หมู่บ้านงิ้วงาม

พิกัด: 17°39′58″N 100°10′28″E / 17.6662191°N 100.1745629°E / 17.6662191; 100.1745629
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมู่บ้านงิ้วงาม
Ban Ngew-Ngam


ป้ายหมู่บ้านงิ้วงาม ถ่ายเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
พิกัดภูมิศาสตร์:17.6662191° 100.1745629°[ลิงก์เสีย]

ข้อมูลทั่วไป
ตำบล งิ้วงาม
อำเภอ เมือง
จังหวัด อุตรดิตถ์
รหัสไปรษณีย์ 53000
การปกครอง
ผู้ใหญ่บ้าน นายเจริญ ปาด้วง
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ -
ประชากร 667

หมู่บ้านงิ้วงาม หรือชื่อเดิม บ้านเงี้ยวงาม, บ้านเงี่ยงงาม เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวบ้านส่วนใหญนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง มีโรงเรียน 1 แห่ง ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันหมู่บ้านงิ้วงาม อยู่ในระดับการปกครองพื้นที่มีหมู่เดียว จำนวน 214 หลังคาเรีอน ปัจจุบันมีนายเจริญ ปาด้วง เป็นผู้ใหญ่บ้านงิ้วงาม[1]

ประวัติ[แก้]

ความเป็นมาชื่อหมู่บ้าน[แก้]

หมื่นพิศาลสหกิจ (ใส ป๊อกหลง) ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านงิ้วงาม

ตำนานกล่าวว่า ในสมัยอยุธยาเมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก แต่ไม่สำเร็จจึงขึ้นมาตีเมืองพิชัย แต่ก็พ่ายแพ้แก่พระยาพิชัย จึงเลื่อนทัพมาตีเมืองพระฝาง และยึดเมืองพระฝางได้สำเร็จและมาตั้งบ้านงิ้วงาม เป็นเมืองหน้าด่าน ซึ่งในบริเวณนั้นคือ วัดงิ้วงามล่างในปัจจุบัน ในระหว่างที่กองทัพพม่ามาตั้งทัพอยู่ที่บ้านงิ้วงาม (ในปัจจุบัน) นายทัพของพม่าได้นำลูกสาวมาด้วย พวกทหารพม่าเหล่านั้นเรียกว่า “เงี้ยว” (ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในพม่า) ชนเผ่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองชาวบ้านจึงพากันเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “เงี้ยวงาม” เมื่อเรียกกันมานาน ๆ เข้าก็เรียกเพี้ยนเป็น “งิ้วงาม” ในปัจจุบัน

ในหมู่บ้านนี้นอกจากชนชาติพม่าแล้ว ยังมีชนชาติเวียงจันทร์ซึ่งมีหลักฐานอีกว่า ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบ้านปากฝางปัจจุบัน ส่วนลาวเวียงจันทร์ ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านงิ้วงามปัจจุบัน เช่นเดียวกัน[1]

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์[แก้]

บ้านเรือนภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนบ้านงิ้วงามในปัจจุบัน

การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบ้านงิ้วงามในอดีตนั้น หมู่บ้านเรียงรายไปตามแม่น้ำน่าน สมัยโบราณราษฎรอาศัยอยู่ริมแม่น้ำน่าน รวมทั้งเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้า จากจังหวัดน่าน ลงมาถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ การลำเลียงขนส่งสินค้าต้องผ่านหมู่บ้านงิ้วงาม หรือ ตำบลงิ้วงาม

ต่อมามีการตั้งหมู่บ้านงิ้วงาม หมู่ 4 ขึ้น นายใส ป๊อกหลง จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ของหมู่ที่ 4 โดยใช้ชื่อว่า หมื่นพิศาลสหกิจ ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิกทำบุญตักบาตรที่วัดงิ้วงาม ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน มีความเดือดร้อนในเรื่องตลิ่งพังและน้ำหลากในฤดูฝน ทำให้การสัญจรไปมาไม่สะดวก จึงคิดย้ายวัดให้มาอยู่ในชุมชน โดยไปตั้งที่บนเขา ซึ่งปัจจุบันคือเขตพุทธาวาสดอยแก้ว ต่อมาเกิดน้ำท่วมทางขาดทำให้การสัญจรไปมาไม่สะดวกเกิดอันตรายในฤดูฝน สมัยนั้นโรงเรียนจะต้องตั้งอยู่ในวัดรวมกับวัด ซึ่งส่วนใหญ่ตามชื่อก็จะเป็นโรงเรียนที่มีคำว่าวัดนำหน้า

