สนามกีฬาชังลิมิทัง
ที่ตั้ง | ทิมพู ประเทศภูฏาน |
---|---|
พิกัด | 27°28′17.1″N 89°38′27.8″E / 27.471417°N 89.641056°E |
เจ้าของ | คณะกรรมการโอลิมปิกภูฏาน |
ผู้ดำเนินการ | สหพันธ์ฟุตบอลภูฏาน (BFF) |
ความจุ | 45,000 |
ขนาดสนาม | 122 × 76 หลา (102.4 × 69.4 เมตร) |
รูปร่างสนาม | สี่เหลี่ยมผืนผ้า |
พื้นผิว | หญ้าเทียม |
ป้ายแสดงคะแนน | มี |
การก่อสร้าง | |
ลงเสาเข็ม | 1974 |
เปิดใช้สนาม | 1974 |
ปรับปรุง | 2007–2019 |
การใช้งาน | |
ภูฏานพรีเมียร์ลีก (สโมสรจากทิมพู) ภูฏานซูเปอร์ลีก (บางนัด) ภูฏานดิสตริกต์ลีก ฟุตบอลชิงถ้วยพระบรมราชานุสรณ์ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จี วังชุก (บางนัด) ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์แห่งชาติภูฏาน (บางนัด) วีเมนส์ทิมพูลีก ฟุตบอลทีมชาติภูฏาน ฟุตบอลหญิงทีมชาติภูฏาน สโมสรเยาวชนในประเทศภูฏาน |
สนามกีฬาชังลิมิทัง (อังกฤษ: Changlimithang Stadium) เป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ในกรุงทิมพู ประเทศภูฏาน และสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศภูฏาน สนามกีฬาแห่งนี้เป็นสนามเหย้าของฟุตบอลทีมชาติภูฏานและสโมสรฟุตบอลอีกหลายสโมสรในกรุงทิมพู นอกจากนี้ยังใช้แข่งขันยิงธนูและวอลเลย์บอลด้วย สนามแห่งนี้สร้างเมื่อ ค.ศ. 1974 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่สี่แห่งราชอาณาจักรภูฏาน และปรับปรุงใหม่ใน ค.ศ. 2007 สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ห้า หลังจากนั้นใน ค.ศ. 2009 ได้มีการติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่ม[1] และใน ค.ศ. 2012 สนามนี้ได้เปลี่ยนมาใช้พื้นหญ้าเทียมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับลีกระดับสูงสุดใหม่[2]
สนามกีฬาชังลิมิทังตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 2,300 เมตร (7,500 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล ซึ่งถือเป็นสนามที่อยู่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทำให้เป็นที่ถกเถียงว่าสนามกีฬาแห่งนี้อาจจะทำให้สโมสรเหย้าได้เปรียบเนื่องจากคุ้นเคยกับระดับความสูงและสภาพบรรยากาศออกซิเจนต่ำมากกว่า
สนามกีฬาชังลิมิทังแห่งเดิม (ค.ศ. 1974 – 2008)
[แก้]สนามกีฬาชังลิมิทังตั้งอยู่บนพื้นที่สมรภูมิสำคัญในประวัติศาสตร์ภูฏานเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีอุกเยน วังชุกทรงนำทัพต่อสู้ในสงครามกลางเมืองและรวบรวมชาติภูฏานเป็นผลสำเร็จใน ค.ศ. 1885[3][4] สนามแห่งเดิมก่อสร้างแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1974 ซึ่งเสร็จทันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก โดยในขณะนั้นสนามมีพื้นที่ประมาณ 11 เฮกตาร์ (110,000 ตารางเมตร) และรองรับผู้เข้าชมได้ประมาณ 10,000 คน[4] สนามกีฬาแห่งนี้ใช้เป็นสนามเหย้าของฟุตบอลทีมชาติภูฏาน ใช้จัดการแข่งขันยิงธนูระดับประเทศ มีสนามแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ได้แก่เทนนิส สควอช และบิลเลียดเปิดให้บริการ และเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกภูฏาน[4]
สนามกีฬาชังลิมิทังปัจจุบัน
[แก้]สนามกีฬาชังลิมิทังปิดปรับปรุงและเปิดให้บริการอีกครั้งใน ค.ศ. 2008 สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระราชพิธีสมโภช 100 ปี ราชวงศ์วังชุกและการรวมชาติภูฏาน[5] อัฒจันทร์เดิมซึ่งมีที่นั่ง 6 แถวและมีความจุประมาณ 10,000 คนถูกรื้อออก และแทนที่โดยอัฒจันทร์ใหม่จำนวน 21 แถว[5] นอกจากนี้ยังมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่นสนามแข่งขันเทเบิลเทนนิสและยิงปืน สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกภูฏานแห่งใหม่ มีการขยายพระตำหนักให้รองรับพระอาคันตุกะจำนวนมากขึ้น และสวนสาธารณะใหม่อีกสองแห่ง[5] ประมาณการว่างบประมาณทั้งหมดในการปรับปรุงสนามกีฬาแห่งชาติมีมูลค่าประมาณ 230,000,000 งุลตรัม[3] เจ้าชายจิกเยล อุกเยน วังชุกเสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดใช้สนามอย่างเป็นทางการ[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Floodlighting at Changlimithang". drukgreen.bt. Druk Green. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-08. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.
- ↑ Yeshey, Lobzang (9 March 2012). "FIFA to help Bhutan's football". bhutanobserver.bt. Bhutan Observer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "Historic Changlimithang stadium inaugurated". bbs.com.bt. Bhutan Broadcasting Service. 13 October 2011. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "K2: Changlingmethang ground". kuenselonline.com. Kuensel Online. 9 June 2008. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Dorji, Kinley (2006). "Thimphu: A face-lift for Changlingmethang". raonline.com. RA Online / Kuensel. สืบค้นเมื่อ 30 July 2014.