ลาวดวงเดือน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พ.ศ. 2425–2452) ผู้แต่งเพลงนี้

"ลาวดำเนินเกวียน" นิยมเรียกว่า "ลาวดวงเดือน" เป็นเพลงไทยเดิม ผู้แต่ง คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสพระองค์ที่ 41 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระมหากษัตริย์ประเทศสยาม กับเจ้าจอมมารดามรกฎ

เอกสารทั่วไประบุว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จภาคอีสานด้วยเกวียน จึงทรงแต่งเพลงนี้ขึ้น มีทำนองแบบเพลงลาว และประทานชื่อว่า "ลาวดำเนินเกวียน" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการเสด็จคราวนั้น[1][2] แต่เอกสารบางฉบับก็อ้างถึงคำเล่าลือว่า พระองค์ทรงแต่งเพลงนี้ขึ้นเพราะทรงคิดถึงเจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ รักแรกที่ไม่สมหวังของพระองค์[3][4]

ประวัติ[แก้]

เอกสาร ประวัติและบทขับร้องเพลงไทยบางบท ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2522 ระบุว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมโปรดเพลง "ลาวดำเนินทราย" ที่พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) แต่งมาก ครั้งหนึ่งขณะเสด็จตรวจราชการด้วยหนทางเกวียน จึงทรงแต่งเพลงนี้ขึ้น ประทานชื่อว่า "ลาวดำเนินเกวียน" ให้คู่กันกับ "ลาวดำเนินทราย" แต่เนื่องจาก "ลาวดำเนินเกวียน" ขึ้นต้นบทร้องว่า "โอ้ละหนอดวงเดือนเอย" ภายหลังจึงนิยมเรียกว่า "ลาวดวงเดือน" ต่อมาใน พ.ศ. 2474 มนตรี ตราโมท นำเพลง "ลาวดำเนินเกวียน" มาดัดแปลงเป็นเพลงใหม่ โดย "แต่งขึ้นเป็น 3 ชั้น และตัดแต่งลงเป็นชั้นเดียว พร้อมกับแต่งบทร้องขึ้นใหม่ให้ครบทั้งเถา" แล้วตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "โสมส่องแสง"[1]

เอกสาร อธิบายเพลงโสมส่องแสง เถา ของกรมศิลปากร ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2509 ให้ข้อมูลทำนองเดียวกันว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงมีวงปี่พาทย์ของพระองค์เอง ชื่อ "วงพระองค์เพ็ญ" และโปรดเพลง "ลาวดำเนินทราย" ซึ่งเป็นเพลงสำเนียงลาวมาก ครั้งหนึ่งขณะ "เสด็จตรวจราชการ (ดูเหมือนจะเป็นทางภาคอีสาน) ซึ่งใช้เกวียนเป็นพาหนะ ระหว่างที่ประทับแรมอยู่ตามทาง จึงทรงแต่งเพลงให้มีทำนองเป็นสำเนียงลาวขึ้นเพลงหนึ่ง โดยมีลีลาแบบเพลงลาวดำเนินทรายเพื่อเป็นคู่กัน ประทานชื่อว่า 'เพลงลาวดำเนินเกวียน' เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเสด็จนั้น" แต่ภายหลังนิยมเรียกว่า เพลง "ลาวดวงเดือน" เพราะคำร้องมักขึ้นต้นและจบลงว่า "ดวงเดือนเอย"[2] เอกสารของกรมศิลปากรดังกล่าวให้ข้อมูลแตกต่างเล็กน้อยในเรื่องที่มนตรี ตราโมท ดัดแปลงเพลงนี้เป็นเพลง "โสมส่องแสง" โดยระบุว่า เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2494 (มิใช่ 2474)[2]

หนังสือ ร้อยเรียงเวียงวัง ของกิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2543 อ้างว่า ในราว พ.ศ. 2446 กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จไปตรวจการทำไหมในมณฑลอีสาน ทรงคิดถึงหญิงผู้เป็นรักแรก คือ เจ้าหญิงชมชื่น (ณ เชียงใหม่) ธิดาของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (ธรรมลังกา) กับเจ้าหญิงคำย่น ซึ่งถูกรัชกาลที่ 5 พระบิดา คัดค้านการสมรสกันโดยไม่ปรากฏเหตุผล จึงทรงแต่งเพลงนี้ขึ้น ประทานชื่อว่า "ลาวดำเนินเกวียน" เพราะอยู่ระหว่างเสด็จด้วยเกวียน และให้เข้าคู่กันกับเพลง "ลาวดำเนินทราย"[3] กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวมาจากการ "เล่ากัน"[3]

