ข้ามไปเนื้อหา

อง คาวาระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อง คาวาระ
เกิด2 มกราคม ค.ศ. 1933(1933-01-02).
คาริยะ จังหวัดไอจิ ญี่ปุ่น
เสียชีวิตกรกฎาคม 10, 2014(2014-07-10) (81 ปี)
เมืองนิวยอร์ก นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
สัญชาติอเมริกัน-ญี่ปุ่น
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม แสดงผลงาน
ขบวนการคอนเซ็ปชวลอาร์ต เมลอาร์ต

อง คาวาระ (ญี่ปุ่น: 河原 温โรมาจิKawara On) เป็นศิลปินแนวศิลปะเชิงแนวคิด ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1965 จากความเป็นศิลปินที่เน้นเรื่องแนวคิด ซึ่งเป็นศิลปะแนวหนึ่งที่แสดงออกถึงความคิดของศิลปินและลดความสำคัญของวัตถุในงานศิลปะลง เขาได้สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก โดยลักษณะเด่นของผลงานของ อง คาวาระคือการใช้เรื่องของเวลามาเป็นสื่อในการสร้างผลงานศิลปะ[1]

เขามีงานนิทรรศการของตนเองมากมายและมีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการกลุ่มรวมถึงงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยเวนิช เบียนนาเล่ ในปี ค.ศ. 1976

ประวัติ

[แก้]

อง คาวาระ (On Kawara) มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1964 – 28 มิถุนายน ค.ศ. 2014 เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปลายคาริยะในปี 1951 หลังจากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่กรุงโตเกียว[2] เขาจัดแสดงผลงานครั้งแรกในชีวิตที่นั่น ผลงานในช่วงปี 1950s คาวาระได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ระเบิดที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ ซึ่งเกิดขึ้นช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่น ผลงาน ‘The Bathroom’ (1953-54) แสดงถึงภาพบุคคลที่ไม่สมประกอบหลายคนอยู่ในห้องน้ำ จากนั้น เขาไปเม็กซิโกในปี 1959 และเดินทางไปทั่วยุโรป ก่อนจะตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นิวยอร์กในปี 1965[3] ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของคาวาระ คือ ‘Date Paintings’ (1965) ซึ่งอยู่ในชุดผลงาน Today Series ซึ่งเป็นรูปแบบงานที่คาวาระนิยม เขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 81 ปี โดยที่ยังทำผลงาน ‘I am still alive’ ในทวิตเตอร์ของเขา[4]

ผลงานที่ญี่ปุ่นก่อนย้ายไปนิวยอร์ก (1950-1959)

[แก้]

Absentees (1956)

[แก้]

ผลงานของเขาตอนเข้าร่วมเป็นศิลปินหน้าใหม่ใน Discussion Group ที่ญี่ปุ่น เป็นภาพของแขนผู้คนที่ยืดตรงแข็งแรงยื่นออกมาจากลูกกรงของอาคาร ด้วยลักษณะท้าทาย แต่สื่ออยู่บนพื้นฐานของความสิ้นหวัง เป็นงานที่สะท้อนถึงระเบิดปรมาณูในที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2[5]

The Bathroom series (1953-54)

[แก้]

เป็นชุดผลงานที่ประกอบไปด้วยภาพวาด 28 ภาพของผู้คนเปลือยพิการ ลักษณะไม่สมประกอบ แขนขาโดนตัดขาด อยู่ในห้องที่ปูด้วยกระเบื้อง โดยแต่ละบุคคลไม่มีความปฏิสัมพันธ์กัน เป็นงานที่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม มนุษย์ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีความสุข[6]

เขายังมีผลงานอื่นๆ ในช่วงนี้ ซึ่งอยู่ในลักษณะเดียวกัน เช่น Butcher’s wife (1952) Event in warehouse (1954) Black Soldier (1955)

ผลงานตั้งแต่ปี 1965-2014

[แก้]

Today Series (1965)

[แก้]
วันที่วาดภาพ (Date Paintings)

หลังจากเขาตัดสินใจตั้งถิ่นฐานที่นิวยอร์ก คาวาระได้สร้าง ผลงาน Today Series ซึ่งเป็นหนึ่งผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา โดยผลงานนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ วัน เวลาและสถานที่ เป็นโปรเจกต์ต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1966 เป็นงานตลอดช่วงชีวิตของเขา ผลงานนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ‘Date Paintings’ หรือ ‘วันที่วาดภาพ’ [7] รายละเอียดของภาพ เป็นภาพที่ประกอบด้วยวันที่ เดือน และปี โดยวาดด้วยอักษรสีขาวบนพื้นหลังที่ใช้สีเดียว ส่วนมากจะเป็นสีแดง สีฟ้า สีดำหรือสีเทา[8] วันที่ที่ถูกวาดลงบนภาพจะเป็นภาษาและมีรูปแบบไวยากรณ์ตามรูปแบบการใช้ของประเทศที่เขาอาศัยอยู่ในขณะวาดภาพนั้นๆ[9] ชิ้นงานของเขามีหลายขนาด ติดตั้งไว้บนผนังเป็นแถวตามแนวนอน

คาวาระใส่ใจกับผลงานแต่ละชิ้นของเขามาก ตัวอักษรบนภาพถูกวาดขึ้นด้วยมือโดยผ่านการคำนวณและจัดรูปแบบมาอย่างดี [10] ในช่วงแรก ผลงานจะมีความฉูดฉาดมากกว่าผลงานในช่วงสมัยหลังที่ใช้โทนสีเข้มขึ้น เขามักจะทาสีพื้นหลังทับกันจำนวน 4-5 ชั้น และถูพื้นผิวให้เรียบเพื่อเขียนตัวอักษร คาวาระปฏิเสธรูปแบบการเขียนที่เป็นลายมือ เขาเลือกใช้ตัวอักษรที่เป็นฟ้อนท์ ซึ่งเป็นแบบแผนมากกว่า คาวาระมีความตั้งใจในงานแต่ละชิ้นมาก ถ้าหากว่าเขาไม่สามารถวาดภาพวันที่เสร็จภายในวันนั้นๆ ภาพจะถูกทำลายทิ้งทันที คาวาระวาดภาพเป็นจำนวน 63-241 ภาพในแต่ละปี[11] ภาพที่ไม่ได้ถูกนำมาจัดแสดงจะถูกนำไปเก็บไว้ในกล่องกระดาษที่ทำขึ้นสำหรับภาพแต่ละชิ้น ภายในกล่องจะติดภาพข่าวที่คาวาระตัดมาจากหนังสือพิมพ์ของเมืองที่เขาอยู่ขณะนั้นและต้องเป็นฉบับวันที่ตรงกับวันที่บนภาพ[12] ดังนั้นกล่องจึงเป็นส่วนหนึ่งของผลงานเช่นกันแต่มีการนำไปจัดแสดงเพียงบางครั้งเท่านั้น[13] คาวาระได้วาดภาพ “วันที่วาดภาพ” (Date Paintings) ในแต่ละประเทศมากกว่า 112 ประเทศทั่วโลก นับเป็นผลงานที่มีความยาวนานเป็นอย่างมาก

Title

[แก้]
ผลงาน Title

ผลงานที่แสดงออกถึงการต่อต้านสงครามเวียดนาม รูปแบบของผลงานพัฒนามาจากผลงานชื่อ ‘Nothing Something Everything’ ใช้อักษรสีขาวเขียนเวลาและชื่อสถานที่บนพื้นหลังสีแดง โดยหมายเลข 1965 เป็นปีคริสต์ศักราชที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดลงที่ประเทศเวียดนามเนื่องจากเหตุการณ์ในสงครามเวียดนาม ขณะนั้นเขาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์นี้อาจทำให้เขานึกถึงเหตุการณ์การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในสงครามโลกครั้งที่ 2 คำว่า “Viet-nam” คล้ายกับว่าเป็นการอุทานที่ปราศจากเครื่องหมายอุทาน และการใช้สีพื้นหลังแสดงถึงความรู้สึกของศิลปินที่อาจจะเป็นการเน้นย้ำเหตุการณ์ในอดีตของคาวาระก็เป็นได้ อาจจะเป็นแนวคิดเดียวกันผลงานชื่อ “The Bathroom” ที่เขาทำขึ้นสมัยยังอาศัยอยู่ที่โตเกียว[14]

ผลงาน I got up ของคาวาระ

I got up, I met, I went

[แก้]

I Got up คาวาระเริ่มทำผลงานสามชุดนี้ในช่วงสิบสองเดือนที่เขากลับไปเยือนเม็กซิโกช่วงปี 1968-69 โดยเขาจะส่งโปสการ์ดที่แสตมป์ตรายางจากเมืองที่เขาอาศัยอยู่ในขณะนั้น โดยมีรายละเอียดบนโปสการ์ดเป็นเวลาที่เขาตื่นจากที่นอนในทุกๆวัน เขาทำงานนี้พร้อมกับผลงาน ‘I Met’ และ ‘I Went’ โดย ‘I Met’ คาวาระจะบันทึกรายชื่อของบุคคลที่เขาพบเจอในแต่ละวันลงในกระดาษ และกำกับวันที่ลงในกระดาษเช่นเดียวกัน ส่วน ‘I Went’ คาวาระใช้เส้นสีแดงลากไปตามทางเดินบนแผนที่ท้องถิ่นในเมืองที่เขาอาศัยอยู่ในขณะนั้น ซึ่งจะแตกต่างกันไป คาวาระทำผลงานเหล่านี้ขึ้นทุกวันจนกระทั่งวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1979[15]


ผู้เข้าชมผลงาน One Million Years จะนั่งข้างกันและเริ่มอ่านปีในหนังสือไปพร้อมๆกัน
ผลงาน One million years โดย อง คาวาระ

One Million Years

[แก้]

ผลงานที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่งของ อง คาวาระ ถูกจัดแสดงครั้งแรกในประเทศอังกฤษเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ที่แยก Trafalgar ช่วงต้นปี 2014 ผลงานชิ้นนี้ถูกนำไปจัดแสดงทั่วโลก อาทิ ปารีส นิวยอร์กบรัซเซล และกวางจู[16] เป็นการใช้ความเป็น Performance Art เข้ามาร่วมด้วย โดยให้ผู้ชมหรืออาสาสมัครมีส่วนร่วมกับงาน คาวาระนำปีคริสต์ศักราชมาบันทึกลงเป็นหนังสือโดยย้อนกลับจากปัจจุบันไปสู่อดีตเป็นเวลาหนึ่งล้านปี และนับจากปัจจุบันไปสู่อนาคตอีกหนึ่งล้านปี เล่มอดีตมีจำนวน 10 เล่ม เล่มอนาคตมีจำนวน 10 เล่ม การจัดแสดงผลงานชิ้นนี้ได้จัดแจงให้อาสาสมัครหรือผู้ชมที่เป็นผู้ชายและผู้หญิงนั่งข้างกันบนโต๊ะ มีหนังสือ 2 เล่มให้เปิดอ่าน ซึ่งเล่มหนึ่งเป็นเล่มอดีตและอีกเล่มคือเล่มอนาคต โดยที่ทั้งสองจะอ่านไล่ปีคริสต์ศักราชตั้งแต่ปีปัจจุบันไปพร้อมกัน[17]

100 Years Calendar

[แก้]

ผลงานมีความเกี่ยวข้องกับงาน ‘Date Paintings’ คาวาระสร้างปฏิทินที่มีช่วงเวลาจำนวนหนึ่งร้อยปี โดยมีวันเวลาของชีวิตของศิลปินอยู่ในนั้น คาวาระใช้จุดสีเหลืองแสดงวันที่เขาเริ่มมีชีวิตกระทั่งถึงวันที่ผลงานถูกจัดแสดงในนิทรรศการ คาวาระใช้จุดสีอื่นทับบนตัวเลขวันที่เขาวาดงาน ‘Date Paintings’ ซึ่งจุดสีนั้นก็จะมีความแตกต่างกันไปตามพื้นหลังงานที่เขาวาด ผลงานชิ้นนี้เปรียบได้กับชีวประวัติของคาวาระที่ถูกเปิดเผยในงานนิทรรศการ แสดงออกว่าเขาทำอะไรบ้างในแต่ละวัน[18]


Pure Consciousness

[แก้]

