ยุทธการที่แม่น้ำสินธุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการที่แม่น้ำสินธุ
ส่วนหนึ่งของ การบุกครองเอเชียกลางของมองโกล
During the battle of Indus.jpg
วันที่ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1221
สถานที่ใกล้แม่น้ำสินธุ ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน
ผล มองโกลชนะ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
ควาเรซเมียถูกรวมเข้ากับจักรวรรดิมองโกล
คู่สงคราม
จักรวรรดิมองโกล จักรวรรดิควาเรซม์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เจงกีสข่าน จาลัล อัดดิน มิงบูร์นู
กำลัง
30,000 นาย[1] 50,000 นาย[1]
ความสูญเสีย
มาก มาก

ยุทธการที่แม่น้ำสินธุ (อังกฤษ: Battle of Indus) เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพมองโกลของเจงกีสข่านกับกองทัพควาเรซม์ของสุลต่านจาลัล อัดดิน มิงบูร์นู (Jalal ad-Din Mingburnu) เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1221 ที่ใกล้แม่น้ำสินธุในประเทศปากีสถานปัจจุบัน ยุทธการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบุกครองเอเชียกลางของมองโกล (Mongol invasion of Central Asia)

กองทัพมองโกลของเจงกีสข่านทำลายเมืองสำคัญหลายเมืองของจักรวรรดิควาเรซม์ รวมถึงเมืองหลวงคือซามาร์กันต์ ถึงแม้ทัพควาเรซม์จะเอาชนะทัพมองโกลได้ในยุทธการที่ปาร์วัน[2] (Battle of Parwan; ปัจจุบันอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน) แต่ด้วยกำลังทหารและเสบียงที่ลดน้อยลง ทำให้สุลต่านจาลัล อัดดิน มิงบูร์นูต้องล่าถอยเข้ามาในอินเดียเพื่อขอความช่วยเหลือจากสุลต่านอิลทัตมิช (Iltutmish) แห่งรัฐสุลต่านเดลี ขณะกำลังข้ามแม่น้ำสินธุ ทัพควาเรซม์ได้พบกับทัพมองโกลที่ตามมา สุลต่านจาลัล อัดดินที่มีกำลังทหาร 50,000 นายได้แบ่งออกเป็นสองทัพ ทัพหนึ่งตั้งเป็นแนวกับภูเขา ส่วนอีกทัพตั้งเป็นแนวกับแม่น้ำ[2] ในการบุกครั้งแรกทัพมองโกลโดนตีโต้กลับไปและเกือบถูกทัพควาเรซม์ตีแตก แต่เจงกีสข่านส่งกองทัพออกไปตีทัพควาเรซม์จากสองทางจนทัพควาเรซม์แตกพ่ายในที่สุด[2]

หลังการสู้รบ สุลต่านจาลัล อัดดินข้ามแม่น้ำสินธุและหนีไปได้[2] พระองค์ทรงขอความช่วยเหลือจากสุลต่านอิลทัตมิชแห่งรัฐสุลต่านแห่งเดลี แต่สุลต่านอิลทัตมิชทรงปฏิเสธ สุลต่านจาลัลพยายามกอบกู้ดินแดนคืนแต่ไม่สำเร็จ พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ในปี ค.ศ. 1231 ที่เมืองดิยาร์บากีร์ (Diyarbakir; ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี) โดยมือสังหารชาวเคิร์ด[3][4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Trevor N. Dupuy and R. Ernest Dupuy, The Harper Encyclopedia of Military History, (Harper Collins Publishers, 1993), 366.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 A Global Chronology of Conflict: From the Ancient World to the Modern Middle, Vol. I, ed. Spencer C. Tucker, (ABC-CLIO, 2010), 273.
  3. [1] เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, PHI, Persian Literature in Translation
  4. [2], Encyclopedia Iranica

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]