สตรีกระเป๋าถือ
สตรีคนหนึ่งใช้กระเป๋าถือตบพวกนีโอนาซี (อังกฤษ: A Woman Hitting a Neo-Nazi With Her Handbag) หรือที่รู้จักในชื่อ สตรีกระเป๋าถือ (สวีเดน: Kvinnan med handväskan; หรือ Tanten med handväskan, "The lady with the handbag"[1]) เป็นภาพถ่ายที่ถ่ายในเมืองเว็กเควอ ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1985 โดยช่างภาพข่าว ฮันส์ รูแน็สซ็อน (Hans Runesson) ภาพถ่ายนี้เป็นภาพสตรีวัย 38 ปี ชื่อ ดานูตา ดานิแอ็ลซ็อน (Danuta Danielsson) ใช้กระเป๋าถือตบเข้าที่สมาชิกของลัทธินีโอนาซีซึ่งกำลังเดินขบวนอยู่[2] นักวิชาการ ซามูแอ็ล แมร์ริล (Samuel Merrill) ระบุว่าภาพนี้แสดงให้เห็นสตรีสูงวัยที่ดูอ่อนแอขณะเผชิญหน้ากับพวกสกินเฮดนีโอนาซีตามลักษณะภาพเหมารวม[3]
ประวัติศาสตร์
[แก้]ภาพนี้ถ่ายระหว่างการชุมนุมประท้วงขนาดย่อมของผู้สนับสนุนพรรคราชอาณาจักรนอร์ดิกโดยเป็นการชุมนุมประท้วงที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยจัดขึ้นไม่นานหลังการกล่าวสุนทรพจน์ของหัวหน้าพรรคฝ่ายซ้าย-คอมมิวนิสต์ ลาส์ แวร์แนร์ ในใจกลางเมืองเว็กเควอ[4] ภาพถ่ายนี้ตีพิมพ์ในวันถัดไปบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แห่งชาติของสวีเดน ดาเกินส์นีเฮแทร์ และในวันที่ 15 เมษายน บนหนังสือพิมพ์อังกฤษสองเจ้าใหญ่ เดอะไทมส์ และ เดอะเดลีเอ็กซ์เพรส[3]
ภาพถ่ายนี้ได้รับเลือกเป็นภาพถ่ายสวีเดนแห่งปี (Swedish Picture of the Year หรือ Årets bild) ประจำ ค.ศ. 1985 และต่อมาเป็นภาพแห่งศตวรรษ (Picture of the Century) โดยนิตยสาร วี และโดยสมาคมภาพถ่ายประวัติศาสตร์แห่งสวีเดน (Photographic Historical Society of Sweden)[5][6]
บุคคลในภาพ
[แก้]สตรีในภาพถ่ายนี้คือ ดานูตา ดานิแอ็ลซ็อน (Danuta Danielsson (สกุลเดิม เซน; Seń)) เกิดเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1947 ในเมืองกอชุฟวีแยลกอปอลสกี ประเทศโปแลนด์ เธอมีพี่น้องร่วมกันสามคน[7] และเป็นคนยิว[8][9][10] มารดาของเธอเป็นผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันของนาซีในโปแลนด์ระหว่างฮอลอคอสต์[5][10][8] (บ้างระบุว่าคือค่ายกักกันเอาช์วิตซ์[9] หรือมัยดาเน็ก)[10] เธอพบกับ บยอร์น เบซ็อน ดานิแอ็ลซ็อน (Björn "Beson" Danielsson) ที่เทศกาลดนตรีแจ๊ซหนึ่งในโปแลนด์ใน ค.ศ. 1981[11] ทั้งสองสมรสกันในปีเดียวกัน และย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในสวีเดนเมื่อ ค.ศ. 1982[7] ตัวตนของเธอถูกปิดบังมาโดยตลอดจนกระทั่ง ค.ศ. 2014 โดยสื่อสำนักหนึ่ง ในเวลานั้นกำลังมีข้อถกเถียงกรณีการตั้งรูปปั้นเธอในฐานะอนุสรณ์สถานแก่สาธารณชนเพื่อระลึกถึงการเผชิญหน้าในภาพ บุตรชายของเธอระบุแก่สื่อว่าตัวเธอเองไม่เคยชอบภาพถ่ายนี้เลยและรู้สึกผิดกับชื่อเสียงที่ได้มาจากภาพนี้ ในโอกาสเดียวกันนี้ เขายังปฏิเสธข้อกล่าวอ้างและข่าวลือทั้งที่ว่าเธอเป็นผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันยิว หรือว่าเธอมีปัญหาทางจิตและตบผู้ชายคนนั้นไปโดยไม่รู้ตัว ว่าไม่เป็นความจริง[12]
ชายคนที่ถูกกระเป๋าถือตบในรูปคือ เซปโป เซลูสกา (Seppo Seluska) สมาชิกกองกำลังของพรรคราชอาณาจักรนอร์ดิก ในภายหลังเขาถูกจับกุมและตัดสินมีความผิดฐานทารุณกรรมและฆาตกรรมเกย์ชาวยิวคนหนึ่ง[10][13][14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Merrill 2020, p. 121.
- ↑ Merrill 2020, p. 112.
- ↑ 3.0 3.1 Merrill 2020, pp. 119–120.
- ↑ Merrill 2020, p. 119.
- ↑ 5.0 5.1 Bengtsson, Anita (15 February 2014). "Berättelsen om det förra århundradets bästa foto". Dagens Nyheter (ภาษาสวีเดน).
- ↑ Krook, Per-Åke (1 April 2014). "Väsktanten blir skulptur". SVT Nyheter (ภาษาสวีเดน).
- ↑ 7.0 7.1 Staff (11 May 2018). "Danuta Daniellson przeszła do historii, atakując torebką neonazistę. Pochodziła z Gorzowa". Gorzów Wielkopolski Nasze Miasto (ภาษาโปแลนด์).
- ↑ 8.0 8.1 Staff (1 March 2015). "Swedish city blocks plan to honor woman who struck neo-Nazis with purse". Haaretz.
- ↑ 9.0 9.1 Gross, Judah Ari (1 March 2015). "Swedish town nixes statue of woman hitting neo-Nazi". Times of Israel.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 Pienszka, Magdalena (13 April 2020). "Kobieta z torebką atakuje skinheada. Za legendarnym zdjęciem stoi smutna historia". WP Ksiazki (ภาษาโปแลนด์).
- ↑ Micu, Patrik (28 February 2015). "Danuta från Polen var"tanten med väskan"". Expressen (ภาษาสวีเดน).
- ↑ Merrill 2020, p. 122.
- ↑ Maestre, Antonio (26 November 2019). "Nadia es nuestra Danuta". LaSexta (ภาษาสเปน).
- ↑ Previdelli, Fabio (2 May 2020). "Muito além da foto: Danuta Danielsson, a mulher que deu bolsada em um neonazista". Aventuras na História (ภาษาโปรตุเกสแบบบราซิล).
บรรณานุกรม
[แก้]- Merrill, Samuel (2020). "Following The Woman with the Handbag: Mnemonic Context Collapse and the Anti-Fascist Activist Appropriation of an Iconic Historical Photograph". ใน Merrill, Samuel; Keightley, Emily; Daphi, Priska (บ.ก.). Social Movements, Cultural Memory and Digital Media: Mobilising Mediated Remembrance. Springer Nature. ISBN 978-3-030-32827-6.