วันถนนคริสโตเฟอร์
วันถนนคริสโตเฟอร์ (อังกฤษ: Christopher Street Day ; อักษรย่อ: CSD) คือวันเฉลิมฉลอง วันรำลึกและวันเดินขบวนของเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวลและคนข้ามเพศ (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) การเฉลิมฉลองและการเดินขบวนมีขึ้นเพื่อสิทธิของคนกลุ่มนี้และเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการกีดกันทางสังคม
ชื่อ “วันถนนคริสโตเฟอร์” จะใช้ในประเทศเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น ในออสเตรียจะเรียกการเดินขบวนนี้ว่า Regenbogenparade (พาเหรดสีรุ้ง) ส่วนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สืบทอดมาจากภาษาละตินจะเรียกงานนี้ว่า Gay Pride (เกย์ไพรด์) หรือ Pride Parades (พาเหรดแห่งความภูมิใจ) ในออสเตรเลีย จะมีการผสมผสานขบวนพาเหรดกับขบวนแห่เข้าด้วยกันโดยใช้ชื่อว่า Mardi Gras (มาร์ดิกรา)
ประวัติ
[แก้]วันนี้จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการจลาจลครั้งแรกที่มีชื่อเสียงมากของคนรักร่วมเพศและคนส่วนน้อยที่มีรสนิยมทางเพศต่างออกไปเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจในทางมิชอบของตำรวจ การจลาจลครั้งนี้เกิดขึ้นบนถนนคริสโตเฟอร์ เขตกรีนวิช วิลเลจแห่งนครนิวยอร์ก
ในช่วงเช้าของวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 เกิดการจลาจลสโตนวอลล์ขึ้นในบาร์ชื่อ สโตนวอลล์ อิน สมัยนั้นจะมีการจับกุมที่ใช้ความรุนแรงอยู่เสมอในผับของคนรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายวันระหว่างกลุ่มคนรักร่วมเพศและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบหนึ่งปีของการจลาจลครั้งนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการวันแห่งเสรีภาพบนถนนคริสโตเฟอร์ (อังกฤษ: Christopher Street Liberation Day Committee ) ตั้งแต่นั้นมาจะมีการจัดงานวันแห่งเสรีภาพบนถนนคริสโตเฟอร์ขึ้นทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนพร้อมกับขบวนแห่ตามถนนเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[1] ในที่สุดการจัดงานดังกล่าวก็ได้กลายเป็นประเพณีสากลที่ในฤดูร้อนจะมีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิของเกย์และเลสเบี้ยน ในประเทศเยอรมนีตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น เมืองเบอร์ลิน เมืองโคโลญ จะมีการเดินขบวนทุกปีโดยใช้ชื่อว่าวันถนนคริสโตเฟอร์หรือชื่อย่อ CSD
ในปีค.ศ. 1979 มีการจัดงานนี้ขึ้นครั้งแรกในประเทศเยอรมนีที่เมืองเบอร์ลินและเมืองเบรเมน อันที่จริงแล้วการเดินขบวนครั้งใหญ่กว่านี้ของเลสเบี้ยนและเกย์นั้นมีขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1972 (ครั้งแรกในประเทศเยอรมนีมีขึ้นวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1972 ที่เมืองมึนสเตอร์) ในสวิตเซอร์แลนด์จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1978 ที่เมืองซูริก โดยใช้ชื่อว่า Christopher-Street-Liberation-Memorial Day (วันรำลึกถึงเสรีภาพบนถนนคริสโตเฟอร์)
CSD ในปัจจุบัน
[แก้]แทบทุกเมืองใหญ่ในเยอรมนีจะมีการจัดงานดังกล่าวขึ้น ซึ่งงานใหญ่ที่สุดจะจัดขึ้นที่เมืองโคโลญ (โดยใช้ชื่องานภาษาอังกฤษว่า Cologne Pride) และเมืองเบอร์ลิน ขบวนพาเหรดและการเดินขบวนในงานวันถนนคริสโตเฟอร์ จะนำเสนอความน่าสนใจที่คล้ายคลึงกัน อย่างเช่น ขบวนแห่หรือพาเหรดดนตรีเทคโนสมัยใหม่ งานที่เมืองโคโลญในปี ค.ศ. 2002 ซึ่งเรียกว่า Europride มีผู้ร่วมงานถึง 1.2 ล้านคน (ผู้เข้าร่วมขบวนและผู้ชม) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมงานมีมากกว่างานขบวนแห่ Rosenmontag (โรเซนโมนทาค) ในเทศกาลคาร์นิวัลและถือว่าเป็นงานวันถนนคริสโตเฟอร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปจนถึงปัจจุบัน
