สะพานพระจุลจอมเกล้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน
สะพานจุลจอมเกล้าหลังจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด

สะพานพระจุลจอมเกล้า หรือสะพานสุราษฎร์ธานี เป็นสะพานสำคัญที่สุดในเส้นทางสายใต้ เป็นสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 3 ช่วง รวมความยาวของสะพานทั้งสิ้น 200 เมตร เปิดการเดินรถได้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2496 เป็นสะพานรถไฟและรถยนต์ ภายหลังสร้างสะพานรถยนต์ขึ้นใหม่จึงใช้งานเป็นสะพานรถไฟเต็มรูปแบบ

ประวัติ[แก้]

ความเป็นมาสะพานจุลจอมเกล้า อ.ท่าข้าม สุราษฎร์ธานี สะพานจุลจอมเกล้า อ.ท่าข้าม สุราษฎร์ธานี

การก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ในพ.ศ. ๒๔๔๙ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ส่งมิสเตอร์กิตตินส์ วิศวกรชาวอังกฤษเลขานุการกรมรถไฟหลวง กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และพระยาวจีสัตยารักษ์ เจ้าเมืองไชยา ออกสำรวจเส้นทางรถไฟสายใต้ ซึ่งต้องกู้เงินจากรัฐบาลสหพันธรัฐมลายูของอังกฤษ โดยมีมิสเตอร์กิตตินส์ เป็นผู้อำนวยการสร้างทางรถไฟสายใต้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๕๓ ช่วงการก่อสร้างจากชุมพรไปยังนครศรีธรรมราชต้องผ่านลำน้ำสายใหญ่ที่ตำบลท่าข้าม เมืองไชยา คือแม่น้ำหลวง การก่อสร้างสะพานเหล็กรูปทรงโค้ง แบ่งเป็นสามช่วง ใช้สำหรับให้รถไฟแล่นผ่านอย่างเดียว ต้องใช้งบประมาณ ๑๔๙,๓๖๔ บาท แต่ถ้าจะทำทางคนเดินต้องเพิ่มงบประมาณอีก ๑๓,๐๐๐ บาท และถ้าจะให้สมบูรณ์มีทางเกวียนข้ามได้ด้วย ต้องเพิ่มงบประมาณอีก ๑๔๘,๖๑๐ ซึ่งราคาสูงเกือบเท่าตัวสะพาน ในขณะนั้นที่ตำบลท่าข้าม เมืองไชยา ยังไม่ค่อยมีเกวียนใช้มาก ผู้คนก็ไม่มาก จึงขอพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ ๕ ให้งดการสร้างทางเกวียน ดังนั้นสะพานข้ามแม่น้ำหลวงจึงมีแต่ทางรถไฟกับคนเดินเท่านั้น

พ.ศ. ๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สุราษฎร์ธานี เชิงสะพานข้ามแม่น้ำตาปี เป็นจุดตั้งฐานทัพทหารญี่ปุ่น และเป็นจุดยุทธศาสตร์ลำเลียงพลไปสู่มลายู เพื่อเดินทางไปพม่า และสิงคโปร์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้ใช้เครื่องบิน บี ๒๔ บรรทุกระเบิดมาทำลายสะพานแห่งนี้ถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกไม่สามารถทำลายลงได้ ครั้งที่สอง จึงใช้โซ่ผูกร้อยระเบิดเป็นพวงทิ้งทำลายจนสะพานหักลงกลางลำน้ำตาปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ นอกจากนี้ ได้ระเบิดทำลายบ้านเรือนในตลาดท่าข้ามอีกด้วย

หลังสงครามสงบ รัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัท CORMANLONG CO.LTDประเทศอังกฤษมาทำการซ่อมแซม เปลี่ยนรูปทรงจากทรงเหล็กโค้ง เป็นแท่งเหลี่ยม ลักษณะรูปทรงเดียวกับสะพานพระรามที่ ๖ แบ่งออกเป็น ๓ ช่วง มีทางรถไฟ ทางคนเดิน และช่องกลางเว้นไว้สำหรับผิวการจราจร ใช้เวลาซ่อมสร้างประมาณ ๖ ปี จึงแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พระราชทานนามให้เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๔ ว่า “สะพานจุลจอมเกล้า”และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖

สะพานจุลจอมเกล้าข้ามแม่น้ำตาปี ในทางหลวง 4153 ตอนแยกทางหลวง หมายเลข 41 (บ.หนองขรี) อ.พุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีสะพานเดิมก่อสร้าง เป็นสะพานโครงเหล็ก 3 ช่องจราจรเป็นทางรถไฟ 1 ช่องจราจรกว้าง 1 เมตร และทางรถยนต์ 2 ช่องจราจรกว้างช่องละ 3 เมตรความยาวสะพานแบ่งตาม ตอม่อเป็น 3 ช่วงคือ (80+60+60 เมตร ) รวมความยาวสะพาน 200 เมตร สะพานแห่งนี้ เปิดการจราจรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2459 และในปี พ.ศ. 2468 ตัวสะพานโครงเหล็กถูกระเบิดพังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมาได้มีการบูรณะ สะพานใหม่โดยใช้ฐานรากตอม่อเดิมและเปิดใช้การจราจร อีกครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบัน ทำให้สะพานนี้มีอายุการใช้งานมา นานกว่า 50 ปี ตัวสะพานจึงมีสภาพชำรุดจนต้องจำกัดน้ำหนักยวดยานที่วิ่งผ่าน สะพานโดยห้ามรถบรรทุก 10 ล้อวิ่งผ่านประกอบกับสะพานเดิมแคบมีโค้งอันตราย และมีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้นตามความเจริญเติบโตของบ้านเมือง ทำให้สะพานเดิมไม่ สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2539 นายสุเทพเทือก สุบรรณ ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานกรรมาธิการคมนาคม พิจารณาเห็นว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นทางสายนี้เป็นประตูเข้า-ออกตัวเมืองจังหวัดสุราษฏร์ธานี จึงได้เสนอกระทรวง คมนาคมให้กรม ทางหลวงดำเนินการก่อสร้างทางหลวงสายนี้ พร้อมทั้งก่อสร้าง สะพานจุลจอมเกล้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสะพาน สำหรับให้ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมทั้งรถบรรทุก 10 ล้อสามารถใช้การจราจรได้รวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย เพื่อ เป็นการทดแทนสะพานจุลจอมเกล้าเดิม ซึ่งจะใช้เป็นเส้นทาง สำหรับทางรถไฟ แต่เพียงอย่างเดียวต่อไป และเมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคมก็ได้แร่งรัด กรมทางหลวงให้เร่งดำเนินการก่อสร้างทาง หลวงหมายเลข 4153 ตอน แยกทางหลวงหมายเลข 41 (บ.หนองขรี) อ. พุนพิน ซึ่งประกอบด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำตาปีแห่งใหม่ สะพานข้ามทางรถไฟ สายใต้ และก่อสร้างทางหลวงที่เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกับ สะพานทั้ง 2 แห่งเพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนของประชาชนในการใช้เส้นทางดังกล่าว และ ได้มีพิธีเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

สะพานข้ามแม่น้ำตาปีในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานข้ามแม่น้ำตาปี ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401
สะพานพระจุลจอมเกล้า
ท้ายน้ำ
สะพานข้ามแม่น้ำตาปี ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 417