ยุทธการที่นอร์แธมป์ตัน (ค.ศ. 1460)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการนอร์ทแธมป์ตัน (ค.ศ. 1460)
ส่วนหนึ่งของ สงครามดอกกุหลาบ
วันที่10 กรกฎาคม ค.ศ. 1460
สถานที่
ผล ยอร์คได้รับชัยชนะ
คู่สงคราม
แลงคาสเตอร์ ยอร์ค
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าเฮนรีที่ 6
ฮัมฟรีย์ สตาฟฟอร์ด ดยุคแห่งบัคคิงแฮมที่ 1
เอิร์ลแห่งวอริคที่ 16
กำลัง
10,000-15,000
20,000-30,000
ความสูญเสีย
เสียชีวิต 300 คน ไม่ทราบจำนวน

ยุทธการนอร์ทแธมป์ตัน (ค.ศ. 1460) (อังกฤษ: Battle of Northampton (1460)) เป็นยุทธการในสงครามดอกกุหลาบ[1] ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1460 ที่เมืองนอร์ทแธมป์ตันในนอร์ทแธมป์ตันเชอร์ในอังกฤษ เป็นการต่อสู้ระหว่างกองทัพของฝ่ายราชวงศ์แลงคาสเตอร์ที่นำโดยพระเจ้าเฮนรีที่ 6 และฮัมฟรีย์ สตาฟฟอร์ด ดยุคแห่งบัคคิงแฮมที่ 1 และฝ่ายราชวงศ์ยอร์คที่นำโดยริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลแห่งวอริคที่ 16 ผลของยุทธการครั้งนี้ฝ่ายยอร์คได้รับชัยชนะ ในด้านความเสียหายฝ่ายราชวงศ์แลงคาสเตอร์มีผู้เสียชีวิต 300 คน ส่วนฝ่ายราชวงศ์ยอร์คไม่ทราบจำนวน

ที่มา[แก้]

หลังจากการพ่ายแพ้อย่างยับเยินในยุทธการลัดฟอร์ดบริดจ์แล้วฝ่ายยอร์คก็ดูเหมือนจะสิ้นท่า ผู้นำของฝ่ายยอร์คบางคนเช่น เอิร์ลแห่งวอริค, เอิร์ลแห่งซอลสบรี และเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ชลูกของดยุคแห่งยอร์คก็หนีไปคาเลส์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1459 ไปพบกับลุงของวอริคลอร์ดฟอคองเบิร์ก ขณะที่ดยุคแห่งยอร์ค และเอ็ดมันด์ เอิร์ลแห่งรัทแลนด์หนีไปไอร์แลนด์

บนเกาะอังกฤษฝ่ายแลงคาสเตอร์ก็ฉวยโอกาสจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายยอร์ค โดยการแต่งตั้งให้เจมส์ บัตเลอร์ เอิร์ลแห่งออร์มอนด์ที่ 5 (James Butler, 5th Earl of Ormonde) ไปเป็นข้าหลวงแห่งไอร์แลนด์ และเฮนรี โบฟอร์ท ดยุคแห่งซัมเมอร์เซ็ทที่ 3ไปเป็นกัปตันแห่งคาเลส์ แต่ทั้งสองคนก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ฝ่ายไอร์แลนด์ไม่ยอมปลดดยุคแห่งยอร์ค และประตูเมืองคาเลส์ก็ไม่เปิดให้กัปตันคนใหม่

ฝ่ายแลงคาสเตอร์มอบกองเรือให้ซัมเมอร์เซ็ทโจมตีคาเลส์แต่ก่อนที่จะข้ามช่องแคบได้ก็ต้องมีการสร้างกองเรือกันก่อนที่แซนด์วิชในเค้นท์ แต่ยังไม่ทันจะสร้างเสร็จวอริคก็เข้าโจมตีแซนด์วิชและขโมยเรือ ในเดือนพฤษภาคมวอริก็ข้ามช่องแคบกลับมาอีกครั้งและมาทำลายกองเรือใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง วอริคทิ้งลุงไว้ที่แซนด์วิชกับกองกำลังบางส่วน เพื่อใช้ในการเป็นหัวหาดในการข้ามมารุกรานอังกฤษในอนาคต