นิทรรศการที่เกิดขึ้นพร้อมกับงาน ‘Date Paintings’ นิทรรศการเกิดขึ้นในหลายเมือง เช่น ซิดนีย์ (1998) เซี่ยงไฮ้ (2000) อาไบจัน (2000) อย่างไรก็ตามแทนที่จะจัดแสดงรวมกันผลงานชิ้นอื่นๆที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์หรือห้องแสดงงาน คาวาระ นำงาน ‘Date Paintings’ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 มกราคม ค.ศ. 1997 ไปประดับในห้องเรียนของโรงเรียนอนุบาล ผลที่ปรากฏคือเด็กๆที่เรียนอยู่ในห้อง ไม่มีใครสนใจงานของเขา ไม่มีใครเข้าใจความหมายในผลงานของเขาเลยสักคน[19]



I AM STILL ALIVE

[แก้]

ในช่วงปี 1970s คาวาระได้ใช้โทรเลข ส่งข้อความว่า ‘ฉันยังมีชีวิตอยู่’ ให้เหล่าเพื่อนๆ ของเขาทุกวัน โดยสาเหตุที่เขาเลือกใช้คำนี้ เนื่องจากเป็นคำพูดที่ดูจริงจังไม่ได้ใช้ในเหตุการณ์ธรรมดาทั่วไป (จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมา) แต่คาวาระกลับนำมาเขียนเป็นข้อความธรรมดาทั่วไปปรกติ การสื่อสารทางโทรเลขในสมัยนั้นเป็นช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วที่สุด เสมือนเป็นการเน้นย้ำถึงความมีชีวิตของตนเอง แต่เมื่อคำพูดนี้ถูกนำใช้เป็นข้อความ ก็กลายเป็นคำที่ดูไร้ชีวิตชีวา ตรงข้ามกับความหมายของคำนั้นๆ[20]

ปัจจุบัน เนื่องจากโทรเลขนั้นถูกยกเลิกใช้ไปแล้ว คาวาระหันมาใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อผลงานชิ้นนี้ของเขาแทน แม้ว่าคาวาระจะเสียชีวิตไปแล้ว ในบัญชีทวิตเตอร์ของเขาก็ยังคงโพสต์คำว่า I AM STILL ALIVE วันละ 1 โพสต์ในทุกๆวัน



อ้างอิง

[แก้]
  1. Karen Rosenberg (February 2, 2012), On Kawara’s ‘Date Painting (s) ’ at David Zwirner Gallery New York Times
  2. On Kawara MoMA Collection. Source: Oxford University Press.
  3. On Kawara[ลิงก์เสีย] – Encyclopedias Britannica online เข้าถึงเมื่อ 2014-12-12.
  4. On Kawara’s twitter
  5. Jonathan Watkins and Rene Denizot. On Kawara. London: Phaidon, c2002, Page 49.
  6. Jonathan Watkins and Rene Denizot. On Kawara. London: Phaidon, c2002, Page 50.
  7. Roberta Smith (July 15, 2014), On Kawara, Artist Who Found Elegance in Every Day, Dies at 81 New York Times.
  8. Roberta Smith (July 15, 2014), On Kawara, Artist Who Found Elegance in Every Day, Dies at 81 New York Times.
  9. Karen Rosenberg (February 2, 2012), On Kawara’s ‘Date Painting (s) ’ at David Zwirner Gallery New York Times
  10. Adrian Searle (3 December 2002), It's a date! The Guardian.
  11. Roberta Smith (July 15, 2014), On Kawara, Artist Who Found Elegance in Every Day, Dies at 81 New York Times.
  12. Jonathan Watkins and Rene Denizot. On Kawara. London: Phaidon, c2002, Page 78.
  13. On Kawara: I Read 1966-1995, เก็บถาวร 2014-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน March 20 - April 17, 1999 David Zwirner Gallery, New York.
  14. Jonathan Watkins and Rene Denizot. On Kawara. London: Phaidon, c2002, Page 63-67.
  15. Jonathan Watkins and Rene Denizot. On Kawara. London: Phaidon, c2002, Page 92.
  16. One Million Years เก็บถาวร 2014-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , 29 March - 5 April 2004
  17. One Million Years เก็บถาวร 2014-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , 29 March - 5 April 2004
  18. Jonathan Watkins and Rene Denizot. On Kawara. London: Phaidon, c2002, Page 87.
  19. Jonathan Watkins and Rene Denizot. On Kawara. London: Phaidon, c2002, Page 104-105.
  20. Jonathan Watkins and Rene Denizot. On Kawara. London: Phaidon, c2002, Page 87.