บทความ อาศรมมิวสิก: ปลดแอกลาวออกจากเพลง เหลือแค่ดวงเดือนทำนองเมืองเหนือ ซึ่งสุกรี เจริญสุข เขียนเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2564 ว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงพบรักกับเจ้าหญิงชมชื่นแห่งเชียงใหม่ โปรดให้ข้าหลวงมณฑลพายัพเป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอ แต่ไม่เป็นผล เพราะผู้ใหญ่ฝ่ายเชียงใหม่ต้องการรอให้เจ้าหญิงอายุครบ 18 ปีก่อน ส่วนรัชกาลที่ 5 ก็ไม่ทรงอนุญาต และพระราชวงศ์ที่กรุงเทพฯ ก็ทัดทาน ต่อมาในราว พ.ศ. 2447–8 กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จหัวเมืองอีสานด้วยเกวียน "ด้วยพลังของความคิดถึงหญิงคนรัก" จึงทรงแต่งเพลงนี้ขึ้น ตั้งชื่อว่า "ลาวดำเนินเกวียน" สุกรี เจริญสุข ยังอ้างว่า "ลือกันว่า" ภายหลัง กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมตรอมพระทัยที่ไม่ได้สมหวังกับเจ้าหญิงชมชื่น จนประชวรโรคปอดสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2452 พระชันษาได้ 27 ปี ส่วนเจ้าหญิงชมชื่นเองที่ไปสมรสกับเจ้าน้อยสิงห์คำ ณ ลำพูน นั้น ก็ตรอมใจเสียชีวิตในปีถัดมา คือ พ.ศ. 2452 อายุได้ 23 ปี[4]

เนื้อร้อง[แก้]

ขจร ปานะนนท์[แก้]

เอกสาร บทร้องเพลงไทยเดิม ของขจร ปานะนนท์ ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2502 ระบุเนื้อร้องเพลงนี้ไว้ ดังนี้[1]

เที่ยวต้น (1) โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่นี้เว้าเจ้าสาวคำดวง โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงเจ้าดวงเดือนเอย
(2) ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม จะหาไหนมาเทียมเจ้าดวงเดือนเอย
(3) หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูเรียมเอย ถึงจะหอมกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย กลิ่นหอมทรามเชยเล่าเนอ
เที่ยวกลับ (1) โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่นี้รักแสนดังดวงใจ โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
(2) เห็นเดือนแรมเริดร้างเวหา เบิ่งดูฟ้าเล่าหนอ เห็นมืดมนจะทนทุกข์ ทุกข์ทนจะขาดใจเอย
(3) เสียงไก่ขันขาน เสียงหวานเจื้อยแจ้ว มันหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย ถึงจะหวานเสนาะ หวานเพราะกระไรเลย บ่แม้นทรามเล่าหนอ

กรมศิลปากร[แก้]

เอกสาร อธิบายเพลงโสมส่องแสง เถา ของกรมศิลปากร ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2509 ให้เนื้อร้องที่ต่างออกไป ดังนี้[2]

 โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย
ข้อยมาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอ ข้อยขอลาล่วง
อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
 ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม
ข้อยนี้รักเจ้าหนอ ขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย
 หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้
หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูของเรียมเอย
หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย
เนื้อหอมทรามเชย เราละเหนอ
 โอ้ละหนอ นวลตาเอย
ข้อยนี้รัก แสนดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรม ต้องจำจากไป
อกพี่อาลัย เจ้าดวงเดือนเอย

ในวัฒนธรรมประชานิยม[แก้]

เพลงนี้ถูกใช้เป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ซึ่งตรวจพบในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2534 โดยมุ่งทำลายหน่วยพักความจำในฮาร์ดดิสก์และฟล็อปปีดิสก์ และทุก ๆ ครั้งที่เข้าถึงดิสก์ครบ 128 ครั้ง จะเล่นเพลงนี้ออกทางลำโพง เรียกชื่อว่า "ไวรัสลาวดวงเดือน" ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Loa Duong Virus"[5][6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "ประวัติและบทขับร้องเพลงไทยบางบท". (2522). ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงลมุน บุรกรรมโกวิท ณ เมรุวัดธาตุทอง สุขุมวิท พระโขนง กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 14 สิงหาคม 2522 (หน้า 11–12). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 กรมศิลปากร. (2509). "อธิบายเพลงโสมส่องแสง เถา". ใน เกร็ดความรู้ เรื่อง ดนตรีไทย (หน้า 59–66). พระนคร: โรงพิมพ์อำพลพิทยา. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายพิษณุ แช่มบาง ณ เมรุวัดระฆังโฆษิตาราม ธนบุรี วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2509).
  3. 3.0 3.1 3.2 กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. (2543). ร้อยเรียงเวียงวัง. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า. ISBN 974-690-162-1. หน้า 153–156.
  4. 4.0 4.1 สุกรี เจริญสุข. (2564). อาศรมมิวสิก: ปลดแอกลาวออกจากเพลง เหลือแค่ดวงเดือนทำนองเมืองเหนือ. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2564 จาก Link
  5. Patricia Hoffman. (n.d.). "Loa Duong Virus". Virus Information Summary List. Retrieved 10 October 2021 from Link
  6. มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะศึกษาศาสตร์, ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา. (ม.ป.ป.). ไวรัสคอมพิวเตอร์. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2564 จาก Link[ลิงก์เสีย]