ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู
ประเภทบริษัทจำกัด
อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค
ก่อตั้งพ.ศ. 2435
ผู้ก่อตั้งโธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์
สำนักงานใหญ่100/105-108 อาคารว่องวานิช บี ชั้น 31 ถ.พระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320
บุคลากรหลัก
อนุรุธ ว่องวานิช (ประธานกรรมการบริหาร)
ผลิตภัณฑ์กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล
เว็บไซต์www.britishdispensary.com

ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) หรือปัจจุบันคือ กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู (อังกฤษ: British Dispensary Group) เป็นกลุ่มบริษัทยาและเครื่องสำอางของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ตรางู ก่อตั้งเป็น ห้างขายยาอังกฤษตรางู ในปี 2435 โดยแพทย์ชาวตะวันตก 2 ท่าน คือ ปีเตอร์ โกแวน และโธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ และต่อมาถูกซื้อกิจการโดยหมอล้วน ว่องวานิช ในปี 2471 ต่อมาธุรกิจได้เติบโตภายใต้กรรมสิทธิ์ของครอบครัวว่องวานิช

ประวัติ[แก้]

กำเนิด[แก้]

ห้างขายยาอังกฤษตรางู ที่ถนนเจริญกรุงมุมถนนสุรวงศ์

โธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ หรือหมอเฮส์ ได้เริ่มเปิดร้านขายยาของตนเองเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยร่วมทุนกับนายแพทย์ ปีเตอร์ กาแวน ชาวอังกฤษ ใช้ชื่อว่า British Dispensary มีสัญลักษณ์เป็นรูปงูถูกศรปักที่หัว แต่เนื่องจากเป็นชื่อร้านภาษาอังกฤษ จึงเรียกตามสัญลักษณ์ของห้างว่า ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ร้านแรกตั้งอยู่ที่ปากตรอกโรงภาษีที่ถนนเจริญกรุงมุมถนนสุรวงศ์ กิจการดําเนินมาได้ด้วยดี จนถึง พ.ศ. 2440 จึงได้ขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งที่สี่กั๊กพระยาศรี หลังจากนั้นหมอกาแวน ผู้ร่วมหุ้นคนสำคัญมีความจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศอังกฤษ จึงได้ขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดให้แก่หมอเฮส์

จนกระทั่ง พ.ศ. 2449 หมอเฮส์ได้ขายกิจการทั้งหมดให้แก่คนปรุงยาในร้าน ชื่อ มร.แมกเบท (Mr. Mcbeth) มีการเปิดสาขาใหม่ที่หัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนสี่พระยาโดยปิดกิจการที่ร้านปากตรอกโรงภาษีลง ในยุคนั้นนอกจากผลิตยาเองแล้วยังเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเซนลุกซ์ของประเทศอังกฤษ เช่น สบู่เซนลุกซ์ น้ำมันเซนลุกซ์ รวมไปถึงน้ำมันตับปลา (Scott’s Emulsion) ยาแก้ปวดเพอร์รีเดวิส (Perry Davis’s Painkiller)

ภายใต้การบริหารของตระกูลว่องวานิช[แก้]

ต่อมา มร.แมกเบท เดินทางกลับประเทศของตนจึงขายกิจการทั้งหมด ตลอดจนตำรับยาต่าง ๆ พร้อมลิขสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซนลุกซ์ เป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท ให้กับนายล้วน ว่องวานิช ดำเนินการต่อ[1]

เมื่อ พ.ศ. 2471 โดยหมอล้วนมิได้เปลี่ยนแปลงกิจการแต่อย่างใด เพียงแต่ปรับสูตรแป้งน้ำที่ชื่อ มะโนลา เสียใหม่ ซึ่งภายหลังได้พัฒนาสูตรและเปลี่ยนชื่อมาเป็น แป้งฝุ่นเด็กเซนลุกซ์ และ แป้งเย็นปริกลีฮีทตรางู (แป้งเย็นตรางูในปัจจุบัน) แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หมอล้วนต้องประสบอุปสรรคถึงขนาดต้องเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ เหตุเพราะหมอล้วนได้จัดส่งยาจากห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ไปช่วยเหลือประชาชนชาวจีน ทำให้รัฐบาลขณะนั้นไม่พอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐบาลไทยในขณะนั้นอยู่ฝ่ายเดียวกับประเทศญี่ปุ่น หมอล้วนจึงส่งบุตรชาย บุญยง ว่องวานิช เดินทางจากกฮ่องกงเข้ามายังประเทศไทย เพื่อคอยดูแลกิจการแทน และเปลี่ยนชื่อห้างเป็น ห้างขายยาตรางู ตัดคําว่า "อังกฤษ" เป็นการชั่วคราว

หลังจากหมอล้วนอาศัยอยู่ที่ฮ่องกงนาน 10 ปี จึงเดินทางกลับมายังประเทศไทย ดำเนินกิจการต่อไป โดยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น ยาหยอดตาสว่างเนตร ยาหยดทองใช้แก้อาการท้องเสีย ยาธาตุเซนลุกซ์ ยาบำรุงโคนาโตน ยาหม่อง น้ำมันใส่ผมเปโตร[2]

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2506 ก่อตั้งบริษัท แอล.พี.แสตนดาร์ด แลบบอราทอรี่ส์ จำกัด โรงงานผลิตเวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง จนเมื่ออนุรุธ ว่องวานิชทายาทรุ่น 3 ที่เริ่มเข้ามาดูแลบริหารงานเมื่อ พ.ศ. 2528 ได้ขยายตลาดสินค้าใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์เด็กเซนลุกซ์, แชมพูเซนลุกซ์ สูตรเย็น, สบู่เย็นตรางู และวางตลาดผลิตภัณฑ์เด็กเซนลุกซ์ แป้ง สบู่ แชมพู โลชั่นเด็ก

พ.ศ. 2540 บริษัทได้ควบรวมกิจการด้านการจัดจำหน่ายและโรงงานผลิต ภายใต้ชื่อ บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท ดำเนิน ธุรกิจด้านการผลิต รับจ้างผลิต จัดจำหน่าย นำเข้า และส่งออก

พ.ศ. 2551 ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท ฟาร์มาคอสเม็ท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สกินแคร์ภายใต้แบรนด์ Tea Tree และ Scacare[3]

กลุ่มบริษัท[แก้]

จากข้อมูลในปี 2555 กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางูประกอบไปด้วย

  • บริษัท ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) จำกัด
  • บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด
  • บริษัท บริทิช ดิสเพนซารี่ คอนซูมเมอร์ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท บริทิช ดิสเพนซารี่ เฮลท์แคร์ จำกัด
  • บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) สาย 5 จำกัด

อ้างอิง[แก้]

  1. "เปิดใจ 'อนุรุธ ว่องวานิช' ทายาทอังกฤษตรางู กับพันธกิจบุกตลาดเอเชีย". ฐานเศรษฐกิจ.
  2. "กำเนิด "แป้งเย็นตรางู" จากห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เก่าแก่สมัยร.5 ถึงผู้ปรับสูตรแป้งเย็น". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. "เปิดตำนาน "อังกฤษตรางู" ที่ยืนหยัดมาจนวันนี้ 130 ปี ผู้สร้าง "แป้งเย็น" รายแรกของโลก พร้อมยุทธศาสตร์เดินหน้า "โปรดักส์อินโนเวชั่น" สู่ผู้นำตลาดอาเซียน". ฐานเศรษฐกิจ.