แนวร่วมรวบรวมชาติกัมพูชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สีหนุ (คนที่สามจากซ้าย) ในการพบปะกับเหมา เจ๋อตุงที่ปักกิ่งเมื่อ พ.ศ. 2499

แนวร่วมรวบรวมชาติกัมพูชา (เขมร: រណសិរ្សរួបរួមជាតិកម្ពុជា รณสิรฺสรัวบรัวมชาติกมฺพุชา; อังกฤษ: Khmer United National Front; ฝรั่งเศส: Front uni national du Kampuchéa: FUNK) เป็นองค์กรทางการเมืองที่ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กษัตริย์แห่งกัมพูชา ใน พ.ศ. 2513 เมื่อลี้ภัยไปยังกรุงปักกิ่ง หลังเกิดรัฐประหารในกัมพูชา

ประวัติ[แก้]

กลุ่มนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจของนายพลลน นล โดยมีเขมรแดง พรรคคอมมิวนิสต์นิยมลัทธิเหมาเป็นกองกำลังทางทหารของกลุ่ม ซึ่งเรียกตัวเองว่าองค์กรปฏิวัติ (อองการ์ปะเดะวัด) อีกสองส่วนที่อยู่ในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่ภักดีกับสีหนุหรือกลุ่มนิยมเจ้า ซึ่งไม่เคยมีอำนาจอย่างแท้จริงในกลุ่ม และกลุ่มฝ่ายซ้ายที่เคยร่วมมือกับเวียดนามในสมัยเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสที่มักเรียกกันว่า “เขมรเวียดมิญ”(เขมรอิสระเดิม)[1].

การสู้รบแบบกองโจรของกลุ่มนี้ นำโดยรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น[2] ซึ่งตั้งอยู่ที่ปักกิ่ง สีหนุประกาศเป็นผู้นำของขบวนการ เพ็ญ โนตเป็นนายกรัฐมนตรี และเขียว สัมพันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นผู้ควบคุมกองทัพของรัฐบาลพลัดถิ่น[3]การให้การยอมรับกษัตริย์ของกัมพูชาทำให้เขมรแดงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งจีน สหภาพโซเวียต และเวียดนามสนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นนี้ แม้ว่าชาวเวียดนามจะโน้มเอียงไปทางกลุ่มของสีหนุมากขึ้นเมื่อเขมรแดงเริ่มเข้มแข็งขึ้นใน พ.ศ. 2514[4] การยกย่องกษัตริย์เป็นผู้นำสิ้นสุดลงเมื่อเขมรแดงล้มรัฐบาลของนายพลลน นลสำเร็จ

อ้างอิง[แก้]