การต่อสู้[แก้]

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน วอริค, ซอลสบรี และเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ชก็ขึ้นฝั่งที่แซนด์วิชพร้อมด้วยกองทหาร 2,000 คน พระเจ้าเฮนรี and พระราชินีมาร์กาเร็ตยังคงประทับอยู่ที่โคเวนทรีกับกองทหารจำนวนหนึ่ง วอริคเข้ากรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมพร้อมกับกองผู้สนับสนุนจำนวนประมาณ 20,000 ถึง 30,000 คน

กองทัพของพระเจ้าเฮนรีตั้งรับที่นอร์ทแธมป์ตันในบริเวณแอบบีเดลาเพรโดยด้านหลังติดแม่น้ำนีน ด้านหน้าเป็นคูน้ำปริ่มที่มีขวากป้องกัน กองทัพของพระองค์มีจำนวนราว 10,000 ถึง 15,000 คนส่วนใหญ่เป็นผู้ถืออาวุธ และอาวุธปืน

ขณะที่เดินทัพคืบหน้าไปวอริคก็ส่งผู้แทนไปต่อรองกับพระเจ้าเฮนรี แต่ผู้นำของฝ่ายแลงคาสเตอร์ฮัมฟรีย์ สตาฟฟอร์ด ดยุคแห่งบัคคิงแฮมที่ 1 (Humphrey Stafford, 1st Duke of Buckingham) โต้กลับมาว่า “เอิร์ลวอริคจะไม่เข้ามาเฝ้าพระมหากษัตริย์ ถ้ามาเฝ้าก็ต้องเผชิญกับความตาย” หลังจากนั้นวอริคก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเฝ้าอีกสองครั้งโดยที่ปรึกษาของพระเจ้าเฮนรี เมื่อไปถึงที่ตั้งทัพของพระเจ้าเฮนรี วอริคก็ส่งสารไปว่า “วันนี้เวลาสองโมง ข้าพเจ้าจะขอเข้าเฝ้าหรือไม่เช่นนั้นก็จะตาย”

เมื่อเวลาสองโมงมาถึงฝ่ายยอร์คก็เริ่มบุก

ทหารยืนกันเป็นแนวแต่ลมและฝนที่ตกกระหน่ำพัดปะทะใบหน้า กองทหารก็เดินหน้าเข้าไปยังฝ่ายแลงคาสเตอร์ๆ ก็ยิงธนูและต่อสู้อย่างแข็งแกร่ง แต่ฝนทำให้ฝ่ายแลงคาสเตอร์ไม่สามารถใช้ปืนใหญ่ในการต่อต้านได้ เมื่อวอริคจู่โจมเข้าถึงทางแนวขวาภายใต้การนำของลอร์ดเกรย์แห่งรูธิน ลอร์ดเกรย์ก็วางอาวุธปล่อยให้ฝ่ายยอร์คเดินทัพเข้ามาในแค้มพ์ได้อย่างง่ายดาย หลังจากนั้นการรบก็ดำเนินไปได้เพียงสามสิบนาทีก่อนที่ฝ่ายแลงคาสเตอร์จะพ่ายแพ้

ดยุคแห่งบัคคิงแฮม, จอห์น ทาลบ็อต เอิร์ลแห่งชรูว์สบรีที่ 2 (John Talbot, 2nd Earl of Shrewsbury) และ ทอมัส เพอร์ซีย์ บารอนเอเกรอมอนท์ที่ 1 (Thomas Percy, 1st Baron Egremont) ต่างก็เสียชีวิตในสนามรบในการพยายามที่จะช่วยพระเจ้าเฮนรีเมื่อฝ่ายยอร์คเข้ามาใกล้เต้นท์ที่ประทับ

ฝ่ายแลงคาสเตอร์เสียกำลังพลไปสามร้อยคน พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงถูกจับได้โดยฝ่ายยอร์ค


อ้างอิง[แก้]

  1. Warsoftheroses.com, Wars of the Roses[1] เก็บถาวร 2012-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Haigh, Philip A. Military campaigns of the Wars of the Roses. Far Thrupp, Stroud, Gloucestershire: A. Sutton, 1995.

ดูเพิ่ม[แก้]