ข้ามไปเนื้อหา

รัฐบัญญัติซาร์เบนส์–ออกซเลย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผู้สนับสนุนร่างกฎหมายเริ่มแรกสองราย ได้แก่ วุฒิสมาชิก พอล ซาร์เบนส์ (เดโมแครต) จากรัฐแมริแลนด์ และผู้แทนราษฎร ไมเคิล จี. ออกซเลย์ (ริพับลิกัน) จากรัฐโอไฮโอ

รัฐบัญญัติซาร์เบนส์–ออกซเลย์ ค.ศ. 2002 (อังกฤษ: Sarbanes–Oxley Act of 2002) เรียกในวุฒิสภาสหรัฐว่า "รัฐบัญญัติปฏิรูปการบัญชีบริษัทมหาชนและคุ้มครองนักลงทุน" (อังกฤษ: Public Company Accounting Reform and Investor Protection Act) เรียกในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่า "รัฐบัญญัติภาระความรับผิดและความรับผิดชอบในการสอบบัญชีและบรรษัท" (อังกฤษ: Corporate and Auditing Accountability and Responsibility Act) และเรียกโดยทั่วไปว่า ซาร์เบนส์–ออกซเลย์, ซาร์บอกซ์, หรือ ซอกซ์ (อังกฤษ: Sarbanes–Oxley, Sarbox, หรือ SOX) เป็นกฎหมายกลางของสหรัฐที่วางหรือขยายข้อกำหนดสำหรับคณะกรรมการบริษัทมหาชน องค์กรด้านบริหารจัดการ และองค์กรด้านสอบบัญชีสาธารณะทั้งหมดในสหรัฐ นอกจากนี้ บทบัญญัติจำนวนหนึ่งของรัฐบัญญัติยังใช้บังคับแก่บริษัทเอกชน เช่น เรื่องการจงใจทำลายพยานหลักฐานเพื่อขัดขวางการสืบสวนกลาง

รัฐบัญญัตินี้ประกอบด้วยบทบัญญัติ 11 มาตรา ตราขึ้นเนื่องจากเรื่องอื้อฉาวขนานใหญ่ในทางบัญชีและบรรษัทจำนวนหนึ่ง เช่น กรณีของบริษัทเอ็นรอนและเวิลด์คอม บทบัญญัติดังกล่าวครอบคลุมความรับผิดชอบของคณะกรรมการบรรษัทมหาชน เพิ่มบทลงโทษการประพฤติมิชอบบางกรณี และกำหนดให้คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ หรือเอสอีซี (Securities and Exchange Commission; SEC) ออกกฏเพื่อกำหนดวิธีการที่บริษัทมหาชนจะปฏิบัติตามกฎหมาย

ประวัติ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 2002 รัฐบัญญัติตั้งชื่อตามผู้สนับสนุนเริ่มแรกสองราย ได้แก่ สมาชิกวุฒิสภา พอล ซาร์เบนส์ (เดโมแครต) จากรัฐแมริแลนด์ และผู้แทนราษฎร ไมเคิล จี. ออกซเลย์ (ริพับลิกัน) จากรัฐโอไฮโอ ซึ่งผลของกฎหมายฉบับนี้ทำให้ฝ่ายบริหารระดับสูงขององค์กรต้องยืนยันความถูกต้องของข้อมูลทางการเงินเป็นรายปัจเจกบุคคล และยังได้เพิ่มเติมบทลงโทษสำหรับการประพฤติมิชอบหรือการฉ้อโกงทางการเงินให้รุนแรงมากกว่าเดิม นอกจากนี้กฎหมายได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด มีบทบาทในการกำกับดูแลคณะกรรมการบริหารขององค์กรและความเป็นอิสระของผู้ตรวจสอบบัญชีจากภายนอก ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบหรือทบทวนความถูกต้องของงบการเงินในแต่ละบริษัท[1]

รัฐบัญญัติประกอบไปด้วยบทบัญญัติ 11 มาตรา ตราขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเรื่องอื้อฉาวทางการบัญชีและธุรกิจครั้งใหญ่หลายครั้ง เช่นกรณีของ เอ็นรอน, ไทโคอินเตอร์เนชันแนล, อะเดลเฟีย, เพเรไกรนด์ซิสเตม และเวิลด์คอม ซึ่งเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้ทำให้นักลงทุนต้องสูญเสียทรัพย์สินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทที่ลงทุนได้รับผลกระทบจนมีมูลค่าตกต่ำอย่างหนัก และบั่นทอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อตลาดเงินทุนของสหรัฐอเมริกา