งานดังกล่าวในเยอรมนีจะไม่ได้จัดตรงกับที่เกิดขึ้นจริงตามประวัติศาสตร์ นั่นก็คือในวันที่ 28 มิถุนายน แต่จะจัดช่วงสุดสัปดาห์ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม องค์กรต่าง ๆ สมาคมและกลุ่มคนอาสาสมัครจะมีหน้าที่รับผิดชอบจัดขบวนพาเหรดของงานนี้ ในการเดินขบวนด้วยเหตุผลทางการเมืองนี้มักจะมีคำขวัญที่เกี่ยวข้องกัน งานนี้จะแสดงออกผ่านทางขบวนพาเหรดประท้วงและการชุมนุมเรียกร้อง ศิลปินจะสนับสนุนการชุมนุมบ่อยครั้งโดยการเปิดแสดงบนเวที นอกเหนือจากการพูดเรื่องการเมืองแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองด้วย การฉลองให้กับการมีรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นของตัวเองคือที่มาของงานนี้ ผู้ร่วมขบวนจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาภูมิใจในตัวเอง รูปแบบการใช้ชีวิตและอัตลักษณ์ทางเพศ (จึงใช้คำว่า Gay Pride สำหรับ CSD ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ)
นอกเหนือจาก พาเหรด CSD และการชุมนุมแล้ว จะมีการจัดงานรื่นเริงอีกหนึ่งวันหรือมากกว่านั้น การจัดสัปดาห์วัฒนธรรมร่วมกับศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมาย กิจกรรมทางการเมือง การกล่าวปราศรัย กิจกรรมอ่านบนเวทีและงานสังสรรค์
ในปี ค.ศ. 2010 จูดิธ บัทเลอร์ (Judith Butler) นักปรัชญาชาวอเมริกัน ได้ถอนตัวออกจากคณะจัดพาเหรดวันถนนคริสโตเฟอร์ที่เมืองเบอร์ลิน โดยปฏิเสธการเข้ารับรางวัลพลเมืองดีเด่น ในระหว่างการปราศรัยของเธอ เธอแสดงความไม่พอใจต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดงาน การเพิกเฉยต่อปัญหาการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติต่อผู้อพยพที่เป็นพวกรักร่วมเพศและผู้แปลงเพศ ที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมเป็นสองเท่า[2] โดยโรแบร์ท คาสท์ (Robert Kastl) ผู้จัดการทั่วไปของคณะกรรมการ CSD ได้แถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดของบัทเลอร์[3]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2010 มีการจัดงานนี้ที่เมืองฮัมบวร์คขึ้นเป็นครั้งที่ 30 ภายใต้คำขวัญที่ว่า “อย่าดีแต่พูด ขอสิทธิเท่าเทียมกัน” (เยอรมัน: Gleiche Rechte statt Blumen! ) ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับความสนใจอีกครั้งว่า แม้จะมีกฎหมายรับรองการอยู่ร่วมกันของคนรักร่วมเพศ แต่กระนั้นพวกรักร่วมเพศในเยอรมนีก็ยังไม่มีสิทธิความเท่าเทียมเหมือนกับพวกรักต่างเพศ
CSD 2012 เรียกร้องให้เพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ภายใต้สโลแกนที่ว่า “การสมรส 2.0 – ไม่ใช่แค่หน้าที่แต่เป็นสิทธิที่เลือกได้” (เยอรมัน: Ehe 2.0 – Nach den Pflichten jetzt die Rechte! ) อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองบางพรรคยังปฏิเสธความเท่าเทียมกันดังกล่าว
บุคคลที่มีชื่อเสียง
[แก้]บุคคลที่มีชื่อเสียงซึ่งเคยเข้าร่วมงาน CSD อยู่บ่อยครั้ง ได้แก่
• ยอชคา ฟิชเชอร์ (Joschka Fischer) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรี (เมืองโคโลญปี ค.ศ. 2002, เมืองฮัมบวร์คปี ค.ศ. 2004, เมืองโคโลญปี ค.ศ. 2005)
