ยายเพ็ญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เพ็ญ
รูปปั้นยายเพ็ญที่วัดพนม

เพ็ญ (เขมร: ពេញ, ออกเสียง "ปึญ") หรือรู้จักในชื่อ ยายเพ็ญ (ដូនពេញ, ออกเสียง "โฎนปึญ") เป็นนามของหญิงชรา ที่ปรากฏในนิทานเรื่อง ภูเขายายเพ็ญ อันเป็นตำนานการสร้างกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน[1]

ประวัติ[แก้]

ในนิทานเรื่อง ภูเขายายเพ็ญ (ភ្ដូយាយពេញ, ออกเสียง "ภนุมเยียปึญ") ระบุว่ายายเพ็ญเป็นหญิงชราผู้มั่งมี ตั้งเรือนอยู่ริมแม่น้ำจตุมุข จนวันหนึ่งในฤดูน้ำหลากของ พ.ศ. 1919 มีต้นตะเคียนต้นใหญ่ลอยมาติดที่ท่าหน้าบ้าน หลังจากนั้นยายเพ็ญจึงให้คนช่วยกันลากต้นตะเคียนใหญ่ขึ้นฝั่งได้ ขณะยายเพ็ญกำลังล้างทำความสะอาดต้นตะเคียนก็พบว่ามีพระพุทธรูปและเทวรูปอยู่ในโพรงต้นตะเคียน โดยเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กสี่องค์ และเทวรูปจากหินอีกหนึ่งองค์ มีพระเกศมุ่นมวย ลักษณะยืน พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือกระบอง และพระหัตถ์อีกข้างถือสังข์[2] เมื่อเป็นเช่นนั้น ยายเพ็ญจึงขอแรงชาวบ้านช่วยกันถมดินบริเวณหลังบ้านของนางให้สูงเป็นภูเขาขนาดย่อมสำหรับสร้างวัดเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปไว้บนภูเขานั้น ส่วนเทวรูปอัญเชิญไว้บนแท่นบริเวณเชิงเขา[3][4] และเรียกชื่อว่าเนียะตาพระเจ้า[2] เมื่อสร้างเสร็จจึงเรียกภูเขานี้ว่า เขายายเพ็ญ หรือสำเนียงเขมรว่า ภนุมโฎนปึญ (ភ្ដូនពេញ) ต่อมาคำกร่อนลงเหลือเพียง ภนุมปึญ หรือที่ไทยเรียกว่าพนมเปญ[5] ส่วนวัดภนุมโฎนปึญ ก็กร่อนเหลือเพียงวัดภนุม หรือพนมมาจนถึงปัจจุบัน[3][4]

ขณะที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนนิทานดังกล่าวลงในพระนิพนธ์เรื่อง นิราสนครวัด (2468) ไว้ว่า "...พระธาตุพนมเพ็ญนั้น เขาบอกเรื่องตำนานว่า เดิมทีเดียวมียายแก่คนหนึ่งชื่อ เพ็ญ ตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระสาสนาแก่กล้า ปรารถนาจะสร้างวัด แต่ขัดข้องด้วยยากจน จึงตั้งสัตย์อธิษฐาน โดยอำนาจกุศลผลบุญของยายเพ็ญ บันดาลให้มีไม้ซุงลอยลำน้ำโขงมาติดอยู่ที่ตรงนั้น มีทั้งพระพุทธรูปแลเทวรูปอยู่ในโพรงไม้ซุง ยายเพ็ญจึงได้ไม้ได้พระ แล้วได้กำลังสร้าง "พนม" คือภูเขาขึ้นในที่นั้น ภูเขานั้นจึงได้ชื่อว่าพนมเพ็ญ ถ้าจะเรียกเปนภาษาไทยก็เห็นจะเรียกว่า "เขายายเพ็ง" ครั้นมาสร้างเมืองขึ้นเมื่อภายหลัง คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อเมืองตามชื่อภูเขาอันเปนสิ่งสำคัญอยู่ในท้องที่ ว่าเมืองพนมเพ็ญ ดังนี้..."[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "History of Phnom Penh City". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-08. สืบค้นเมื่อ 2021-04-03.
  2. 2.0 2.1 สุวชัญ ชาญเชี่ยว. การศึกษาวิเคราะห์ "ศาสตรากระบวนทาย" จากราชอาณาจักรกัมพูชา. อุบลราชธานี : มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2557, หน้า 15-16
  3. 3.0 3.1 ประยูร ทรงศิลป์ และทรงธรรม ปานสกุณ (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "แหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีในนิทานพื้นบ้านเขมร". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2627
  4. 4.0 4.1 วรรณะ สอน และราชันย์ นิลวรรณาภา (สิงหาคม 2563). "ปรอ จุม เรือง เพรง แขมร์ ภาพแทนธรรมชาติในนิทานพื้นบ้านเขมร". วารสารสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาเชิงพุทธ (5:8), หน้า 200
  5. ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 116
  6. พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิราสนครวัด. พระนคร : โสภณพิพรรฒนากร, 2468, หน้า 13