หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช | |
---|---|
หม่อมเจ้า ชั้น 2 | |
ประสูติ | พ.ศ. 2397 - 2399 |
สิ้นชีพตักษัย | พ.ศ. 2477 – 2479 (ราว 80 ปี) |
สวามี | พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร นายเวร (ผึ้ง) ออกญานครบาล (มัน) ออกญาแสรนธิบดี (ปัล) พระพิทักราชถาน (ทอง) ขุนศรีมโนไมย |
พระบุตร | นุด หรือ นุศ |
ราชสกุล | ปราโมช |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ |
พระมารดา | หม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช |
หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช (พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์)[1] เมื่อราวปี พ.ศ. 2397 - 2399 เมื่อเจริญวัยทรงหมั้นหมายกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงทราบภายหลังว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรมีหม่อมอยู่ในวังแล้วหนึ่งคน คือ หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา ด้วยมีดำริก้าวหน้า หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงไม่ทรงยินยอม ทรงบังคับให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระคู่หมั้น เลิกรากับหม่อมสุ่น แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ไม่ยินยอม นอกจากหม่อมเจ้าฉวีวาดไม่ยินยอมด้วยแล้ว ยังแสดงพระอาการเอาแต่ทัยผิดวิสัยกุลสตรีในสมัยนั้น คือโยนของหมั้นทิ้งทางพระบัญชรตำหนักเรี่ยราดกับพื้น จนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้องให้มหาดเล็กมาเก็บคืนไป
หม่อมเจ้าฉวีวาด เสกสมรสกับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และสนิทสนมกับครอบครัวของโทมัส น็อกซ์ กงสุลประเทศอังกฤษ ในเวลาต่อมาหม่อมเจ้าฉวีวาดพัวพันกับความขัดแย้งระหว่างวังหลวงและวังหน้า โดยในวันรุ่งขึ้นหลังเหตุระเบิดที่ตึกดินในวังหลวง[2] หม่อมเจ้าฉวีวาดว่าจ้างเรือสำเภาในการขนสมบัติและผู้ติดตามหนีไปยังประเทศกัมพูชา พร้อมคณะละครของเจ้าจอมมารดาอัมพา ในรัชกาลที่ 2 ซึ่งถือเป็นคณะละครที่มีชื่อเสียงที่สุดในราชสำนักสยาม จนเรือถึงราชสำนักกัมพูชา ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (พระนามเดิม คือ นักองค์ราชาวดี) ด้วยความพอพระทัยในหม่อมเจ้าฉวีวาดและคณะละคร โรงละครโรงใหญ่ของเจ้าจอมมารดาอำภา จึงได้กลายเป็นต้นแบบของละครของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน
ครั้นเวลาล่วงเลยไป หม่อมเจ้าฉวีวาด เสด็จนิวัติสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวชเป็นชีและใช้ชนม์ชีพอย่างสงบ กระทั่งถึงชีพิตักษัยเมื่อชันษาราว 80 ปี[3]
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวอ้างในหนังสือ "โครงกระดูกในตู้" ว่าพระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์โปรดสถาปนาหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เป็นพระชายา[4] มีพระอิสริยยศเป็นพระราชเทวี มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือ พระองค์เจ้านโรดม พานคุลี[5] จึงมีการกล่าวถึง "โครงกระดูกในตู้" ว่าให้ข้อมูลเกี่ยวกับหม่อมเจ้าฉวีวาดผิดจากข้อเท็จจริงทั้งในเว็บพันทิป[6] และเรือนไทย โดยได้ให้ข้อมูลว่าหม่อมเจ้าฉวีวาดมิได้เสกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร และไม่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตวังหน้า แท้จริงแล้วหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมชได้สมรสกับสามัญชนกัมพูชา[7] 5 คน มีบุตรชายเพียงคนเดียวคือ นุด หรือ นุศ[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ↑ วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2542. 359 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7377-29-2
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2550. 360 หน้า. หน้า หน้าที่ 287. ISBN 978-974-323-989-2
- ↑ "ความรู้คือประทีป" (PDF). Esso. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2013.
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2550. 360 หน้า. หน้า หน้าที่ 286. ISBN 978-974-323-989-2
- ↑ "โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร". พันทิป. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2013.
- ↑ หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมชได้สมรสกับสามัญชนกัมพูชา
- ↑ "โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร". เรือนไทย. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2013.