สังข์ศิลป์ชัย
สังศิลป์ชัย หรือ สังข์ศิลป์ไชย เป็นวรรณคดีชิ้นเอกเรื่องหนึ่งในไทยและลาว (ล้านช้างหรือลาวในปัจจุบันเรียก สินไซ[1]) ประพันธ์ขึ้นโดยพระเจ้าสุวรรณปางคำ หรือที่รู้จักในพระนาม เจ้าปางคำ ปฐมกษัตริย์แห่งนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) ในราว พ.ศ. 2192 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ทุกถ้อยคำที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้มีความหมายไพเราะ แม้ว่าในบทที่แสดงความโกรธแค้นก็ใช้ถ้อยคำสุภาพไม่หยาบคาย และผู้รจนาหนังสือเล่นนี้ยังเป็นปราชญ์ที่มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแตกฉานในภาษาบาลี มีความรู้ภาษาสันสกฤตและราชประเพณีเป็นอย่างดี ภาคเหนือรู้จักในชื่อ สังสิงธนูไชย ภาคอีสานรู้จักในชื่อ สินไซ ภาคกลางเเละใต้รู้จักในชื่อ สังข์ศิลป์ชัย
ประวัติ
[แก้]แต่เดิมนั้นสังข์ศิลป์ชัยแต่งขึ้นโดยเจ้าปางคำแห่งราชวงศ์เชียงรุ่งแสนหวีโบราณซึ่งได้อพยพไพร่พลครัวเรือนหนีจีนฮ่อมาแต่เชียงรุ่ง และได้เข้ามาพึ่งโพธิสมภารอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งกล่าวว่าท่านแต่งขึ้นมาโดยว่ากันว่าตัดพ้อเรื่องราวของตนที่โดนจีนรุกรานประหนึ่งดั่งพวกยักษ์มาร แต่พระองค์ก็ทรงให้อภัยเมตตาธรรมดำเนิน มีการแต่งเรื่องราวขึ้นที่เป็นร้อยแก้ว และมีการแต่งปรับปรุงโดยมีการเขียนแบบร้อยกรองขึ้นภายหลัง โดยที่ได้ให้ศัพท์โบราณและศัพท์ทางพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง แต่มีความงามในทางอักษรศาสตร์อันเป็นสุนทรียะในบทประพันธ์และมีเนื้อเรื่องชวนติดตาม อันดัดแปลงมาจากปัญญาสชาดก โดยปรากฏชื่อเจ้าปางคำ ผู้รจนากลอนความว่า
เมื่อนั้น ปางคำคุ้มคะนึงธรรมทงมาก
เห็นรุ่งยามยอดเแก้วเที่ยวใช้ชาติ
พระองค์ใคร่จักตกแต่งแปปั่น
เป็นไทเองชุลีเชินสรวง
ช่วยญาณยามแค้นจตุโลกาก้ำ
ไอศวรรย์แสนทีปกับทั้งครุฑนาค
เนานางท้าวเทพคุณเชินช่วย
รีร่ำป้องแปลงกาบกอนปะจิดไว้
แก่ไตร่ตรองบุณแว่นแยงยามแค้น
ตามที่เองชุลีเท้าทวานสาม
ประนมนอบมานี้คุณย่อมยกใส่เก้า
ตะเกิงตั้งชู่ยาม
บัดนี้ข้า จักปุนแต่งตั้งไขชาติแปธรรมก่อน
แล้วเป็นที่ยุแยงฝูงพ่ำเพงพายช้อย
ควรที่อัศจรรย์ล้ำโลกา
โลกเฮานี้มีในห้าสิบชาติ
แท้เที่ยวใช้ส่งเวร แท้แล้ว
