ข้ามไปเนื้อหา

อัตราส่วนครูต่อนักเรียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อัตราส่วนครูต่อนักเรียนเป็นจำนวนของนักเรียนที่เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยหารด้วยจำนวนครูในสถาบันการศึกษานั้น ๆ เช่นอัตราส่วน 1:10 ชี้ให้เห็นว่าครูทุก ๆ หนึ่งคนมีนักเรียนในความดูแล 10 คน ศัพท์คำนี้อาจใช้ว่าอัตราส่วนนักเรียนต่อครูก็ได้ อัตราส่วนดังกล่าวถูกใช้ในการกำหนดขนาดห้องเรียน อย่างไรก็ตามมีปัจจัยจำนวนมากที่ทำให้ขนาดชั้นเรียนแตกต่างกันไป โดยไม่ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนครูต่อนักเรียน และในทางกลับกันอัตราส่วนครูต่อนักเรียนอาจไม่ได้ถูกกำหนดโดยขนาดห้องเรียนเช่นกัน[1] โดยทั่วไปแล้ว อัตราส่วนครูต่อนักเรียนมักต่ำกว่าขนาดโดยเฉลี่ยของห้องเรียน[2]

อัตราส่วนครูต่อนักเรียนมีความแตกต่างกันมากในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว[3] ในระดับประถมศึกษา อัตราส่วนนักเรียนต่อครูโดยเฉลี่ยของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 16 แต่พิสัยเริ่มจาก 40 ในบราซิล 28 ในเม็กซิโก จนถึง 11 ในฮังการีและลักเซมเบิร์ก[3]

ความสัมพันธ์กับขนาดห้องเรียน

[แก้]

ตัวแปรที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของอัตราส่วนครูต่อนักเรียนและขนาดห้องเรียนได้แก่ จำนวนครูที่ไม่มีหน้าที่สอน จำนวนชั้นเรียนต่อครูและจำนวนครูต่อชั้นเรียน นอกจากนี้ถ้ามีชั้นเรียนสำหรับนักเรียนกลุ่มเล็ก เช่น ห้องเรียนของผู้เรียนการศึกษาพิเศษหรือภาษาที่สอง อัตราส่วนครูต่อนักเรียนในสถานศึกษานั้นอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าต่ำ ทั้งที่ผู้เรียนคนอื่นโดยทั่วไปไม่ได้มีประสบการณ์ของการเรียนที่มีอัตราส่วนครูต่อนักเรียนต่ำแบบนั้น[4] ยกตัวอย่างเช่น ทั้งปาเลสไตน์และสหรัฐมีอัตราส่วนครูต่อนักเรียนโดยเฉลี่ยเท่ากับ 15 แต่ขนาดห้องเรียนทั้งสองประเทศต่างกัน โดยในสหรัฐขนาดห้องเรียนเท่ากับ 21 คน ส่วนปาเลสไตน์เท่ากับ 27 คน[3]

ภูมิหลัง

[แก้]

อัตราส่วนครูต่อนักเรียนที่ต่ำมักเป็นจุดขายต่อผู้เรียนที่กำลังเลือกสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ในทางกลับกันอัตราส่วนครูต่อนักเรียนที่สูงมักถูกอ้างถึงในการวิจารณ์โรงเรียนที่ขาดแคลนงบประมาณ หรือใช้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือเพิ่มงบประมาณสำหรับการจัดการศึกษา

บางรัฐในสหรัฐมีการตรากฎหมายกำหนดอัตราสูงสุดของครูต่อนักเรียนในระดับชั้นเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอนุบาล เมื่อมีการกำหนดตัวเลขสำหรับโรงเรียนขึ้น ตัวเลขดังกล่าวจะแทนถึงค่าเฉลี่ย (มัชฌิม) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเบ้เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น หากห้องเรียนที่หนึ่งมีอัตราส่วนครูต่อนักเรียน 1:30 ส่วนอีกห้องมีอัตราส่วนครูต่อนักเรียนเท่ากับ 1:10 ดังนั้นอัตราส่วนครูต่อนักเรียนของโรงเรียนนี้จึงเท่ากับ 1:20 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ตรงไปตรงมาของตัวเลขได้ นอกจากนี้ในระดับโรงเรียนใช้อัตราส่วนดังกล่าวในการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้สอนในโรงเรียน หากในโรงเรียนใดมีอัตราส่วนครูต่อนักเรียนเท่ากับ 1:50 แสดงว่าโรงเรียนนั้นควรเพิ่มจำนวนครูในโรงเรียน ในทางกลับกันหากอัตราส่วนต่ำ โรงเรียนอาจรวมห้องเรียนหรือปลดครูออกได้ และในกรณีที่อัตราส่วนต่ำที่สุด โรงเรียนอาจปิดตัวลงได้

ห้องเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากอาจส่งผลเสียต่อการศึกษา เนื่องจากการมีนักเรียนจำนวนมากย่อมหมายถึงนักเรียนที่หลากหลายมากและมีศักยภาพในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน อันนำไปสู่การที่ผู้สอนต้องใช้เวลากับนักเรียนที่มีความสามารถทางวิชาการต่ำให้ซึมซับข้อมูล ทั้งที่สามารถนำเวลาไปใช้ในการเรียนเนื้อหาเพิ่มเติมต่อเนื่องตามที่หลักสูตรกำหนด ด้วยเหตุนี้อัตราส่วนครูต่อนักเรียนจึงกลายเป็นข้อโต้แย้งที่น่าใจสำหรับห้องเรียนระดับสูงหรือห้องเรียนแผนการเรียนเกียรตินิยม

ข้อถกเถียง

[แก้]

แหล่งข้อมูลจำนวนมากอภิปรายว่าอัตราส่วนครูต่อนักเรียนที่ต่ำมักเหมาะสมในการสอนนักเรียนในรายวิชาที่ซับซ้อนอย่าง ฟิสิกส์, คณิตศาสตร์และเคมีมากกว่าที่ที่มีอัตรา่สวนครูต่อนักเรียนที่สูง ในสหรัฐ โรงเรียนที่มีอัตราส่วนครูต่อนักเรียนต่ำมีความเฉพาะตัวมากกว่า, มีนักเรียนผิวขาวจำนวนมากและตั้งอยู่นอกพื้นที่เมืองชั้นใน หรือเป็นสถาบันการศึกษาที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (สถานศึกษาเอกชน)[5]

ข้อโต้แย้งและการโต้เถียงจำนวนมากเกี่ยวกับเงินสนับสนุนและอัตราส่วนครูต่อนักเรียนเป็นรากฐานของการศึกษาและอภิปรายจำนวนมาก มุมมองหนึ่งมองว่า

นักวิเคราะห์จำนวนมากค้นพบว่าทรัพยากรทางการศึกษาที่เพิ่มเข้ามาเป็นพิเศษมีบทบาทเล็กน้อยต่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในขณะที่เด็กอยู่ในโรงเรียน ทว่านักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากได้รวบรวมข้อมูลแสดงถึงนักเรียนที่เข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อเติบโตขึ้นมาจะประสบความสำเร็จในตลาดงานมากกว่านักเรียนที่เข้าศึกษาในสถานศึกษาที่ทรัพยากรมีจำกัด ตัวอย่างเช่น เด็กที่เข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีอัตราส่วนครูต่อนักเรียนต่ำและผู้สอนมีระดับการศึกษาที่สูงกว่า เด็กกลุ่มนั้นจะมีรายได้สูงกว่าเมื่อเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กที่ศึกษาในสถานศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์[5]

ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดห้องเรียนและความสามารถในการอ่านจากแบบทดสอบการอ่านของนักเรียนเกรด 4 และ 8 ในสหรัฐ

ห้องเรียนขนาดเล็กกว่าถูกเชื่ออย่างกว้างขวางว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนทุกคน เนื่องจากการได้รับความสนใจจากผู้สอนเป็นรายบุคคล และอัตราส่วนครูต่อนักเรียนที่ต่ำจะให้ประโยชน์มากขึ้นในระดับมัธยมศึกษา จากการที่ระดับของเนื้อหามีความท้าทายมากยิ่งขึ้น นักเรียนในชั้นเรียนขนาดใหญ่กว่ามักหลุดลอยหรือลืมภาระงานนั้นไป เพราะครูจะเน้นจัดการเรียนการสอนให้กับทั้งชั้นเรียนมากกว่าที่จะให้ความสนใจเป็นรายบุคคล นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำจะได้ผลกระทบเป็นอย่างมากจากห้องเรียนลักษณะนี้[6]

นักเรียนมีข้อได้เปรียบในระดับชั้นที่สูงขึ้นจากการเรียนในห้องเรียนขนาดเล็กในระดับชั้นต้น ๆ การอยู่ในห้องเรียนขนาดเล็กเป็นเวลานานกว่าส่งผลให้เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จทางวิชาการในระดับที่สูงขึ้น ในวิชาการอ่านและวิทยาศาสตร์ ผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำจะได้ประโยชน์มากกว่าจากการอยู่ในห้องเรียนขนาดเล็ก ประโยชน์ที่ได้จากขนาดห้องเรียนที่เล็กคือการช่วยลดช่องว่างของผลสัมฤทธิ์ทางด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นที่สูงขึ้น[7] ในทางตรงกันข้าม ประเทศเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ห้องเรียนขนาดใหญ่จะมีคุณค่าในแง่ที่ว่าเป็นโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์เป็นกลุ่มระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชั้นต้น ๆ และหากเจาะจงลงไปคือในระดับเตรียมอนุบาล[8]

ดูเพิ่ม

[แก้]

งานอ้างอิง

[แก้]
  • OECD (2014). Education at a Glance: OECD Economic Indicators. ISBN 9789264215054.

อ้างอิง

[แก้]
  1. Henshaw, John M. (2006). Does Measurement Measure Up?: How Numbers Reveal and Conceal the Truth. pp. 45–46. ISBN 9780801883750.
  2. Smith, Robert B (2011). Multilevel Modeling of Social Problems: A Causal Perspective. p. 37. ISBN 9789048198559.
  3. 3.0 3.1 3.2 OECD 2014, p. 447.
  4. Henshaw 2006, p. 46.
  5. 5.0 5.1 Card, David; Alan B. Krueger (1996). "School Quality and the Return to Education". ใน Gary Burtless (บ.ก.). Does money matter?: the effect of school resources on student achievement and adult success. Washington, D.C.: Brookings Institution. pp. 118–119. ISBN 978-0-8157-1274-9.
  6. Blatchford, Peter; Bassett, Paul; Brown, Penelope (2011). "Examining the effect of class size on classroom engagement and teacher—pupil interaction: Differences in relation to pupil prior attainment and primary vs. secondary schools" (PDF). Learning and Instruction. 21 (6): 715–30. doi:10.1016/j.learninstruc.2011.04.001.
  7. Konstantopoulos, Spyros; Chung, Vicki (2009). "What Are the Long-Term Effects of Small Classes on the Achievement Gap? Evidence from the Lasting Benefits Study" (PDF). American Journal of Education. 116 (1): 125–54. CiteSeerX 10.1.1.526.7513. doi:10.1086/605103.
  8. Tobin, Joseph J., Yeh Hsueh, Mayumi Karasawa (2009). Preschool in three cultures revisited: China, Japan, and the United States, pp. 95-156. Chicago: University of Chicago Press

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]