วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง
หน้าตา
วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง | |
---|---|
ป้ายวัดพระหลวงธาตุเนิ้ง | |
ชื่อสามัญ | วัดพระหลวง |
ที่ตั้ง | เลขที่ 177 หมู่ที่ 5 ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ 54130 |
จุดสนใจ | เจดีย์พระธาตุเนิ้ง |
กิจกรรม | เดือนมีนาคมของทุกปี จะมีงานนมัสการพระธาตุเนิ้ง |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง วัดพระหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 177 หมู่ที่ 5 ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ นับเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านพระหลวงในปัจจุบัน วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด
ประวัติวัดพระหลวงธาตุเนิ้ง
[แก้]- จากตำนานวัดพระหลวง ซึ่งเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 โดยพระครูปัญญาภิชัย เจ้าอาวาสรูปที่ 13 ได้กล่าวว่า แต่เดิมหมู่บ้านและวัดพระหลวงแห่งนี้ เคยเป็นป่าใหญ่ดงหลวงมาก่อน มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นหนาทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุม ในจำนวนนั้นก็มีงูใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง จะคอยจับสัตว์ต่าง ๆ กินเป็นอาหาร แม้แต่สัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน หากพลัดหลงเข้าไปก็จะถูกงูกัดกินทุกคราวไป ครั้งหนึ่งมีพวกพ่อค้าชาวฮ่อ (จีนฮ่อ) นำสินค้าบรรทุกหลังม้ามาขายและพากันพักแรมที่บ้านสูงเม่น โดยปล่อยม้าให้เที่ยวหากินบริเวณใกล้เคียง ม้าบางตัวที่ล่วงล้ำเข้าไปในดงหลวงก็จะถูกงูใหญ่รัดกินเป็นอาหาร เมื่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง ก็ทำความโกรธแค้นให้แก่พ่อค้าชาวจีนฮ่อเป็นอย่างมาก จึงช่วยกันหาวิธีกำจัดงูนั้นเสีย โดยช่วยกันตัดไม้ไผ่มาผ่า แล้วเหลาเอาผิวไม้มาสานขัดแตะเป็นตาแสง 6 เหลี่ยม ซึ่งชาวเมืองเหนือเรียกว่า “ตาแหลว” กะให้รูบ่วงตาแหลวมีขนาดกว้างพอ ๆ กับขนาดขนาดตัวงู แล้วนำไปปิดปากรู ตอกหลักยึดเงื่อนตาแหลวไว้ให้ตรึงแน่นหนา รุ่งขึ้นอีกวันก็พากันมาดูพบว่างูใหญ่ติดบ่วงตาแหลวงอยู่ จึงช่วยกันฆ่างูนั้นเสีย แล้วตัดซากงูออกเป็นท่อน ๆ กองไว้ใกล้ ๆ รูงูนั้น หลังจากวันนั้นพ่อค้าชาวจีนฮ่อก็นำสินค้าไปขายตามปกติ ครั้นเมื่อขายสินค้าหมดก็เดินทางกลับ และพากันไปดูซากงูที่กองไว้ ปรากฏว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง เพราะซากงูกลายเป็นท่อนเงินท่อนทอง จึงแบ่งท่อนเงินท่อนทองนั้นออกเป็น 3 ส่วน พวกพ่อค้าเอาไป 1 ส่วน นำไปถวายเจ้าฟ้า (เจ้าเมือง) 1 ส่วน และฝังไว้บริเวณรูงูนั้น 1 ส่วน
- ต่อมามีกลุ่มชนคณะหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นพวกม่านหรือพม่า ได้พากันมาบุกเบิกป่าดงหลวงนั้น แล้วตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและสร้างวัดขึ้นพร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์ครอบรูงูไว้ จึงเกิดเป็นหมู่บ้านและวัดขึ้น และไม่ปรากฏว่าชุมชนนี้อยู่บริเวณนี้นานเท่าใด ได้อพยพหรือถูกกวาดต้อนเนื่องจากสงครามไปที่ไหนเมื่อไร คงปล่อยให้เป็นหมู่บ้านและวัดร้างอีกเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นป่าใหญ่ดงหลวง โบสถ์วิหารสิ่งก่อสร้างสลักหักพังเหลือแต่ซากและแนวขอบเขตของวัด อีกทั้งเจดีย์ พระพุทธรูปพระประธานก็ชำรุดทรุดโทรมมาก จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2330 ได้มีชนกลุ่มไทลื้อ ชาวเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พากันอพยพลงมาทางใต้ถึงบ้านสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยมีพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน 3 วัด 3 หมู่บ้าน มาสร้างบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านขึ้น และช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้าง ตลอดจนพระประธานองค์ใหญ่ในวิหาร และให้ชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระหลวง” และหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านพระหลวง” ซึ่งทั้งวัดและหมู่บ้านมีคำว่าหลวง คงเกิดจากที่มีพระประธานองค์ใหญ่ มีชาวบ้านอพยพมาอยู่มากถึง 3 หมู่บ้านและ 3 วัดด้วยกัน และสถานที่นี้เป็นป่าใหญ่ดงหลวง วัดพระหลวงมีโบราณสถานที่มีความสำคัญหลายแห่งคือ เจดีย์วัดพระหลวง หอไตร หอระฆัง ซึ่งชาวบ้านได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานให้เป็นปูชนียสถานที่ควรค่าแก่การเคารพสักการะ และเป็นศูนย์รวมของชุมชนในท้องถิ่นสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
ประเพณีนมัสการพระธาตุเนิ้ง
[แก้]- จัดขึ้นในเดือน มีนาคม ของทุกปี [1]
- ปี 2561 ประเพณีนมัสการพระธาตุเนิ้ง ณ วัดพระหลวง ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ จัดระหว่างวันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ 2561
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-21. สืบค้นเมื่อ 2009-03-03.