สุรพงศ์ อำพันวงษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 (85 ปี) เป็นนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยศาสตร์ [1] มีชื่อเสียงจากการจัดรายการตอบปัญหาทางการแพทย์ ออกอากาศทางโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ชื่อรายการ "ปัญหาชีวิตและสุขภาพ" ตั้งแต่ครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 [2] และยังออกอากาศอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2550 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นับเป็นรายการโทรทัศน์ไทยที่ออกอากาศยาวนานที่สุดถึง 32 ปี และรายการ "หมอประจำบ้าน" ทาง สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2540 โดยผู้ดำเนินรายการเพียงคนเดียว [2]

นายแพทย์สุรพงศ์เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 4 คนของหลวงประสานสินธุ์ (ทองคำ อำพันวงษ์) และนางพิสมัย อำพันวงษ์ [2] บิดาเสียชีวิตตั้งแต่เด็กเนื่องจากป่วยเป็นวัณโรค นายแพทย์สุรพงศ์จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบแพทยศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2505 จบปริญญาเอกด้านศัลยกรรมประสาทจากสหรัฐอเมริกา และแคนาดา เมื่อ พ.ศ. 2514 เริ่มรับราชการที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา จนดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกโรคประสาทในปี พ.ศ. 2518 และย้ายไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลพญาไท 1 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ [3] ปัจจุบันยังคงตรวจรักษาโรค และเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการแพทย์และธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) เครือโรงพยาบาลพญาไท

นายแพทย์สุรพงศ์ สมรสกับนางสดศรี อำพันวงษ์ (บุญยะโชติ) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีบุตรชายสองคนชื่อ สรโชติ อำพันวงษ์ (สมรสกับ ธีรดา โชควัฒนา บุตรสาวของบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์)และ รัฐพงษ์ อำพันวงษ์ ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล (ภายในสาขาสำนักงานใหญ่ ซ.ศูนย์วิจัย)

ปัจจุบันนายแพทย์สุรพงศ์ ยังเขียนบทความด้านสุขภาพตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และหนังสือพิมพ์บ้านเมือง

พิธีกรรายการโทรทัศน์[แก้]

ฉายาของนายแพทย์สุรพงษ์ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

  • หมอยาคูลท์ เนื่องจากทำรายการใดก็ตาม จะมีนมเปรี้ยวยาคูลท์เป็นผู้สนับสนุนรายการอยู่เสมอ (อนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 รายการปัญหาชีวิตและสุขภาพ มีบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เป็นผู้สนับสนุนรายการเข้ามาแทนที่ จนกระทั่งยุติรายการ แต่อย่างไรก็ตาม ฉายานี้จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น)
  • หมอเอลวิส เนื่องจากทรงผมคล้ายคลึงกับเอลวิส เพรลลีย์ นักร้องเพลงร็อคชาวอเมริกันที่เสียชีวิตไปแล้ว

อ้างอิง[แก้]

  1. นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ เก็บถาวร 2010-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงพยาบาลพญาไท
  2. 2.0 2.1 2.2 บุญสม อัครธรรมกุล, สุรพงศ์ อำพันวงษ์, นายแพทย์. ชีวิตหลังเสื้อกาวน์ของหมอสุรพงศ์. กรุงเทพฯ : เค.เค.พับลิชชิง, 2551. 186 หน้า. ISBN 978-974582478-2
  3. "คำประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับรางวัลมหิดลทยากรประจำปี 2542". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-08. สืบค้นเมื่อ 2009-02-12.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]