• เรนาทเทอ คือนาสท์ (Renate Künast) รัฐมนตรี (เมืองเบอร์ลิน ปี ค.ศ. 2001)
• เคลาส์ โวเวอไรท์ (Klaus Wowereit) นายกเทศมนตรีเมืองเบอร์ลิน (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001)
• เพทรา รอท (Petra Roth) นายกเทศมนตรีแห่งนครแฟรงก์เฟิร์ต (ปี ค.ศ. 2004)
• โรลันด์ ค็อค (Roland Koch) นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐเฮสเซ่น (นครแฟรงค์เฟิร์ต)
• โวฟกัง เทียร์เซอ (Wolfgang Thierse) ประธานสภาล่างของรัฐสภา (เมืองเบอร์ลินปี ค.ศ. 2000)
นอกจากนี้แล้วในบางเมือง นักการเมืองจะมาเป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน เช่น ที่เมืองฮัมบวร์ค คือ อดีตนายกเทศมนตรีออร์ทวิน รุนเดอร์ (Ortwin Runde) และ โอเล ฟอน บอยสท์ (Ole von Beust) ที่เมืองเดรสเด็น นายกเทศมนตรีอิงกอล์ฟ รอสแบร์ก (Ingolf Roßberg), ที่เมืองเวือร์ซบูร์ก เคลาเดีย รอท (Claudia Roth) หรือ ที่เมืองบราวน์ชไวค์ อดีตรัฐมนตรี เยอร์เก้น ทริททิน (Jürgen Trittin) ในทางกลับกัน เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ แล้ว การเดินขบวนที่เมืองมิวนิก ซึ่งจัดโดยนายกเทศมนตรีคริสเตียน อูเด (Christian Ude) ยังถือว่ามีขนาดค่อนข้างเล็ก
พาเหรดทางเลือก: CSD ของคนยุคใหม่
[แก้](อังกฤษ: Kreuzberg Pride, เยอรมัน: Transgenialer CSD ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 มีการจัดพาเหรดขึ้นอีกงานที่เรียกว่า CSD แห่งครอยส์แบร์ก ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดงาน CSDในเมืองเบอร์ลินว่าเน้นทำธุรกิจและเกี่ยวข้องกับการเมืองน้อยลง งานนี้จะจัดโดยกลุ่มคนดำเนินงาน โดยที่สมาชิกพรรคการเมืองจะไม่มีสิทธิออกความเห็นใด ๆ และจะไม่มีขบวนแห่จากพรรคการเมืองหรือบริษัทใด ๆ ทั้งสิ้น กลุ่มคนจัดงานจะให้ความสำคัญต่อทัศนคติของเลสเบี้ยน ผู้แปลงเพศและเกย์รวมถึงประเด็นที่ต่างออกไปอย่างชัดเจน เช่น เรื่องความยากจน เงินช่วยเหลือคนตกงาน (เยอรมัน: Arbeitslosegeld II หรือ Hartz IV ) การปรับผังเมือง และการกีดกันเชื้อชาติในยุโรป
สถานที่จัดงานในประเทศแถบยุโรปที่ใช้ภาษาเยอรมัน
[แก้]ในปี ค.ศ. 2008 กลุ่มคนหัวรุนแรงได้เข้าทำร้ายร่างกายผู้ร่วมขบวนพาเหรดสีรุ้งซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในสาธารณรัฐเช็กและประเทศบัลแกเรีย (เมืองเบอร์โนและเมืองโซเฟีย) ตำรวจจำนวนมากต้องช่วยคุ้มกันผู้ร่วมงาน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
เมืองต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนีตามรายชื่อด้านล่าง จะมีการจัดงาน CSD อย่างยิ่งใหญ่ อาจจะเป็นงานรื่นเริงตามท้องถนนหรือขบวนพาเหรดก็ได้
|
|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Christopher Street Liberation Day March". outhistory.org. 2010-05-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-13. สืบค้นเมื่อ 2011-09-05.
- ↑ Butler, Judith. I must distance myself from this complicity with racism (Video) เก็บถาวร 2012-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Transcript). เก็บถาวร 2012-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Christopher Street Day 'Civil Courage Prize' Day Refusal Speech. European Graduate School. June 19, 2010.
- ↑ Ataman, Ferda / Kögel, Annette / Hasselmann, Jörg: "Butler-Auftritt: Heftige Diskussionen nach Kritik an CSD" (ภาษาเยอรมัน). Der Tagesspiegel (Berlin). July 20, 2010.