องค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
องค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจา
มีส่วนร่วมในการกบฏโรฮีนจา
ปฏิบัติการค.ศ. 1982 (1982)ค.ศ. 1998 (1998) (ยุบทหาร)
แนวคิดชาตินิยมโรฮิงญา
ลัทธิอิสลาม
ผู้นำมุฮัมมัด อายุบ
[1]
พื้นที่ปฏิบัติการรัฐยะไข่,
ชายแดนประเทศบังกลาเทศ–พม่า
พันธมิตรARNO
ปรปักษ์ สหภาพพม่า
การสู้รบและสงครามการกบฏโรฮีนจา
ตราประจำตำแหน่ง
ธง

องค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจา (อังกฤษ: Rohingya Solidarity Organisation, RSO; เบงกอล: রোহিঙ্গা সলিডারিটি অর্গানাইজেশন) เป็นองค์กรทางทหารของชาวโรฮีนจา ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2523 หลังจากที่กองทัพพม่าใช้ความรุนแรงในรัฐยะไข่ตามยุทธการราชามังกร ซึ่งผลักดันให้ชาวโรฮีนจา 250,000 คน ต้องหนีไปยังชายแดนบังกลาเทศ

ประวัติ[แก้]

ในช่วงระหว่างสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศใน พ.ศ. 2514 ชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนมีโอกาสสะสมอาวุธที่ใช้ในสงครามเหล่านี้ ต่อมา ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ผู้นำกบฏมุญาฮิดีนที่เหลืออยู่คือซัฟฟาร์ได้จัดตั้งพรรคปลดปล่อยโรฮีนจาโดยซัฟฟาร์เป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าคือคืออัลดุล ลาติฟ และเลขาธิการคือมุฮัมมัด ญาฟาร์ ซัฟฟาร์ อาจิบ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เริ่มต้นมีสมาชิก 200 คน ต่อมาเพิ่มเป็น 500 คนใน พ.ศ. 2517 พรรคนี้มีฐานที่มั่นในเมืองบูทิด่อง หลังจากการปราบปรามของทหารพม่าในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2517 ซัฟฟาร์และคนสนิทหนีไปยังบังกลาเทศและบทบาทของเขาได้หายไป

หลังจากการล้มเหลวของพรรคปลดปล่อยโรฮีนจา มุฮัมมัด ญาฟาร์ ฮาบิบได้จัดตั้งแนวร่วมนักรบโรฮีนจาใน พ.ศ. 2517 โดยมีทหาร 70 คนโดยฮาบิบเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรคคือนูรุล อิสลาม ซึ่งเป็นทนายความในย่างกุ้ง และผู้บัญชาการสูงสุดของพรรคคือมูฮัมมัด ยูนุสซึ่งเป็นหมอ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2521 รัฐบาลของเน วินได้ใช้ยุทธการราชามังกรในยะไข่เพื่อตรวจสอบผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายในพม่า เมื่อนำยุทธการนี้มาใช้ในยะไข่ มีผู้อพยพราวหมื่นคนข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ ชาวโรฮีนจาจากพม่าได้ลุกฮือขึ้นตามแนวชายแดนบังกลาเทศ[2][3][4] กลุ่มของทหารหัวรุนแรงอย่างแนวร่วมนักรบโรฮีนจาใช้โอกาสนี้ในการระดมคนมาร่วมรบ ต่อมาในราว พ.ศ. 2523 กลุ่มหัวรุนแรงได้แยกออกมาจากแนวร่วมนักรบโรฮีนจา และตั้งองค์กรของตนเองขึ้นคือ องค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจานำโดยมูฮัมมัด ยูนุส ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นองค์กรทางทหารที่สำคัญของชาวโรฮีนจา องค์กรนี้เน้นความเชื่อทางศาสนา ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากโลกมุสลิมได้แก่ JeI ในบังกลาเทศและปากีสถาน ฆุลบุดดิน เฮกมัตยัร ฮิซ-อี-อิสลามี ในอัฟกานิสถาน ฮิซ-อุล-มุญาฮิดีนในรัฐชัมมูและกัศมีร์ และองค์กรยุวชนอิสลามแห่งมาเลเซีย

กลุ่มทางทหารของชาวโรฮีนจาอีกกลุ่มหนึ่งคือแนวร่วมอิสลามโรฮีนจาอาระกันก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2529 โดยนูรุล อิสลาม องค์กรนี้มาจากส่วนที่เหลืออยู่ของแนวร่วมนักรบโรฮีนจา