บทบัญญัติทั้ง 11 มาตรามีเนื้อหาครอบคลุมไล่ตั้งแต่บทลงโทษทางอาญาเพิ่มเติมต่อความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท และกำหนดให้คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ หรือเอสอีซี ตราข้อกำหนดเพื่อให้บริษัทมีการปฏิบัติตตามกฎหมาย เป็นต้น ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ คนที่ 26 ฮาร์วีย์ พิตต์ จึงเป็นผู้นำในการตรากฎระเบียบเพื่อให้รัฐบัญญัติซาร์เบนส์–ออกซเลย์มีผลใช้บังคับเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้มีการจัดตั้งองค์กรกึ่งอิสระขึ้นมาใหม่ชื่อว่า คณะกรรมการกำกับการบัญชีของบริษัทมหาชน หรือ พีซีเอโอบี (Public Company Accounting Oversight Board; PCAOB) มีหน้าที่กำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ และสอบทานบริษัทตรวจสอบบัญชีในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทมหาชน กฎหมายฉบับนี้ยังได้ครอบคลุมประเด็นอื่น ๆ เช่น ความเป็นอิสระของผู้ตรวจสอบบัญชี การกำกับดูแลกิจการ (บรรษัทภิบาล) การประเมินการควบคุมคุมภายใน และการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเพิ่มเติม ทั้งนี้รากฐานของรัฐบัญญัติซาร์เบนส์–ออกซเลย์ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากกรณีศึกษาและงานวิจัยฉบับครอบคลุมสมบูรณ์ของ ไฟแนนเชียลเอ็กเซคิทีฟส์รีเชิร์ชฟาวเดชัน หรือ เอฟอีอาร์เอฟ (Financial Executives Research Foundation; FERF) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไรของ ไฟแนนเชียลเอ็กเซคิทีฟอินเตอร์เนชันแนล หรือ เอฟอีไอ (Financial Executives International; FEI)

รัฐบัญญัติผ่านการเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐด้วยเสียงสนับสนุน 423 เสียง, คัดค้าน 3 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง และวุฒิสภาสหรัฐด้วยเสียงสนับสนุน 99 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ต่อมาประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช จึงได้ลงนามให้เป็นกฎหมาย พร้อมกับกล่าวว่ารัฐบัญญัติฉบับนี้มีส่วนใน "การปฏิรูปซึ่งมีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวิธีปฏิบัติทางธุรกิจของชาวอเมริกันมากที่สุดนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ยุคสมัยของมาตรฐานอันต่ำต้อยและผลกำไรในทางที่ผิดได้สิ้นสุดลงแล้ว จะไม่มีห้องประชุมคณะกรรมการแห่งใดในสหรัฐอเมริกาที่อยู่นอกเหนือกฎหมายอีกต่อไป"[2]

ต่อมาเกิดกระแสความเข้าใจว่าภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลทางการเงินที่เข็มงวดขึ้น จึงได้มีการตรากฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้ตามมาในแคนาดา (ค.ศ. 2002)[3] เยอรมนี (ค.ศ. 2002) แอฟริกาใต้ (ค.ศ. 2002) ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2003) ออสเตรเลีย (ค.ศ. 2004) อินเดีย (ค.ศ. 2005) ญี่ปุ่น (ค.ศ. 2006) อิตาลี (ค.ศ. 2006) อิสราเอล และตุรกี

ในปี ค.ศ. 2007 ยังคงมีการถกเถียงกันว่ารัฐบัญญัติซาร์เบนส์–ออกซเลย์ มีประโยชน์คุ้มกับต้นทุนที่จัดทำไปหรือไม่ กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบัญญัติฉบับนี้แย้งว่ากฎหมายบั่นทอนความได้เปรียบทางการแข่งขันของสหรัฐอเมริกาเหนือผู้ให้บริการด้านการเงินต่างชาติ เนื่องจากกฎหมายได้ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีกฏระเบียบซับซ้อนมากเกินไปแก่ตลาดการเงินของสหรัฐฯ ผลการศึกษาที่ได้รับมอบหมายจากนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ไมเคิล บลูมเบิร์ก และสมาชิกวุฒิสภา ชาลส์ ชูเมอร์ (เดโมแครต) จากรัฐนิวยอร์ก ก็ได้อ้างข้อโต้แย้งนี้และใช้เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาคการเงินของสหรัฐฯ สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่ศูนย์กลางทางการเงินแห่งอื่น ๆ ของโลก[4] ในขณะที่ผู้สนับสนุนกล่าวว่ารัฐบัญญัติซาร์เบนส์–ออกซเลย์คือ "ของประทานจากพระเจ้า" ที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ ต่อความสัตย์จริงของงบการเงิน[5]

ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของรัฐบัญญัติซาร์เบนส์–ออกซเลย์ รัฐสภาสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายเป็นรัฐบัญญัติส่งเสริมการเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพแบบก้าวกระโดด หรือ รัฐบัญญัติจ็อบส์ (Jumpstart Our Business Startups Act; JOBS) ซึ่งผ่อนปรนข้อกำหนดหรือกฏระเบียบต่าง ๆ ให้แก่กิจการซึ่งจัดตั้งใหม่ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมธุรกิจกลุ่มดังกล่าวในช่วงเริ่มต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kimmel, PhD, CPA, Paul D.; Weygandt, PhD, CPA, Jerry J.; Kieso, PhD, CPA, Donald E. (2011). Financial Accounting, 6th Edition. Wiley. ISBN 978-0-470-53477-9.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. Bumiller, Elisabeth (2002-07-31). "Bush Signs Bill Aimed at Fraud in Corporations". The New York Times.
  3. Rob Greeno (2014-08-06). "Canada's Bill 198 Similar to U.S.'s Sarbanes Oxley Act". Asyma Solutions Ltd. blog. สืบค้นเมื่อ 2017-03-12.
  4. Mckinsey & Company (2007). "NY REPORT" (PDF). Schumer Senate website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ January 12, 2009.
  5. "Not Everyone Hates SarbOx". BusinessWeek.com. Bloomberg L.P. 28 January 2007. สืบค้นเมื่อ 13 March 2014.