วัดพระธาตุดอยเวา
วัดพระธาตุดอยเวา | |
---|---|
พระธาตุดอยเวา พระธาตุเหนือสุดแดนสยาม ห่างจากพรมแดนเพียง 500 เมตร | |
ชื่อสามัญ | วัดพระธาตุดอยเวา |
ที่ตั้ง | ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย |
หมายเหตุ | ทางเข้าแคบ นักท่องเที่ยวมาก ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระธาตุดอยเวา เป็นวัดอันเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยเวา พระธาตุที่เชื่อกันว่า มีความเก่าแก่เป็นรองพระธาตุดอยตุง พระธาตุดอยเวานั้น ตั้งอยู่บนยอดดอยเวา แต่พระอุโบสถและเขตสังฆาวาสจะอยู่ที่เชิงดอย ผู้ที่จะขึ้นไปนมัสการต้องเดินขึ้นบันไดไปนมัสการ ซึ่งข้างบนเป็นจุดชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำสาย สามารถเห็นทัศนียภาพได้รอบทิศ
ประวัติ
[แก้]พระธาตุดอยเวา สร้างใน พ.ศ. 296 ในรัชสมัยพระองค์เวา รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองนครโยนกนาคพันธุ์ โดยชื่อนั้นได้นำมาจากพระนามของพระองค์เวา ต่อมาพระธาตุเจดีย์ได้พังลงตามกาลเวลา นายบุญยืน ศรีสมุทร คฤหบดีอำเภอแม่สาย ได้ร่วมกับ พระภิกษุดวงแสง รัตนมณี พร้อมด้วย ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และ กรมศิลปากร ร่วมกันจัดสร้างขึ้นขึ้นใหม่ ในการขุดแต่งครั้งนี้ พบผอบหินสีดำ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 พระองค์ จึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานในองค์พระธาตุดังเดิม มีการวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2494 และสร้างเสร็จพร้อมฉลองสมโภชพระธาตุในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 โดยมีพุทธบริษัททั้งสองประเทศ ร่วมงานอย่างคับคั่ง
ประเพณี
[แก้]ปัจจุบันมีประเพณีนมัสการพระธาตุในทุกๆปี โดยจะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เหนือ (ตรงกับเดือน 3 ใต้ คือ วันมาฆบูชา) และมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ในวันสงกรานต์ ของทุกปี
สิ่งที่น่าสนใจ
[แก้]บริเวณโดยรอบองค์พระธาตุบนยอดนั้น ยังเป็นที่ตั้งของไพชยนต์ปราสาท ซึ่งเป็นวิหารขนาดเล็ก ประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง (หรือโดยนัยว่าเป็นพระอินทร์) และมีรูปปั้นแมงป่องยักษ์ เพื่อรำลึกถึงพระองค์เวา (เวา ภาษาล้านนาแปลว่า แมงป่อง) และมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้สักการบูชา นอกจากนี้ยังมีจุดชมทัศนียภาพสองฝั่งสายด้วย ปัจจุบันได้มีถนนขึ้นและลงดอยแล้ว เป็นถนนคอนกรีตอย่างดี ใช้ได้ทุกฤดูกาล แต่ทางค่อนข้างชัน
อ้างอิง
[แก้]- บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น, พระธาตุดอยเวา (ป้ายประชาสัมพันธ์)
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เขต 2, พระธาตุดอยเวา (ป้ายประชาสัมพันธ์)