วงศ์ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่
วงศ์ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่ | |
---|---|
ปลาปักเป้าเอ็มบู (Tetraodon mbu) เป็นหนึ่งของสมาชิกในสกุล Tetraodon | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Tetraodontiformes |
วงศ์: | Tetraodontidae Bonaparte, 1832 |
สกุล [1] | |
| |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ทั่วโลก |
วงศ์ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่ (อังกฤษ: Puffers, Toadfishes, Blowfishes, Globefishes, Swellfishes) เป็นวงศ์ปลาปักเป้าจำพวกหนึ่ง มีรูปร่างเฉพาะตัวคือ กลมป้อม ส่วนโคนหางเล็ก ครีบหลังและครีบก้นเล็กสั้นอยู่ค่อนไปทางท้าย ครีบอกใหญ่กลมมน ครีบหางใหญ่ปลายมน ว่ายน้ำโดยใช้ครีบอกโบกพร้อมกับครีบหลังและครีบก้น เวลาตกใจสามารถพองตัวได้โดยสูบน้ำหรือลมเข้าในช่องท้อง ช่องเหงือกเล็ก หัวโต จะงอยปากยื่น มีฟันลักษณะคล้ายปากนกแก้ว 4 ซี่ ตาโตอยู่ค่อนไปทางด้านบนของหัว รูจมูกเป็นติ่งสั้น ๆ ผิวขรุขระ มีเกล็ดเป็นหนามเล็ก ๆ อยู่บริเวณด้านท้อง ผิวลำตัวส่วนอื่นเรียบ ใช้ชื่อวงศ์ว่า Tetraodontidae (/เท-ทรา-โอ-ดอน-ทิ-ดี้/)
พบมากในทะเลเขตร้อนรอบโลกและบริเวณปากแม่น้ำ ชนิดที่พบในน้ำจืดมีน้อย สำหรับในประเทศไทย พบทั้งสิ้น 32 ชนิดทั้งในทะเล, น้ำกร่อยและน้ำจืด (ดูในเนื้อหาข้างล่าง)
กินอาหารจำพวกสัตว์น้ำมีเปลือกเป็นอาหารหลัก เนื่องจากมีฟันสำหรับกัดแทะเปลือกแข็งที่เป็นแคลเซี่ยมได้เป็นอย่างดี และปลาด้วย รวมทั้งสามารถกัดแทะครีบปลาชนิดอื่นได้ด้วย ในบางชนิดมีพฤติกรรมชอบซุกตัวใต้พื้นทรายเพื่อรอดักเหยื่อ นอกจากแล้วยังสามารถพ่นน้ำจากปากเพื่อเป่าพื้นทรายหาอาหารที่ซ่อนตัวอยู่ได้อีกด้วย[2] [3]
เป็นปลาที่มีพิษร้ายแรง เมื่อกินเข้าไปอาจถึงตายได้ โดยจากการศึกษาปลาปักเป้าในวงศ์นี้ที่พบในประเทศไทย พบเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดที่มีการสะสมพิษในตัวจะมีอยู่จำนวน 8 ชนิด มากกว่าปลาปักเป้าน้ำกร่อยมีพิษ ซึ่งมีอยู่แค่ 4 ชนิด และลักษณะพิษของปลาปักเป้าน้ำจืดจะมีการสะสมพิษในอวัยวะทุกส่วน และพิษจะมีมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูวางไข่ ราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน[4] โดยพิษเกิดเนื่องจากแพลงก์ตอน หรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดพิษหลังจากปลาปักเป้ากินเข้าไป เมื่อมีผู้จับไปกินก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้[5]
ชนิดที่พบในไทย
[แก้]ทะเลและน้ำกร่อย
- Amblyrhynchotes honckenii
- Amblyrhynchotes hypselogenion
- ปลาปักเป้าหางไหม้ (Arothron immaculatus)
- ปลาปักเป้าหน้าหมา (Arothron nigropunctatus)
- ปลาปักเป้ายักษ์ (Arothron stellatus)
- Arothron reticularis
- ปลาปักเป้าทอง (Auriglobus modestus)
- Canthigaster margaritata
- Canthigaster rivulata
- ปลาปักเป้าสมพงษ์ (Carinotetraodon lorteti)
- ปลาปักเป้าตุ๊กแก (Chelonodon patoca)
- ปลาปักเป้าทอง (Chonerhinos naritus)
- ปลาปักเป้าหลังเรียบ (Lagocephalus inermis)
- ปลาปักเป้าแถบเงินหลังหนาม (Lagocephalus lunaris)
- ปลาปักเป้าหลังดำ (Lagocephalus sceleratus)
- Lagocephalus spadiceus
- ปลาปักเป้าลายพาดกลอน (Takifugu oblongus)
- Takifugu vermicularis
- ปลาปักเป้าซีลอน (Tetraodon biocellatus)
- ปลาปักเป้าเขียว (Tetraodon fluviatilis)
- ปลาปักเป้าจุดดำ (Tetraodon nigroviridris)
น้ำจืด
- ปลาปักเป้าทองแม่น้ำโขง (Auriglobus nefastus)
- ปลาปักเป้าหางวงเดือน (Leiodon cutcutia)
- ปลาปักเป้าจุดส้ม (Pao abei)
- ปลาปักเป้าขน (Pao baileyi)
- ปลาปักเป้าบึง (Pao brevirostris)[6]
- ปลาปักเป้าปากขวด (Pao cambodgensis)
- ปลาปักเป้าดำ (Pao cochinchinensis)
- ปลาปักเป้าท้องตาข่าย (Pao palembangensis)
- ปลาปักเป้าควาย (Pao suvatti)[7][3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Veeruraj, A. et al. 2011: Distribution of Tetraodontiformes (Family: Tetraodontidae) along the Parangipettai Coast, southeast coast of India. Zootaxa, 3015: 1–12. Preview
- ↑ Keiichi, Matsura & Tyler, James C. (1998). Paxton, J.R. & Eschmeyer, W.N.. ed. Encyclopedia of Fishes. San Diego: Academic Press. pp. 230–231. ISBN 0-12-547665-5.
- ↑ 3.0 3.1 นิตยสารอควาเรี่ยมบิส Vol.1 issue 4 ฉบับเดือนตุลาคม 2010 คอลัมน์ เปิดกรุ...ปักเป้าน้ำจืด
- ↑ "ปักเป้าน้ำจืดมีพิษ ฤดูวางไข่อันตรายสุด". ไทยรัฐ. 26 February 2015. สืบค้นเมื่อ 26 February 2015.
- ↑ "ไขปริศนา "ปักเป้าน้ำจืด" กินแล้วตายจริงหรือ?". โพสต์ทูเดย์. 23 February 2015. สืบค้นเมื่อ 26 February 2015.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "เที่ยงเกษตร : ปลาปักเป้าสายพันธุ์ใหม่". ช่อง 7. 29 May 2014. สืบค้นเมื่อ 26 January 2016.[ลิงก์เสีย]
- ↑ เอกสารทางวิชาการที่ 1/2536 เรื่อง การบริโภคปลาปักเป้าและความเป็นพิษ โดยนางสาวอัธยา กังสุวรรณ สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง