หุ่นยนต์ส่งของ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หุ่นยนต์ส่งของจากบริษัทสตาร์ชิปเทคโนโลจิส (Starship Technologies) บนทางเท้าในมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต

หุ่นยนต์ส่งของ เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติที่มีจุดประสงค์เพื่อบริการขนส่งในระยะทางอันใกล้ โดยผู้ควบคุมสามารถติดตามและควบคุมหุ่นยนต์จากระยะไกลได้ในกรณีที่หุ่นยนต์ไม่สามารถประมวลผลได้ด้วยตนเอง เช่น เมื่อหุ่นยนต์ติดอยู่กับสิ่งกีดขวาง เป็นต้น นอกจากนี้ หุ่นยนต์ส่งของยังสามารถใช้ตั้งค่าระบบให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันได้ เช่น ขนส่งอาหาร ขนส่งบรรจุภัณฑ์ ขนส่งทางการแพทย์ บริการโรงแรม และอื่น ๆ

การใช้งาน[แก้]

ขนส่งอาหาร[แก้]

ก่อนการระบาดทั่วของโควิด-19 การปรับใช้หุ่นยนต์ส่งอาหารยังมีอยู่ในระดับเล็กน้อย[1] จนเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 มีการปรับใช้หุ่นยนต์ส่งของบางส่วนตามสถาบันการศึกษาในสหรัฐ โดยมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่กำหนดรวมการจัดส่งอาหารตามความต้องการด้วยหุ่นยนต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดอาหารของมหาวิทยาลัย โดยการใช้งานหุ่นยนต์ 25 ตัว จากบริษัทสตาร์ชิปเทคโนโลจิส[2] เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ความต้องการในการจัดส่งอาหารจึงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างสำคัญ ซึ่งเหตุนี้ทำให้ความต้องการต่อหุ่นยนต์ส่งอาหารตามวิทยาลัยต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน[1] สตาร์ชิปและบริษัทรายอื่น ๆ เช่น กีวีบอต (kiwibot) ได้ปรับการใช้งานหุ่นยนต์ส่งอาหารหลายร้อยตัวไปยังสถาบันการศึกษาจำนวนมากหรือในบางถนนตามเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐและสหราชอาณาจักร นอกจากนั้น บริษัทที่บริการจัดส่งอาหารยังเพิ่มหุ่นยนต์ส่งของลงไปในแพลตฟอร์มของบริษัทด้วย ตัวอย่างเช่น กรับฮับ (Grubhub) ได้ร่วมมือกับยานเดกซ์ในการให้บริการตามสถานศึกษา สำหรับข้อจำกัดของการใช้หุ่นยนต์ส่งอาหารนั้น คือการขาดความสามารถในการจัดส่งในกรณีได้รับคำสั่งพิเศษ เช่น วางอาหารไว้ที่หน้าประตู และไม่สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ที่ยากลำบากได้ ซึ่งด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้ควบคุมอาจต้องสั่งการระยะไกลเพื่อช่วยหุ่นยนต์ให้เดินทางผ่านสิ่งกีดขวางไปได้[1]

ขนส่งของชำ[แก้]

Robot delivering groceries.
แดกซ์บอต (Daxbot) กำลังขนส่งของชำ

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2018 บริษัทสตาร์ชิปเทโนโลจิสได้เปิดตัวบริการส่งของชำในมิลตันคีนส์ ประเทศอังกฤษ ร่วมกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้าอย่างโค-โอพี (The Co-op) และเทสโก้[3] โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 สตาร์ชิปเทคโนโลจิสได้กล่าวว่า มิลตันคีนส์มี "ฝูงหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก"[4]

ช่วงต้น ค.ศ. 2022 มีการเปิดตัวของนูริช + บลูม (Nourish + Bloom) ซึ่งเป็นร้านขายของชำอัตโนมัติที่มีเจ้าของเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาแห่งแรกของโลก โดยร้านอัตโนมัตินี้ประมวลผลสินค้าโดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับการมองเห็นควบคู่ไปกับเสียงจากปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับท่าทาง นูริช + บลูม มีบริการจัดส่งสินค้าโดยใช้พาหนะจากวิทยาการหุ่นยนต์ ซึ่งดัดแปลงโดยแดกซ์บอต[5] ซึ่งเริ่มการใช้งานในเมืองฟิลอแมธ รัฐออริกอน และเพิ่มการลงทุนผ่านการระดมทุนจากหลากหลายผู้คน ทำให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ที่สามารถเดินทางได้ไกลถึง 10 ไมล์ (ราว 16 กิโลเมตร) ด้วยความเร็ว 4 ไมล์ต่อชั่วโมง รวมทั้งมีพื้นที่บรรทุกสินค้าที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อีกด้วย[6]

ขนส่งบรรจุภัณฑ์[แก้]