ปัจจุบันพบหลักฐานเนื้อเรื่องเป็นดั้งเดิมเป็นภาษาไทยคือ (นะมัดถุ) เรื่องสังข์ศิลป์ชัยได้รับความนิยมในลาวเช่นกันและทางลาวก็ได้แต่งเพิ่มได้แก่ ยักกะสันบั้น สุบินบั้น บรรพชาบั้น วิปวาสาบั้น[2] ซึ่งที่ลาวได้แต่งขึ้นก็ได้รับความนิยมจากทางอีสานจนมาถึงอยุธยาโดยมีผู้คัดลอกเขียนใส่ใบลานต่อ ๆ กันมาและได้แปลเป็นภาษาไทย และได้จัดรวบทั้งที่ไทยแต่งและลาวแต่งเป็นเรื่องเดียวที่สมบูรณ์
เรื่องย่อ
[แก้]ที่นครเปงจาล พระยากุศราช เป็นเจ้าเมือง มีน้องสาวรูปงามชื่อนางสุมุณฑา วันหนึ่งนางไปชมสวน มียักษ์กุมภัณฑ์มาอุ้มเอานางไปยังเมืองอโนราช แล้วแต่งตั้งเป็นมเหสี พระยากุศราชเสียใจมาก จึงออกบวชติดตามไปถึงเมืองจำปา และได้พบธิดาทั้ง 7 ของนันทะเศรษฐี จึงสึกและขอนางเป็นมเหสี พระยากุศราชเรียกมเหสีทั้ง 7 มา ให้ทุกนางตั้งจิตอธิษฐานขอเอาลูกชายผู้มีบุญฤทธิ์มาเกิด เพื่อจะได้ติดตามเอานางสุมุณฑากลับคืนมา
พระอินทร์ได้ส่งเทพ 3 องค์มาเกิดในท้องนางทั้งสอง องค์หนึ่งเกิดเป็นสีโห (หัวเป็นช้าง) เกิดในท้องเมียหลวง องค์สองศิลป์ชัย (เป็นคน) และสังข์ทอง (หอยสังข์) เกิดในท้องเมียน้อย เมียหกคนได้คนสามัญมาเกิด โหรหลวงได้ทำนายว่าลูกที่เกิดจากเมียน้อยและเมียหลวงจะเป็นผู้มีบุญ คำทำนายของโหร ไม่เป็นที่พอใจของมเหสีทั้งหก มเหสีทั้งหกจึงว่าจ้างให้โหรทำนายใหม่ โหรเห็นแก่อามิสสินจ้างจึงทำนายใหม่ว่าลูกที่เกิดจากมเหสีทั้ง 6 มีฤทธิ์เดชมาก ลูกที่เกิดจากนางจันทาและนางลุน เป็นทั้งคนทั้งสัตว์ เกิดมาอาภัพอัปปรีย์และจัญไร
เมื่อประสูติ พระยากุศราชจึงขับไล่นางจันทา นางลุน พร้อมพระโอรสออกจากเมือง พระอินทร์เล็งเห็นความทุกข์ยาก จึงมาเนรมิตเมืองไว้ต้อนรับให้ได้อยู่อาศัย ยังเมืองนครศิลป์แห่งนี้ พระยากุศราชเมื่อขับไล่เมียแล้วให้โอรสทั้งหกไปตามเอาน้องสาวของตนคืนจากยักษ์กุมภัณฑ์ โอรสทั้งหกหลงทางมายังเมืองนครศิลป์ และได้โกหกศิลป์ชัย ให้ส่งสัตว์ป่าเข้าเมืองด้วยเพื่อเป็นพยานว่าพวกของตนได้พบกับศิลป์ชัยแล้ว เมื่อถึงเมืองโอรสทั้งหกก็โอ้อวดกับบิดาว่า พวกเขามีอำนาจเรียกสัตว์ทุกชนิดเข้าเมืองได้ ทุกคนก็หลงเชื่อว่าโอรสทั้งหกมีอำนาจ
