วัดพระเจ้าล้านทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระเจ้าล้านทอง
อุโบสถวัดพระเจ้าล้านทอง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ประเภทโบราณสถาน
พระประธานพระเจ้าล้านทอง
พระพุทธรูปสำคัญพระสิงห์หนึ่งชุ่มเชียงแสน, พระเจ้าแสนแสว้ (แสนแซ่), พระเจ้าทองทิพย์
ความพิเศษวัดเก่าแก่ที่ประดิษฐานสะดือเวียงเชียงแสน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระเจ้าล้านทอง เป็นวัดและโบราณสถานในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเชียงแสน วัดพระเจ้าล้านทองเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงแสน เป็นประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงแสน

ประวัติ[แก้]

วัดพระเจ้าล้านทอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2032 โดยพระยาสรีรัชฏเงินกอง (หมื่นหอยงั่ว หรือ หมื่นงั่ว) เจ้าเมืองเชียงแสน ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาราชวงศ์มังราย องค์ที่ 9 เมื่อครั้งวันที่หมื่นงั่วได้ครองเชียงแสน ได้เกิดเหตุการณ์อันพิศดารคือ มีเงินทองงอกโผล่มาจากพื้นดินในบริเวณลานราชฐานเป็นกอง จึงได้พระนามยศใหม่ว่า พระยาสรีรัชฏเงินกอง เมื่อเฉลิมฉลองกับตำแหน่งและพระนามใหม่แล้ว พระยาสรีรัชฏเงินกองพร้อมเสนาอามาตย์ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น สร้างวิหาร 1 หลัง กว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร ณ บริเวณหัวใจเมือง พร้อมหล่อพระพุทธรูปสำริดด้วยสาร 5 ชนิด น้ำหนักล้านหนึ่ง (1,200 กิโลกรัม) และสร้างเจดีย์ขึ้น 1 องค์ ฐานกว้าง 6 เมตร สูง 14 เมตร บรรจุหัวใจพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แล้วให้ชื่อว่าวัดพระเจ้าล้านทอง ตามพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า

"ยามนั้นพระญาอติโลกราชเจ้าค็จิ่งยกเอาหมื่นหอยงั่วตนเปนหลาน อันเปนพรองเมืองมาแต่ก่อนนั้น หื้อขึ้นกับเมืองเล่าแล ทีนี้จักจาด้วยหมื่นงั่ว ได้เสวิยเมืองเงินยางเชียงแสนที่นี่ก่อนแล สกราชได้ 851 ตัว (พ.ศ. 2032) เดือน 5 ออก 7 ค่ำ วัน 4 แล ในรวายตรีคืนอันท่านได้ขึ้นเสวิยราชสัมปัตตินั้น โลหะแลหิรัญญะคือว่า เงินทองค็บังเกิดบุแผ่นดินออกมาตั้งอยู่ในข่วงราชฐานแห่งท่านเปนกอง ตั้งอยู่ค็มีแลที่นั้น ลวดค็ปรากฏนามวิเลสว่า พระญาสรีรัชฏเงินกอง ว่าอั้นค็มีแล

แต่เมื่อสกราชได้ 851 ตัว นั้นมาพระญารัชฏเงินกองตนนั้น ท่านค็มาด้วยเสนาอามาตย์ทังหลายค็ส้างวัดหลัง 1 วิหารกว้าง 5 วา ยาว 9 วา ยังที่หัวใจเมืองนั้นแล้ว ค็ส้างยังพระพุทธรูปเจ้าองค์ 1 หน้าเพลามี 4 สอกปลาย 2 กำฝู หล่อด้วยทองปัญจะทังมวล เสี้ยงทอง 5 สิ่ง ล้านนึ่ง แล้วส้างเจติยะ กว้าง 3 วา สูง 7 วา จุธาตุหัวใจพระพุทธเจ้าองค์ 1 แล้วใส่ชื่อว่า วัดพระเจ้าล้านทอง ว่าอั้นแล"[1]

ภายหลังเมื่อเมืองเชียงแสนถูกตีแตก และได้รับการฟื้นฟูใหม่ใน พ.ศ. 2420 โดยการนำของพระยาราชเดชดำรง (เจ้าอินต๊ะ) เจ้าเมืองเชียงแสนในยุคฟื้นฟูเมืองคนแรก ได้เกณฑ์ชาวเมืองลำพูนและชาวเชียงแสนเดิมที่อพยพไปอยู่เชียงใหม่ - ลำพูน กลับมาแผ้วถางและร่วมมือฟื้นฟูวัดวาอารามต่างๆ วัดพระเจ้าล้านทองจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง[2]

พระพุทธรูปสำคัญ[แก้]

พระเจ้าล้านทอง[แก้]

พระเจ้าล้านทองในอุโบสถ

พระเจ้าล้านทอง สร้างในปี พ.ศ. 2032 โดยพระยาสรีรัชฏเงินกอง หนักประมาณ 1,200 กิโลกรัม หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตรเศษ

พระสิงห์หนึ่งชุ่มเชียงแสน[แก้]

พระสิงห์หนึ่งชุ่มเชียงแสน เดิมประดิษฐานอยู่วัดเจดีย์หลวง เชียงแสน ขณะยังเป็นวัดร้าง ต่อมาถูกอัญเชิญประดิษฐานที่วัดพระเจ้าล้านทอง ใต้ฐานมีจารึก แต่ไม่ค่อยชัด ปริวรรตโดย นายณัฐพงษ์ ปัญจบุรี ความว่า

...ขาสองเจ้าแม่ลู(ก)
...หล่อพระหาม...ลิ   
...หล่อไว้ใน(พิหาร)
...วัดนี้ ให้...  

