ็คเฮาเซิน นักออกแบบกราฟิกจากทือบิงเงินในเยอรมนีตะวันตก และผู้ก่อตั้งบริษัท อัมเพิลมัน จำกัด ในเบอร์ลิน[1] ได้สังเกตเห็นอัมเพิลเม็นเชินครั้งแรกเมื่อเดินทางไปเยอรมนีตะวันออกในทศวรรษ 1980 ระหว่างที่เขามองหาโอกาสในการออกแบบใหม่ ๆ ในปี 1995 เขาได้มีแนวคิดในการเก็บรวบรวมอัมเพิลเม็นเชินที่ถูกรื้อถอนและสร้างไฟใหม่ขึ้นมา แต่เขาพบอุปสรรคในการตามหาอัมเพิลเม็นเชินแบบดั้งเดิม กระทั่งได้ติดต่อกับเฟาเอเบ ซิกนาลเท็ชนิค (ปัจจุบันคือบริษัท ซิกนาลเท็ชนิคโรสแบร์ค จำกัด) เพื่อหาสต็อกคงเหลือ บริษัทนี้ยังคงผลิตอัมเพิลเม็นเชินและชื่นชอบแนวคิดการตลาดของมาร์คุส แบบจำลองไฟจราจรอัมเพิลเม็นเชินหกชิ้นแรกของมาร์คุสเป็นที่ชื่นชอบของสาธารณชน ทั้งในหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ไปจนถึงนิตยสารการออกแบบ ละครโทรทัศน์ กูเทอไซเทิน ชเล็ชเทอไซเทิน ยังใช้อัมเพิลเม็นเชินในฉากร้านกาแฟของเรื่อง[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "East German Loses Copyright Battle over Beloved Traffic Symbol". Deutsche Welle. 17 June 2006. สืบค้นเมื่อ 6 December 2008.
  2. Heckhausen, Markus (1997). "Die Entstehung der Lichtzeichenanlage". Das Buch vom Ampelmännchen. pp. 15–17.
  3. Jacobs, Stefan (26 April 2005). "Ein Männchen sieht rot". Der Tagesspiegel (ภาษาเยอรมัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 February 2009. สืบค้นเมื่อ 6 February 2009.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Peglau, Karl (1997). "Das Ampelmännchen oder: Kleine östliche Verkehrsgeschichte". Das Buch vom Ampelmännchen. pp. 20–27.
  5. "East Germany's iconic traffic man turns 50". The Local. 13 October 2013. สืบค้นเมื่อ 18 May 2014.
  6. Meuren, Daniel (26 September 2001). "Die rot-grüne Koalition". Der Spiegel (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 6 February 2009. Das 40 Jahre alte Ampelmännchen sozialistischer Prägung verbindet Schönheit mit Effizienz, Charme mit Zweckmäßigkeit, Gemütlichkeit mit Pflichterfüllung.
  7. 7.0 7.1 Heckhausen, Markus. "Ampelmännchen im zweiten Frühling". nnchen in Rostock. pp. 52–57.
  8. Vierjahn, Margarethe (1997). "Verkehrserziehung für Kinder". Das Buch vom Ampelmännchen (ภาษาเยอรมัน). pp. 28–30.
  9. 9.0 9.1 Rochow, Friedrich (1997). "Stiefelchen und Kompaßkalle". Das Buch vom Ampelmännchen. pp. 32–41.
  10. Gillen, Eckhart (1997). Das Buch vom Ampelmännchen. p. 48.
  11. "Ampelmännchen is Still Going Places". Deutsche Welle. 16 June 2005. สืบค้นเมื่อ 6 December 2008.