วัดธรรมปทีป (ประเทศฝรั่งเศส)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดธรรมปทีป

ประวัติวัดธรรมปทีป[แก้]

จุดตั้งต้นของวัดธรรมปทีปนั้น เริ่มขึ้นมาในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) โดยการนำของ พระมหาเกรียงไกร ธีรรํสิโก ป.ธ.9 ร่วมกับศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในสาธารณรัฐฝรั่งเศสและภาคพื้นทวีปยุโรปได้ร่วมกันจัดตั้งพุทธสมาคมไทยนานาชาติแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Association Internationale Thai des Bouddhistes en France, A.I.T.B.F.) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแผ่และ ทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาให้เป็นหลักของศาสนิกชนโดย ไม่แบ่งแยกภาษา และเชื้อชาติ เพื่อประโยชน์สุขของชาวพุทธ และชาวโลกทุกหมู่เหล่า

ต่อมา วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ทาง พุทธสมาคมไทยนานาชาติแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับการ รับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นสมาคมองค์กรการกุศล ตามกฎหมาย ( Préfecture de la Seine-et-Marne ) และ ได้รับการประกาศชื่อ “พุทธสมาคมไทยนานาชาติ แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (A.I.T.B.F.) อย่างเป็นทางการในหนังสือ ทางการของประเทศฝรั่งเศส (JOURNAL OFFICIEL DE LA RÉPUBLIQUE FRANÇAISE) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ของปีเดียวกัน กว่าจะมาเป็น “วัดธรรมปทีป”

การดำเนินการเบื้องต้นนั้น พระมหาเกรียงไกร ธีรรํสิโก ป.ธ.9 ร่วมกับพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในสาธารณรัฐฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป ได้จัดงาน ทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศลขึ้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 (ค.ศ. 1999) เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหาวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษา โดยมีวัตถุประสงค์จัดตั้งเป็นกองทุนเริ่มแรกในการซื้อที่ดิน เพื่อสร้าง “วัดธรรมปทีป” ให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาในประเทศฝรั่งเศสและเพื่อเป็นศูนย์รวม จิตใจของชาวพุทธทุกเชื้อชาติ ในการจัดงานครั้งนั้นได้ปัจจัย มาเป็นจำนวน 320,504 ฟรังซ์ (สามแสนสองหมื่น ห้าร้อยสี่ฟรังซ์)

และได้จัดซื้อ Château de Lugny เลขที่ 243 Rue des Marronniers เขตเมืองมัวซี ครามาแยล (Moissy-Cramayel) มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 50 ไร่ (5 hectares 81 ares et 83 centiares ) ซึ่งประกอบด้วยตัวปราสาทที่สร้างขึ้นในราวกลาง ศตวรรษที่ 19 อาคารที่พักอีกจำนวน 5 หลัง และสวนป่าอนุรักษ์แห่งเมืองมัวซี ครามาแยล ซึ่งอยู่ห่างจาก กรุงปารีสประมาณ 50 กิโลเมตร

ต่อมา ได้ดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขาย ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จากสมาคม AMANA Hommes et Migrations เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) โดยต้องใช้ทุนทรัพย์ในการดำเนินการทั้งสิ้น 3,850,000 ฟรังซ์ (สามล้านแปดแสนห้าหมื่นฟรังซ์) ในการนี้ทางพระมหาเกรียงไกร ธีรรํสิโก ป.ธ.9 ได้นำเงินสดจำนวน 1,000,000 ฟรังซ์ (หนึ่งล้านฟรังซ์) ซึ่งได้มาจากการทำบุญของพุทธศาสนิกชนทุกเชื้อชาติ ไปใช้ดำเนินการทำสัญญากู้เงิน จากธนาคาร Credit Cooperatif เป็นจำนวนเงิน 2,900,000 ฟรังซ์ (สองล้านเก้าแสนฟรังซ์) โดยมีสัญญาผ่อนชำระ 10 ปี โดยใช้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เป็นทุนทรัพย์ค้ำประกันในการ กู้ยืมจึงทำให้การดำเนินการซื้อขาย เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย

หลังจากที่จัดหาพื้นที่สำหรับการเตรียมการสร้างวัดได้สำเร็จแล้ว ในปีเดียวกันนั้นเอง (พ.ศ. 2543 / ค.ศ. 2000) พระมหาเกรียงไกร ธีรรํสิโก ป.ธ.9 ได้นิมนต์เหล่าคณะพระธรรมทูต สายธรรมยุต ผู้มีความตั้งใจและมีปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะ “จาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มากและเพื่อเกื้อกูล แก่ชาวโลก” ให้เดินทางมายังฝรั่งเศส เพื่อร่วมเป็นกำลังสำคัญ ร่วมกับคณะศรัทธาชาวพุทธทั้งในสาธารณรัฐฝรั่งเศส และภาคพื้นยุโรปซึ่งต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาปรับปรุง เสนาสนะและจัดตั้ง “วัดธรรมปทีป” ขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ โดยยึดหลักการและแนวคิดของการทำงานเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่คำนึงถึงประเทศใด ชาติใด ภาษาใด แต่คำนึงถึงประโยชน์ สุขของชาวพุทธและชาวโลกเป็นสำคัญ

ในปี พ.ศ. 2543 คณะสงฆ์ไทย นำโดยมหาเถรสมาคม ได้มีมติรับทราบการก่อตั้งวัดธรรมปทีปอย่างเป็นทางการและแต่งตั้งให้ พระมหาเกรียงไกร รธีรรํสิโก ป.ธ.9 เป็นเจ้าอาวาสวัด ธรรมปทีป

และด้วยพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าที่ ดำเนินเรื่อยมาอย่างเข้มแข็งตลอดระยะ เวลา 6 ปี ก็ได้ทำให้ พุทธศาสนาในยุโรปได้ตั้งมั่นถาวรขึ้น ด้วยการร่วมกันประกอบ พิธีผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตและฉลองอุโบสถขึ้นเป็นผลสำเร็จ ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006)

ณ เวลานั้น นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของปราสาทลุญญี แห่งเมืองมัวซี ครามาแยล สาธารณรัฐฝรั่งเศส ไปในคราวเดียวกัน เมื่อปราสาทลุญญีซึ่งสร้างขึ้นในกลาง ศตวรรษที่ 19 ได้รับการ สถาปนาให้เป็นอุโบสถในพุทธศาสนา นับเป็นการแฝงฝังจิตวิญญาณใหม่แห่งโลกตะวันออกลงไป ในสถาปัตยกรรมตะวันตกเพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก และเป็นสิ่งยืนยันว่า พุทธศาสนานั้นสามารถตั้งมั่น เติบโต และแผ่ร่มเงาได้ข้ามพ้นพรมแดนของภาษา และเชื้อชาติ

พระมหาเกรียงไกร ธีรรํสิโก ป.ธ.9 ร่วมกับคณะสงฆ์ พระธรรมทูต วัดธรรมปทีปสามารถสร้างวัดได้สำเร็จและมี ความเจริญทั้งทางศาสนถาวรวัตถุและการเผยแผ่ศาสนา ก็เนื่องด้วยความศรัทธา ช่วยเหลือ ส่งเสริมและเสียสละ ของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ทั้งจากชาวไทย ลาว จีน กัมพูชา เวียดนาม ฝรั่งเศสและจากสหภาพยุโรป จนในท้ายที่สุด ทางวัดธรรมปทีป สามารถชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาจากธนาคาร ได้ก่อนกำหนด ในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ที่ผ่านมา

ณ กาลปัจจุบัน พุทธศักราช 2552 (ค.ศ. 2009) วัดธรรมปทีปได้วัฒนาถาวรมาถึงขวบปีที่ 9 ภารกิจของ พุทธศาสนา คณะสงฆ์และพระธรรมทูต ยังคงดำเนินอยู่สืบไป โดยร่วมแรงร่วมใจกันกับคณะศรัทธาทุกกลุ่มชน อย่างไร้ข้อ จำกัดทั้ง ทางภาษาและเชื้อชาติ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]