พื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า พ.ศ. 1925 มหาเถรเจ้าสิริวังโสนำพระพุทธรูป 2 องค์คือ พระแก้ว พระคำ มาจากช้าพร้าว ใคร่สร้างวัดบนเกาะดอนแท่น จึงให้คนไปทูลขออนุญาตพญากือนา ยามนั้นพระองค์ป่วย จึงขออนุญาตมหาเทวีเจ้า (นางยสุนทรา) เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว สิริวังโสมหาเถรจึงชักชวนนายกอง นายแพง สร้างวัดพระแก้ว วัดพระคำบนเกาะดอนแท่น แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1929 แล้วแผ่บุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่พญาแสนเมืองมา และมหาเทวีทั้ง 2 แม่ลูก มหาเทวีมีอาชญาให้หมื่นยี่นาขุน (พระมังขุนยี่) เจ้าเมืองเชียงแสนไปถวายทานนา 5 นา กับ คน 2 คนไว้กับวัดพระแก้ว วัดพระคำ อภิชิต ศิริชัย สันนิษฐานว่าสองเจ้าแม่ลูกในจารึกพระสิงห์หนึ่งชุ่มเชียงแสนคือ นางยสุนทราเทวีและพญาแสนเมืองมา เป็นไปได้ว่าทั้งสองพระองค์อาจมีคำสั่งให้เจ้าเมืองเชียงแสนหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ถวายในวัดใดวัดหนึ่งในเมืองเชียงแสน หรืออาจเป็นวัดเจดีย์หลวงก็เป็นได้ เพื่อเป็นการทำบุญในเหตุการณ์ครั้งนี้[3]

พระเจ้าแสนแสว้ (แสนแซ่)[แก้]

พระเจ้าแสนแสว้ (แสนแซ่) เดิมประดิษฐานอยู่วัดแสนเมืองมา (ร้าง) ต่อมาถูกอัญเชิญประดิษฐานที่วัดพระเจ้าล้านทอง ใต้ฐานมีจารึกระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2272 ผู้สร้างคือมังพละสแพก (ส่างกอละ) เจ้าเมืองเชียงราย โมยหวาน (เมียวหวุ่น) เมืองเชียงแสน และพระนางบุษบาสิริวัฒนเทพาราชกัญญาเจ้า มเหสีของเจ้าฟ้าลักที เจ้าฟ้าเชียงแสน สร้างพระพุทธรูปองค์นี้เพื่ออุทิศให้กับเจ้าฟ้ายอดงำเมือง (พระยอดงำเมือง) เจ้าฟ้าเชียงแสน พระโอรสของพระนาง[4][5]

พระเจ้าทองทิพย์[แก้]

พระเจ้าทองทิพย์ อัญเชิญมาจากวัดพระเจ้าทองทิพย์ (ร้าง) หน้าตักกว้าง 1 ศอก 15 นิ้ว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้บนกุฏิ[6]

พระเจดีย์[แก้]

พระเจดีย์วัดพระเจ้าล้านทอง มีลักษณะแปลกตา พื้นเมืองเชียงแสนระบุขนาดเจดีย์องค์เดิมว่าฐานกว้าง 6 เมตร สูง 14 เมตร แต่ปัจจุบันฐานเจดีย์มีความกว้าง 13 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นการสร้างใน 2 ยุคสมัย คือมีองค์เจดีย์เดิมอยู่ข้างใน โดยส่วนบนยังปรากฏให้เห็นอยู่ และมีการสร้างครอบฐานเดิมเพื่อเสริมความมั่นคงให้เจดีย์หรือสร้างครอบเจดีย์องค์เดิมแต่ไม่สำเร็จ เหลือเพียงเฉพาะส่วนฐาน[7]


ศาลหลักเมืองเชียงแสน[แก้]

สะดือเมืองเชียงแสนองค์ปัจจุบัน สร้างด้วยลักษณะคล้ายจตุรมุขลึงค์

ในพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าบริเวณวัดพระเจ้าล้านทองเป็นหัวใจเมืองของเมืองเชียงแสน วัดพระเจ้าล้านทองจึงมีอีกชื่อเรียกว่าวัดหลวงกลางเวียง, วัดสะดือเมือง ในยุคฟื้นฟูเมืองเชียงแสน เจ้าอาวาสรูปแรกคือครูบาโพธิ์ มีเชื้อสายชาวเชียงแสนเดิมที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่เชียงใหม่ ท่านได้แผ้วถางบริเวณสถานที่ๆ เป็นสะดือเมืองเชียงแสน และกระทำบุญครั้งใหญ่ให้สะดือเมือง โดยยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ

พ.ศ. 2519 พระครูสุวรรณวิสุทธิคุณ (พระมหาทองสืบ วิสุทธาจาโร) เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าล้านทอง ท่านได้ปรารภกับญาติโยมในการสร้างศาลหลักเมืองเชียงแสน จึงได้เริ่มปรับพื้นที่และรวบรวมสรรพกำลังและละปัจจัย และเริ่มลงทอสร้างศาลหลักเมืองในปี พ.ศ. 2522 จนกระทั่ง พ.ศ. 2532 ได้จัดทำผ้าป่าเชิญชวนศรัทธาร่วมสมทบทุน และวางรากฐานสิ่งก่อสร้าง ใช้เวลาอยู่นานหลายปีไม่แล้วเสร็จ ต่อมาจึงมีศรัทธาหลายๆ ท่านร่วมสมทบปัจจัยเพิ่มขึ้น จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2542

อ้างอิง[แก้]

  1. สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต. พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2546
  2. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559
  3. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559
  4. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559
  5. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1950
  6. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559
  7. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559