อุ๋ยซี
อุ๋ยซี (หฺวางฟูเหริน / หฺวางชื่อ) 黃夫人 / 黃氏 | |
---|---|
เกิด | ไม่ทราบ |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
ชื่ออื่น | หฺวาง เยฺว่อิง (黃月英) |
คู่สมรส | จูกัดเหลียง |
บิดามารดา |
อุ๋ยซี[1] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หฺวางชื่อ (จีน: 黃氏; พินอิน: Huáng Shì) หรืออาจเรียกว่า หวางฟูเหริน (จีน: 黃夫人; พินอิน: Huáng Fūrén) นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักด้วยชื่อในคติชาวบ้านว่า หฺวาง เยฺว่อิง (จีน: 黃月英; พินอิน: Huáng Yuèyīng) เป็นภรรยาของจูกัดเหลียง อัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน ชื่อตัวของอุ๋ยซีไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ "หฺวาง เยฺว่อิง" เป็นเพียงชื่อสมมุติ ในคติชาวบ้าน อุ๋ยซีเป็นสตรีที่มีความรอบรู้ เรียนรู้ทั้งในด้านกลยุทธ์ ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการทำนายโชคชะตา จูกัดเหลียงได้ยินเรื่องความเฉลียวฉลาดของอุ๋ยซีจึงเกี้ยวและสมรสกับอุ๋ยซี
ในบันทึกประวัติศาสตร์
[แก้]มีการกล่าวถึงอุ๋ยซีเพียงครั้งเดียวในแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์คือในเซียงหยางจี้ (襄陽記; บันทึกเมืองซงหยง) ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 บันทึกในเซียงหยางจี้ถูกแทรกในฐานะอรรถาธิบายโดยเผย์ ซงจือ (裴松之) ในบทชีวประวัติจูกัดเหลียงในตำราประวัติศาสตร์สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) ที่เขียนโดยตันซิ่ว (陳壽 เฉิน โช่ว) ในคริสต์ศตวรรษที่ 3
บันทึกในเซียงหยางจี้ระบุว่าครั้งหนึ่งอุยสิง่าน (黃承彥 หฺวาง เฉิงเยี่ยน) พูดกับจูกัดเหลียงว่า "ข้าได้ยินว่าท่านกำลังหาภรรยา ข้ามีบุตรสาวอัปลักษณ์ที่มีผมเหลืองและผิวคล้ำ แต่ความสามารถเทียบเท่ากับท่าน" จูกัดเหลียงจึงสมรสกับบุตรสาวของอุยสิง่าน[2] ในเวลานั้น มีคำกล่าวในหมู่บ้านว่า "อย่าเอาเยี่ยงอย่างขงเบ้งในการเลือกภรรยา หาไม่จะได้ลงเอยบุตรสาวอัปลักษณ์ของอาเฉิง[a]"[3]
ในคติชาวบ้าน
[แก้]มีเรื่องเล่าว่าอุ๋ยซี (หฺวาง เยว่อิง) ท้าทายผู้มาสู่ขอตนโดยอ้างว่าตนนั้นอัปลักษณ์ เมื่อผู้สู่ขอมาเยี่ยม อุ๋ยซีก็จะซ่อนหน้าอยู่ใต้ผ้าคลุมหน้าเพื่อทดสอบผู้สู่ขอ เมื่อจูกัดเหลียงมาหาอุ๋ยซี แสงจันทร์ส่องบนร่างของอุ๋ยซี ศีรษะของอุ๋ยซีคลุมด้วยผ้าคลุม 2 ผืน จูกัดเหลียงแตกต่างจากชายคนอื่น ๆ คือเข้าไปในห้องโดยลำพังและไม่ลังเลที่จะถอดผ้าคลุมออก เมื่อถอดผ้าคลุมผืนแรกจากใบหน้า ก็กล่าวอย่างสงบว่าความอัปลักษณ์ของอุ๋ยซีเป็นการพูดให้เข้าใจผิดของบิดาอุ๋ยซี จูกัดเหลียงจึงได้รับรางวัลเป็นใบหน้าที่มีเปี่ยมสุขและพึงพอใจของอุ๋ยซี