หุ่นยนต์ส่งของของสตาร์ชิปเทคโนโลจิส กำลังข้ามถนนในกรุงทาลลินน์ (ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 2022)

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 แอมะซอนเปิดตัวบริการทดลองส่งบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กสำหรับลูกค้าแอมะซอน ไพร์ม (Amazon Prime) โดยใช้หุ่นยนต์ส่งของที่เรียกว่าแอมะซอนสเกาต์ (Amazon Scout) การทดสอบเสร็จสมบูรณ์ในภูมิภาคซีแอตเทิลและเริ่มขยายสู่เออร์ไวน์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แอตแลนตาในรัฐจอร์เจีย และแฟรงคลินในรัฐเทนเนสซี[7] ใน ค.ศ. 2021 ภายหลังการทดสอบหุ่นยนต์จัดส่งบรรจุภัณฑ์เสร็จสิ้นใน 4 เมืองของสหรัฐ แอมะซอนจึงสร้างศูนย์พัฒนาแห่งใหม่ในประเทศฟินแลนด์เพื่อสร้างความก้าวหน้าเพิ่มเติมในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของบริษัท เพื่อจัดการกับการเดินทางในชีวิตจริงได้ดียิ่งขึ้น[8]

ขนส่งทางการแพทย์[แก้]

หุ่นยนต์ขนส่งทางการแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก

หุ่นยนต์ส่งของถูกตั้งค่าให้สามารถดำเนินการภารกิจในโรงพยาบาลได้เป็นจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน การปฏิบัติภารกิจแรกคือการจัดส่งอาหาร สิ่งส่งตรวจทางการแพทย์ และยา โดยหุ่นยนต์ส่งของมีการติดตั้งตัวรับรู้เป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถเดินทางภายในเส้นทางที่กำหนดไว้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถร้องขอขึ้นลิฟต์เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในอาคารหลายชั้นได้ สำหรับหุ่นยนต์ส่งของบางตัวอาจมีการใส่รหัสและระบบสแกนลายนิ้วมือเพื่อป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาภายในหุ่นยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นผลมาจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย ข้อมูลเมื่อ ค.ศ. 2019 มีโรงพยาบาลมากกว่า 150 แห่งในสหรัฐ และในแห่งอื่น ๆ ที่ได้ปรับใช้หุ่นยนต์ส่งของ การปฏิบัติภารกิจที่สองคือการลากบรรทุกผ้าลินินปนเปื้อนและสิ่งปฏิกูลทางการแพทย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้หุ่นยนต์ส่งของที่เหมาะสมประสิทธิภาพ เนื่องจากน้ําหนักที่ต้องบรรทุกอาจเป็นปริมาณหลายร้อยปอนด์ (หลายร้อยกิโลกรัม)[9][10]

ในประเทศอิสราเอล ศูนย์การแพทย์เชบา (Sheba Medical Center) ใช้หุ่นยนต์ส่งของเพื่อรับส่งยาเคมีบำบัดที่จัดเตรียมโดยแผนกเวชภัณฑ์ส่งให้ถึงพยาบาลโดยตรงเพื่อหย่นระยะเวลา[11]

บริการโรงแรม[แก้]

โยลันดา (Yolanda) หุ่นยนต์บริการโรงแรมที่โรงแรมโยเตล (Yotel) ประเทศสิงคโปร์ สำหรับใช้เพื่อนำทางจากห้องโถงสู่ห้องพักแขก

ช่วงปลาย ค.ศ. 2014 ซาวีโอเก (Savioke) บริษัทหุ่นยนต์วิสาหกิจเริ่มต้น เปิดตัวหุ่นยนต์บริการโรงแรมชื่อว่า "เรเลย์" (Relay) เมื่อพนักงานโรงแรมได้รับคำสั่งจากแขก พนักงานจะใส่ของไว้ในตัวเรเลย์ แล้วให้หุ่นยนต์ไปส่งของให้กับห้องพักแขก โดยใน ค.ศ. 2016 ฝูงหุ่นยนต์เรเลย์ได้มีการปรับใช้ในเครือโรงแรมห้าดาวหลายแห่ง[12] จนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2017 โรงแรมเอ็ม โซเชียลในประเทศสิงคโปร์เปิดตัวหุ่นยนต์บริการโรงแรมที่ชื่อว่า "ออรา" (AURA) เพื่อช่วยเหลือพนักงาน เช่น ส่งขวดน้ำดื่มและผ้าเช็ดตัวสำหรับห้องพักแขก ซึ่งนับเป็นบริการครั้งแรกที่อยู่นอกสหรัฐ[13]

บริษัท[แก้]

หุ่นยนต์ทางเท้า[แก้]

บริษัทหลายรายได้นำหุ่นยนต์ขนาดเล็กมาใช้งานอย่างจริงจัง โดยจุดประสงค์สำหรับจัดส่งบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กในระยะทางใกล้ ๆ เช่น อาหารหรือของชำ ซึ่งเพียงแค่ใช้พื้นที่ทางเท้าของถนนและเดินทางด้วยความเร็วที่เทียบได้กับความเร็วในการเดินเร็วเท่านั้น สำหรับบริษัทส่งของที่ใช้งานหุ่นยนต์อย่างจริงจัง มีดังนี้

หุ่นยนต์ทางเท้าที่ผลิตขึ้นโดยสตาร์ชิปกำลังส่งอาหารให้กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยออริกอนสเตต
  • สตาร์ชิปเทคโนโลจิส - โดยในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 บริษัทใช้งานหุ่นยนต์อัตโนมัติ 2,000 ฝูง ในการจัดส่งเชิงพาณิชย์โดยอัตโนมัติมากกว่า 5 ล้านครั้ง[14]
  • แอมะซอนสเกาต์ - ข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 แอมะซอนไม่ได้ทดสอบหุ่นยนต์ของตนอีกต่อไป เนื่องจากโครงการกําลังปรับเปลี่ยนทิศทางใหม่[15]

โดรน[แก้]

  • ซิปไลน์ - โดรนส่งเวชภัณฑ์และถุงเลือดผ่านร่มชูชีพ โดยในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2022 โดรนได้ทําการส่งของไปแล้วทั้งสิ้น 325,000 ครั้ง

ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์[แก้]

หุ่นยนต์ของส่งทางการแพทย์หน้าประตูลิฟต์ที่มีข้อมความระบุว่า "หุ่นยนต์มีสิทธิพิเศษ" (Robot Has Priority) ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์

จากการที่หุ่นยนต์เป็นระบบอัตโนมัติ ทำให้หุ่นยนต์ส่งของมักมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ทั่วไปได้โดยไร้ความช่วยเหลือจากผู้สั่งการที่เป็นมนุษย์ ทั้งในการเผชิญหน้าทั้งด้านบวกและด้านลบ[16] ผู้ผลิตหุ่นยนต์ส่งของอย่างสตาร์ชิปเทคโนโลจิสรายงานว่ามีผู้คนเตะหุ่นยนต์ของพวกเขา[16] อย่างไรก็ตาม ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงบวก และมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มองหุ่นยนต์ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกที่คล้ายคลึงกัน[17] ซึ่งทำให้ผู้คนรู้สึกห่วงใยหุ่นยนต์ ช่วยเหลือหุ่นยนต์เมื่อเกิดการขัดข้อง กังวลเรื่องการเดินทางของหุ่นยนต์ หรือกล่าวชื่นชมและขอบคุณหุ่นยนต์สําหรับบริการจัดส่ง[17]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Durbin, Dee-Ann (2 November 2021). "Robots hit the streets as demand for food delivery grows". The Associated Press. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  2. Holley, Peter (22 January 2019). "George Mason students have a new dining option: Food delivered by robots". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  3. Farrell, Steve (2019-04-01). "Co-op expands robot deliveries to second store". The Grocer. สืบค้นเมื่อ 2020-06-14.
  4. "Milton Keynes now has 'world's largest autonomous robot fleet' as Starship expand further". MKFM (Press release). Starship Technologies. May 30, 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-11-06.
  5. "Inside the first Black-owned autonomous grocery store". NBC News (ภาษาอังกฤษ). February 16, 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-02-23.
  6. Silverstein, Sam (February 3, 2022). "Retail startup opens first frictionless grocery store, eyes 500 more". Grocery Dive (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-02-23.
  7. Brown, Dalvin (22 July 2020). "Meet Scout: Amazon is taking its Prime Delivery Robots to the South". USA Today. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  8. Shead, Sam (1 July 2021). "Amazon plans to build delivery robot tech in Finland 放屁". CNBC. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  9. Chang, Althea (30 April 2015). "Pricy robots 'Tug' hospital supplies". CNBC. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  10. Weiner, Stacy (12 July 2019). "Robots make the rounds". Association of American Medical Colleges. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  11. Jeffay, Nathan (9 July 2012). "Drug-delivery robots deployed at Israel's largest hospital to cut chemo wait". The Times of Israel. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  12. Nichols, Greg (14 January 2016). "This room service robot is gaining ground in the world's posh hotels". ZDNet. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  13. Street, Francesca (15 August 2017). "Introducing AURA, the room service robot". CNN. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  14. Mukherjee, Supantha (June 21, 2023). "Estonia's Bolt, Starship in food delivery robot deal". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-07-14.
  15. Vincent, James (2022-10-07). "Amazon stops field tests of its delivery robot Scout". The Verge (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2023-07-14.
  16. 16.0 16.1 Hamilton, Isobel Asher. "People kicking these food delivery robots is an early insight into how cruel humans could be to robots". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-11-22.
  17. 17.0 17.1 "Why You Want to Pet the Food Delivery Robot". Bon Appétit (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-10-14. สืบค้นเมื่อ 2022-11-22.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หุ่นยนต์ส่งของ