การขยายตัวทางทหารและความเชื่อมโยงกับฏอลิบานและอัลกออิดะฮ์[แก้]

ค่ายทหารขององค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจาตั้งอยู่ที่เมืองคอกส์บาซาร์ทางภาคใต้ของบังกลาเทศ นักรบขององค์กรนี้บางส่วนไปฝึกฝนกับมุญาฮิดีนในอัฟกานิสถาน จากหลักฐานวิดีโอเทปของ CNN ได้ชี้ให้เห็นว่ามุสลิมจากพม่าได้ไปฝึกการรบในอัฟกานิสถาน วิดีโอบางม้วนถ่ายในค่ายขององค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจาในบังกลาเทศ

การขยายตัวขององค์การโรฮีนจาเข้มแข็งใน พ.ศ. 2523 – 2533 ทำให้รัฐบาลพม่าเข้มงวดกับแนวชายแดนพม่า-บังกลาเทศ ทหารพม่าข้ามพรมแดนไปโจมตีค่ายทหารของโรฮีนจาในบังกลาเทศในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพม่ากับบังกลาเทศ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2535 พลเรือนโรฮีนจากว่า 250,000 คนถูกบีบให้อพยพออกจากยะไข่ในช่วงนี้ ซาอุดีอาระเบียได้ออกแถลงการณ์ประณามพม่า[2][5] ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 สมาชิกองค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจา 120 คนข้ามแม่น้ำนาฟเข้าสู่เมืองหม่องด่อ และในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2537 ได้มีการวางระเบิด 12 จุดในเมืองหม่องด่อซึ่งเป็นผลงานขององค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจา[6]

ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2541 องค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจาและแนวร่วมอิสลามโรฮีนจาอาระกันได้รวมเข้าด้วยกันเป็นสภาแห่งชาติโรฮีนจา ซึ่งมีกองทัพแห่งชาติโรฮีนจาเป็นกองกำลังติดอาวุธและมีองค์กรแห่งชาติอาระกันเป็นหน่วยงานประสานระหว่างโรฮีนจากลุ่มต่าง ๆ[7]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 มุสลิมโรฮีนจา 80–100 คนในหม่องด่อถูกกองกำลังป้องกันชายแดนของพม่าจับกุม โดยกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับการฝึกจากฏอลิบาน[8][9] ในกลุ่มผู้ต้องสงสัยนี้ มี 19 คนถูกดำเนินคดีและมี 12 คนถูกตัดสินจำคุกเมื่อ 6 กันยายน พ.ศ. 2554[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Arakan Rohingya National Organisation - Myanmar/Bangladesh | Terrorist Groups | TRAC". www.trackingterrorism.org (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-05. สืบค้นเมื่อ 5 May 2018.
  2. 2.0 2.1 "Bangladesh Extremist Islamist Consolidation". by Bertil Lintner. สืบค้นเมื่อ 2012-10-21.
  3. Lintner, Bertil (1999). Burma in Revolt: Opium and Insurgency Since 1948,. Chiang Mai: Silkworm Books. pp. 317–8.
  4. "Bangladesh: Breeding ground for Muslim terror". by Bertil Lintner. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-18. สืบค้นเมื่อ 2012-10-21.
  5. Selth, Andrew (Nov–Dec 2003). Burma and International Terrorism,. Australian Quarterly, vol. 75, no. 6,. pp. 23–28.{{cite book}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  6. "Rohingya Terrorists Plant Bombs, Burn Houses in Maungdaw". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-14. สืบค้นเมื่อ 2012-10-22.
  7. "Wikileaks Cables: ARAKAN ROHINGYA NATIONAL ORGANIZATION CONTACTS WITH AL QAEDA AND WITH BURMESE INSURGENT GROUPS ON THE THAI BORDER". Revealed by Wikileaks. สืบค้นเมื่อ 2012-10-22.
  8. "Nearly 80 Suspected Taliban Members Arrested in Burma". Narinjara News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-04. สืบค้นเมื่อ 2012-10-22.
  9. "Muslims Arrested in Arakan State Accused of Taliban Ties". Irrawaddy News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-05. สืบค้นเมื่อ 2012-10-22.
  10. "Twelve Suspected Taliban Sentenced to Jail". Narinjara News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-04. สืบค้นเมื่อ 2012-10-22.