สายเพชร ยนตรกิจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สายเพชร ยนตรกิจ
ชื่อจริงนายชอฮั่ง แซ่หลาย หรือชอหั่ง แซ่ไหล
ฉายามังกรร้าย
รุ่นเฟเธอร์เวท
เกิด11 กันยายน พ.ศ. 2475 (91 ปี)
โผวเล้ง
ชกทั้งหมด6 (เฉพาะมวยสากล)
ชนะ4
ชนะน็อก0
แพ้1
เสมอ1

สายเพชร ยนตรกิจ เป็นนักมวยไทยและนักมวยสากลชาวจีนที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ยังเด็ก ประสบความสำเร็จในการชกมวยไทย จนโด่งดัง หลังเลิกชกยังคงพำนักในประเทศไทย และมีฐานะมั่นคง ยังถือใบต่างด้าวจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้เปลี่ยนมาถือสัญชาติไทย[1]

ประวัติ[แก้]

สายเพชรเกิดเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2475 ที่เมืองโผวเล้ง ประเทศจีน บิดาชื่อหลายหลงจ๋าย มารดาชื่อ พัวฮั่งย้ง ในวัยเยาว์เมืองโผวเล้งเกิดภัยแล้ง ผู้คนอดอยากล้มตายมากรวมทั้งบิดาของสายเพชร เขาจึงติดตามมารดาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยที่จังหวัดเพชรบุรี ในวัยเยาว์ สายเพชรรับจ้างทำงานทุกอย่างเท่าที่มีคนจ้าง ไม่ได้เรียนหนังสือแต่ฝึกอ่านเอง สายเพชรมีใจรักกีฬาหมัดมวย สุดท้ายจึงได้ไปหัดมวยที่ค่าย ณ สายเพ็ชรกับ ณรงค์ ฉายะสนธิ ขึ้นชกมวยไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2495 ใช้ชื่อว่ากิมหั่ง ณ สายเพ็ชร เสมอกับ อำนาจ นฤภัยและชนะน็อค สุชา นฤภัย แต่เพราะมารดาไม่สนับสนุน สายเพชรจึงกลับมายึดอาชีพช่างทาสี เคยไปทำงานในกรุงเทพฯระยะหนึ่ง แต่ไปมีปัญหากับนักเลงเจ้าถิ่น จึงต้องกลับมาอยู่เพชรบุรีอย่างเดิม

ต่อมามีผู้แนะนำให้ไปอยู่ที่ค่ายยนตรกิจ และขึ้นชกมวยไทยในชื่อสายเพชร ยนตรกิจ สายเพชรชกชนะติดต่อกันหลายคร้ง จนชนะ จเร ราชวัฏ รองแชมป์เวทีราชดำเนิน ทำให้มีโอกาสได้ชิงแชมป์ แต่ระหว่างที่รอชิงเขาไปชกแพ้คะแนนจุฬา ลูกทักษิณที่ยะลา นับเป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรก ทำให้สายเพชรต้องขึ้นชกอีกหลายครั้ง จึงได้ชิงแชมป์มวยไทยรุ่นเฟเธอร์เวทกับจุฬา ลูกทักษิณ ปรากฏว่าครั้งนี้ สายเพชรชนะคะแนนได้แชมป์มาครอง เมื่อ พ.ศ. 2498 จุฬาขอชกแก้มืออีกสองครั้ง แต่สายเพชรก็เป็นฝ่ายชกชนะได้ทั้งหมด เมื่อหาคู่ชกในแบบมวยไทยยาก สายเพชรหันมาชกมวยสากล ชนะคะแนนฤทธิรงค์ เลิศฤทธิ์ จากนั้นกลับมาชกมวยไทยอีก และชนะนักมวยชื่อดังอีกหลายคน เช่น กิมหั่ง ศิษย์ผล สุรศักดิ์ บาร์โบส รักเกียรติ เกียรติเมืองยม อมรศักดิ์ บาร์โบส จนกระทั่งป้องกันแชมป์ราชดำเนินชนะอิศรศักดิ์ บาร์โบส แล้ว สายเพชรหาคู่ชกยาก จึงสละแชมป์เวทีราชดำเนินและหันมาชกมวยสากลอย่างจริงจัง

สายเพชรไปชกมวยสากลที่ฟิลิปปินส์ เสมอกับลิตเติล ซีซาร์ เมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2500 โดยสายเพชรชกซีซาร์จนแตกและเกือบน็อคได้ แต่ซีซาร์ประคองตัวจนครบยกได้ ต่อมา สายเพชรขึ้นชกกับ อีมิน ทินเด แชมป์ฟิลิปปินส์รุ่นเฟเธอร์เวท เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ผลปรากฏว่าสายเพชรชนะคะแนน สายเพชรกลับมาเมืองไทยเมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ทั้งเวทีราชดำเนินและลุมพินีต่างแย่งตัวจะนำสายเพชรไปชก สุดท้ายสายเพชรเลือกไปชกที่เวทีลุมพินี สายเพชรชกชนะนักมวยญี่ปุ่นอีก 2 ครั้ง ก่อนจะแพ้คะแนน มิอูราที่เวทีลุมพินี เพราะลดน้ำหนักมากเมื่อต้นปี พ.ศ. 2501[2]

หลังจากชกแพ้ครั้งนั้น สายเพชรหยุดชกไประยะหนึ่ง แล้วกลับมาชกอีกครั้งชนะคะแนนสุรพรชัย เจริญเมือง จากนั้น จึงเลิกชกมวย เมื่อ พ.ศ. 2503[3] หันไปประกอบอาชีพช่างทาสีตามเดิม ชีวิตครอบครัว สมรสกับ น.ส. เง็กลั้ง แซ่ลิ้ม มีบุตรสามคน ปัจจุบันมีฐานะค่อนข้างดีจากกิจการรับเหมา และยังคงถือใบต่างด้าว ไม่ได้โอนสัญชาติมาถือสัญชาติไทย

อ้างอิง[แก้]

  • สมพงษ์ แจ้งเร็ว. สายเพ็ชร ยนตรกิจ มังกรร้ายแห่งโผวเล้ง. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 26 เล่มที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 หน้า 123 – 129
  1. พ.ศ. 2548 อ้างถึงใน สมพงษ์, 2548
  2. อาว์สังข์ สุดเสียง. "อาว์สังข์" เขียน มังกรร้าย สายเพชร ยนตรกิจ. มวยโลก ฉบับที่ 759 เดือนมีนาคม หน้า 22 – 25
  3. เหตุที่สายเพชรจะเลิกนั้นกล่าวเป็นสองอย่าง อาว์สังข์ (2552) ระบุว่า ถูกแทงเย็บถึง 20 เข็ม ส่วนสมพงษ์ (2548) ระบุว่าเพราะได้ค่าตัวไม่คุ้มค่า