ข้ามไปเนื้อหา

ปลาปักเป้าดำแม่น้ำโขง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปลาปักเป้าบึง)
ปลาปักเป้าดำแม่น้ำโขง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Tetraodontiformes
วงศ์: Tetraodontidae
สกุล: Pao
สปีชีส์: P.  brevirostris
ชื่อทวินาม
Pao brevirostris
(Benl, 1957)
ชื่อพ้อง[1]
  • Tetraodon leiurus brevirostris Benl, 1957
  • Tetraodon brevirostris Benl, 1957
  • Monotrete brevirostris Benl, 1957
  • Tetraodon palustris Saenjundaeng et al., 2013

ปลาปักเป้าดำแม่น้ำโขง หรือ ปลาปักเป้าบึง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pao brevirostris[2]) เป็นปลาปักเป้าน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่ (Tetraodonidae)

ปลาปักเป้าดำแม่น้ำโขงมีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาปักเป้าดำ (P. cochinchinensis) และปลาปักเป้าจุดแดง (P. abei) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันที่จุดที่ข้างลำตัวจะไม่มีจุดที่กลมใหญ่เหมือนรูปดวงตาในปลาขนาดใหญ่ (แต่ในปลาขนาดเล็ก อาจจะยังมีอยู่) แต่จะมีลักษณะเป็นวงดำ โดยสีทั่วไปเป็นสีคล้ำบนพื้นสีเขียวขี้ม้า มีดวงตาสีแดง และมีแนวของเกล็ดฝอยขนาดเล็กบนผิวหนังที่เป็นลักษณะสาก คลุมลงมาแค่ระหว่างดวงตา แต่ไม่ถึงบริเวณช่องจมูก ด้านท้องมีจุดเล็กเป็นแต้ม ๆ ตัวเมียมีสีจางกว่าตัวผู้

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15 เซนติเมตร แต่โดยเฉลี่ยประมาณ 8-10 เซนติเมตร พบเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น ตั้งแต่จังหวัดหนองคาย, อุดรธานี, บึงกาฬ พบอาศัยอยู่ในน้ำตื้นของแหล่งน้ำนิ่ง พบได้ตลอดทั้งปี เช่น หนอง หรือบึง ที่มีน้ำใสสะอาดมีพืชน้ำ และชายฝั่งมีต้นไม้น้ำขึ้นหนาแน่น

ปลาปักเป้าดำแม่น้ำโขงได้รับการอนุกรมวิธานโดยภาสกร แสนจันแดง, ชวลิต วิทยานนท์ และชัยวุฒิ กรุดพันธ์ นักมีนวิทยาชาวไทย จากการศึกษาวิจัยร่วมกันในเรื่องปลาปักเป้าน้ำจืดในสกุลเดียวกันนี้ในลุ่มแม่น้ำโขง 6 ชนิด ซึ่งปลาปักเป้าดำแม่น้ำโขงนั้นเป็นรู้จักกันมานานไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว โดยปะปนไปกับปลาปักเป้าชนิดอื่น ๆ และเพิ่งถูกแยกออกมาต่างหากเมื่อปี ค.ศ. 2013 โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tetraodon palustris ซึ่งคำว่า palustris เป็นภาษาละติน หมายถึง "หนอง, บึง" อันเป็นแหล่งอาศัยนั่นเอง[3] แต่ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน มอริส ก็อตลา นักมีนวิทยาชาวสวิสได้ศึกษาปลาปักเป้าน้ำจืดใหม่จึงพบว่า เป็นปลาปักเป้าที่มีผู้ได้อนุกรมวิธานไว้แล้ว และได้ตั้งชื่อสกุลให้ใหม่ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Benl, G.; 1957: Tetraodon leiurus brevirostris, subsp. nova. Ein Nachtrag zu den Süßwasser-Kugelfischen in DATZ 9 (6-8), 1956. Aquarien und Terrarien-Zeitschrift, 10 (3): 63-65
  2. 2.0 2.1 Kottelat, M. (2013): The Fishes of the Inland Waters of Southeast Asia: A Catalogue and Core Bibliography of the Fishes Known to Occur in Freshwaters, Mangroves and Estuaries. เก็บถาวร 2013-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Raffles Bulletin of Zoology, 2013, Supplement No. 27: 1–663.
  3. Tetraodon palustris ปักเป้าชนิดใหม่ จากลุ่มน้ำโขง, คอลัมน์ "Aqua Update" โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ หน้า 38-39. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 38: สิงหาคม 2013

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pao brevirostris ที่วิกิสปีชีส์