คติชาวบ้านเล่าว่าอุ๋ยซีไม่เพียงแต่เป็นผู้สร้างโคยนตร์ของจูกัดเหลียง แต่ยังสร้างสิ่งประดิษฐ์อันน่าอัศจรรย์อื่น ๆ เช่น หุ่นกลไกทำอหาร อุ๋ยซีมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานหลังจูกัดเหลียงผู้เป็นสามีเสียชีวิตในปี ค.ศ. 234 ขณะนอนป่วยใกล้เสียชีวิต อุ๋ยซีสอนจูกัดเจี๋ยมบุตรชายให้ "จงรักภักดีและกตัญญูกตเวที"
มีอนุสรณ์สถานของอุ๋ยซีในบริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นบ้านเกิดของอุ๋ยซีที่หฺวางเจียวาน (黄家湾) ในหมู่บ้านเหยาอาน (姚庵村 เหยาอานชุน) นอกนครเซียงหยาง[4]
ในวัฒนธรรมประชานิยม
[แก้]อุ๋ยซี (หฺวาง เยฺว่อิง) ปรากฏในฐานะตัวละครที่เล่นได้ในซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์และวอริเออร์โอโรจิของโคเอ อุ๋ยซีถูกกล่าวถึงด้วยชื่อ "เยฺว่ อิง" (Yue Ying) จนถึง ไดนาสตีวอริเออร์ 7 และตั้งแต่ ไดนาสตีวอริเออร์ เน็กซ์ (บนเพลย์สเตชัน วิตา) และ วอริเออร์โอโรจิ 3 อุ๋ยซีถูกกล่าวถึงด้วยชื่อ "เยฺว่อิง" (Yueying) แทน อุ๋ยซียังปรากฏในเกมอื่น ๆ ที่ผลิตโดยโคเอ เช่น เค็ซเซ็ง II และทุกภาคของซีรีส์เกมกลยุทธ์ โรแมนซ์ออฟเดอะทรีคิงดัมส์
อุ๋ยซียังปรากฏในวิดีโอเกมอื่น ๆ เช่น Hou Feng San Guo Online, Zong Heng San Guo Online, Meng Jiang Zhuan Online และ Qun Ying Fu Online
อุ๋ยซีปรากฏในมังงะเรื่อง มหาสงคราม 32 แม่มด
อุ๋ยซีรับบทแสดงโดยกุ่ย กุ่ยในละครโทรทัศน์ไต้หวัน เด็กพันธุ์แสบ 3 แสบสามก๊ก ซึ่งเป็นการล้อเลียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊ก โดยมีฉากเป็นโรงเรียนมัธยมปลายในยุคปัจจุบัน
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ อาเฉิง (阿承) หมายถึงอุยสิง่าน (黃承彥 หฺวาง เฉิงเยี่ยน)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ("แลจูกัดเจี๋ยมคนนี้เปนบุตรของขงเบ้งเกิดด้วยนางอุ๋ยซี ๆ นี้รูปชั่วตัวดำหน้าออกฝี มีลักษณวิปริต ทั้งกายจะหางามสักสิ่งหนึ่งก็มิได้ แต่ทว่ามีปัญญาพาทีหลักแหลม รู้วิชาการในแผ่นดินแลอากาศ ขงเบ้งเห็นดังนั้นจึงเลี้ยงเปนภรรยาได้บอกศิลปศาสตร์ทั้งปวงให้นางนั้นเปนอันมาก ครั้นขงเบ้งถึงแก่ความตายก็เปนหม้ายอยู่") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๖". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 18, 2024.
- ↑ (襄陽記曰:黃承彥者,高爽開列,為沔南名士,謂諸葛孔明曰:「聞君擇婦;身有醜女,黃頭黑色,而才堪相配。」孔明許,即載送之。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (時人以為笑樂,鄉里為之諺曰:「莫作孔明擇婦,正得阿承醜女。」)) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ 王佳 (Wang Jia) (22 April 2009). "隆中风景区姚庵村:诸葛夫人故乡 [Translation: Yao'an Village, scenery in Longzhong District: The hometown of Mrs. Zhuge]" (ภาษาจีน). 湖北日报 (Hubei Daily). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-01. สืบค้นเมื่อ 10 May 2013.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).