วัดเขาแก้ว ศาสนสถานในชุมชนบ้านงิ้วงาม

ดังนั้นหมื่นพิศาลสหกิจ ซึ่งได้เป็นผู้นำและมีการพัฒนาในการย้ายวัดและโรงเรียน ถือเป็นการก่อตั้งวัดเขาแก้วในปัจจุบัน โดยการอุทิศที่ดินและได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชน เพราะเห็นว่าวัดเดิมตั้งอยู่บนเขา (เขตพุทธาวาสวัดดอยแก้ว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของวัดเขาแก้วในปัจจุบัน) ห่างไกลชุมชนโดยมีทางคมนาคมไม่สะดวก ถูกน้ำท่วมตัดขาดในฤดูฝน สะพานพัง มีความยากลำบากในการสัญจร จึงได้มีมติย้ายวัดเขามาอยู่ในชุมชนเป็นวัดเขาแก้วในปัจจุบัน และเห็นว่ามีที่ดินยังพอเหลือที่จะให้สร้างโรงเรียน ต่อมาจึงได้แยกโรงเรียนออกจากวัดแต่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และเป็นโรงเรียนบ้านงิ้วงามในปัจจุบัน

นับแต่นั้นมาจึงมีการรวมตัวจากญาติพี่น้องในหลายๆ ที่เข้ามาเป็นสมาชิกของหมู่บ้าน จึงกลายเป็นหมู่บ้านจากเดิมประมาณ 40 หลังคาเรือน เพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยหลังคาเรือน[1]

สภาพด้านสังคม[แก้]

เขตพุทธาวาสดอยแก้ว ศาสนสถานในชุมชนบ้านงิ้วงาม

ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านงิ้วงามเป็นคนไทยภาคเหนือพูดภาษาพื้นเมือง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กำเมือง” (ภาษาของคนภาคเหนือ)หมู่บ้านงิ้วงาม หมู่ที่ 4 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 667 คน เป็นชายจำนวน 327 คน เป็นหญิงจำนวน 340 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 214 ครัวเรือน[1]

สภาพภูมิศาสตร์[แก้]

เทศบาลตำบลงิ้วงาม

บ้านงิ้วงาม หมู่ 4 ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ประมาณ 7 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำสำคัญคือแม่น้ำน่าน มีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และถนนลาดยาง เป็นเส้นทางหลัก ลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบ ลักษณะภูมิประเทศของตำบลงิ้วงามสามารถแบ่งได้เป็น พื้นที่ราบน้ำท่วมไม่ถึง ใช้ประโยชน์ในการทำนาปลูกพืชไร่และเกษตรกรรมอื่น ๆ และพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ จะอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำน่านที่ไหลผ่าน ส่วนใหญ่ทำใช้ประโยชน์ในการเกษตร ปลูกยาสูบ พืชผัก ข้าวโพดและสวนผลไม้

บ้านงิ้วงาม หมู่ 4 มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียงดังนี้[1]

  1. ทิศเหนือ บ้านขุนฝาง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  2. ทิศตะวันออก บ้านปากฝาง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  3. ทิศใต้ บ้านคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  4. ทิศตะวันตก ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตดิตถ์

การปกครอง[แก้]

ทำเนียบผู้ปกครองหมู่บ้านงิ้วงาม หมู่ 4 จากอดีตจนถึงปัจจุบัน[1]

  1. นายใส ป๊อกหลง
  2. นายหิง ปาด้วง
  3. นายปา ปาด้วง
  4. นายแก้ว ท้วมจันทร์
  5. นายอ่อน ทองเณร
  6. นายลำภู ปาด้วง
  7. นายลำพันธ์ ปาด้วง
  8. นายสี ทองเณร
  9. นายอำพล มีสวัสดิ์
  10. นายเจริญ ปาด้วง คนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ[แก้]

หมู่บ้านงิ้วงาม มีพื้นที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ โดยอาศัยแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ช่วยในการทำนา ปลูกพืชไร่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำการเกษตร และอาชีพรองลงมาคือ รับจ้าง และค้าขาย [1]

วัฒนธรรมประเพณี[แก้]

ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเถรวาท ประเพณีต่างๆ ยึดถือปฎิบัติเหมือนกันกับชาวพุทธเถรวาทในแถบใกล้เคียง เช่น บวชพระ ประเพณีแต่งงาน งานศพ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีวันลอยกระทง ฯลฯ

โดยศูนย์กลางของชุมชนงิ้วงาม คือวัดเขาแก้ว, เขตพุทธาวาสวัดดอยแก้ว, หลวงพ่อนก และศาลปู่พระยาแก้ว-พระยาหลวง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านงิ้วงามนับถือ[1]


อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 พระเกษม รติโก (เสืออยู่สาย) และพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี. (๒๕๕๙). โครงการบันทึกข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย จังหวัดอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : หน่วยวิทยบริการวัดหมอนไม้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

17°39′58″N 100°10′28″E / 17.6662191°N 100.1745629°E / 17.6662191; 100.1745629