เมื่อบิดาสั่งให้โอรสทั้งหกติดตามหาอา พวกเขาก็มาโกหกศิลป์ชัยว่าบิดาสั่งให้ศิลป์ชัยไปตามหาอา ถ้าได้อาคืน ความผิดที่แล้วมาพ่อจะยกโทษให้ ศิลป์ชัยและน้องไปถึงด่านงูซวง กุมารทั้งหกไม่กล้าเดินทางต่อไป ให้สังข์ทองกับศิลป์ชัยเดินทางต่อไปรบกับยักษ์ฆ่ายักษ์ตาย เอาอาคืนมาได้ เมื่อถึงแม่น้ำใหญ่ กุมารทั้งหกผลักศิลป์ชัยตกเหว และบอกอาว่าศิลป์ชัยตกน้ำตาย อาไม่เชื่อจึงเอาผ้าสะใบ ปิ่นเกล้าและช้องผมเสี่ยงทายไว้ เมื่อกลับมาถึงเมือง พระยากุศราชได้จัดงานต้อนรับ และทราบความจริงว่ากุมารทั้งหกเป็นคนโกหกมาโดยตลอดจึงถูกลงโทษขังคุกพร้อมมารดาของตน
พระยากุศราชพร้อมน้องสาวเชิญเอานางจันทาและนางลุน พร้อมศิลป์ชัย สีโหและสังข์ทองเข้ามาในเมือง อภิเษกศิลป์ชัยให้เป็นเจ้าเมืองเปงจาล ต่อมาศิลป์ชัยได้ปล่อยให้คนทั้งหมดออกจากคุก ปกครองบ้านเมืองเป็นสุขสืบมา ส่วนยักษ์กุมภัณฑ์นั้น พระยาเวสสุวัณได้ชุบชีวิตคืนชีพขึ้นมา คิดถึงนางสุมุณฑาผู้เป็นมเหสี จึงไปสู่ขอนางจากศิลป์ชัย และทั้งสองอยู่เป็นสุขตราบสิ้นอายุ[3]
การพรรณนา
[แก้]การพรรณนาความสวยงามของธรรมชาติ
[แก้]กอยแฮงขึ้นเขาวงเวระบาด หอมเกษแก้วโฮยเฮ้าทั่วทรวง
กงสะถานกั่วเกี้ยงลมเลียบตาด บานเบงต้นแคค้อมแค่ผา
สะพากหญ้าเขียวคู่คอยูง ลางลือประดับดอกกาวแกมแก้ว
สาระพันผึ้งผายแคคันธะชาติ แมงภู่แส้วแสวงซ้อนส่วนสน.....
พรรณนาถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมของชาวอีสานว่า
[แก้]......พวกหนึ่งให้แต่งตั้งประดับช่อทุ่งไซ เลียนเป็นถันเฮื่อเฮืองเหลืองเหลื่อม
ขาวเหลืองแหล่แดงออนอิดอ่อนก็มี เดียระดาษล้อมสองข้างแค่ทาง
พวกหนึ่งตั้งหลาดแก้วขายจ่ายเอาของ ยูงถ่างทางเป็นจารไถ่เอาลือไฮ้
พวกหนึ่งนั้นตั้งหลาดจ่ายคำเหลือง 5 บาทเป็งต่อ 1 บาทคำเหลืองแท้
ฝูงหมู่โยธาชาวเป็งจาลไถ่เอาเหลือล้น พวกหนึ่งนั้นตั้งหลาดจ่ายทองแดงก็มี
ทั้งทองเหลืองอะเนกนองกองล้น พวกหนึ่งตั้งหลาดชิ้นบ่อมีต้อนปาแกม
มีแต่มังสังทั้งสุราใส่ในแสนตื้อ พวกหนึ่งให้แต่งตั้งหลาดจ่ายขายปาก็มี
ทั้งพูวันหมากยามีพร้อม พวกหนึ่งขายแต่กาสาผ้าแฮลวงลายเทศ
ทั้งแผ่นเสื้อแพลั้วยอดตอง......
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สินไซ - “ฐานที่มั่นทางวัฒนธรรม" ของชาวลาว-อีสาน
- ↑ "สังข์ศิลป์ชัย วิกิซอร์ซ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-30. สืบค้นเมื่อ 2012-09-27.
- ↑ "สังข์ศิลป์ชัย ต้นฉบับปริวรรตเป็นอักษรไทย โดยนายปรีชา พิณทอง โรงพิมพ์ศิริธรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-09-27.