มัลลิกา ภรรยาของพันธุลเสนาบดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นางมัลลิกา เป็นพระธิดาของกษัตริย์องค์หนึ่งในแคว้นมัลละ ซึ่งภายหลังได้สมรสกับพันธุลเสนาบดี เป็นผู้ที่มีประวัติว่ามีบุตรฝาแฝดทั้งหมด 16 คู่ ร่วมมีบุตรทั้งหมด 32 คน เหตุการณ์สำคัญคือเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น และจิตมั่นคง ตอนที่สามี และบุตร คือพันธุละ รวมทั้งหมด 33 ชีวิต ได้ถูกสังหาร ความที่จิตฝึกมาดี จึงไม่ได้แสดงความเศร้าโศกเสียใจ

ประวัติ[แก้]

นางมัลลิกา เป็นพระธิดาของกษัตริย์องค์หนึ่งในแคว้นกุสินารา ซึ่งภายหลังได้สมรสกับพันธุลเสนาบดี[1]

พันธุลเสนาบดี เป็นโอรสของเจ้ามัลละในเมืองกุสินารา เป็นศิษย์ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักเดียวกันกับปเสนทิกุมารแห่งแคว้นโกศล และเมื่อศึกษาจบได้กลับไปยังกุสินารานคร และได้แสดงศิลปวิทยาที่ได้ศึกษามาให้เหล่ามัลลกษัตริย์ชม แต่ถูกเจ้ามัลละบางพวกแกล้ง ด้วยความน้อยใจ จึงหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของปเสนทิกุมาร ซึ่งต่อมาได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าปเสนทิโกศล (King Pasendi-Kosala)[2] [3]และได้ทรงสถาปนาพันธุละในตำแหน่งเสนาบดี พันธุละก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วยความซื่อสัตย์สุจริต[4]

สำหรับพันธุลเสนาบดีผู้นี้ได้สมรสกับเจ้าหญิงมัลลิกา แต่หลังจากแต่งงานเป็นเวลานานก็ยังไม่มีบุตร จนสามีคิดว่านางเป็นหมัน (ตามความเชื่อสมัยนั้น ถือว่าสตรีที่ไม่สามารถมีบุตรได้จะทำให้สามีเป็นคนอาภัพ ต้องถูกส่งตัวกลับตระกูลเดิม) จึงส่งนางกลับตระกูลของตน

มัลลิกาขอพระพุทธเจ้า[แก้]

ก่อนเจ้าหญิงมัลลิกากลับ ได้ถวายบังคมลาพระพุทธเจ้าที่พระเชตวัน พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า เธอจะไปไหน พระนางจึงกราบทูลไปว่า จะกลับไปยังเมืองมาตุภูมิ เพราะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรแก่สามีได้ จึงถูกส่งตัวกลับ แต่พระพุทธองค์ตรัสอย่าด่วนกลับเลย

นางมัลลิกาคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ เห็นทีเราคงมีบุตรแน่ๆ พระองค์จึงตรัสถามอย่างนี้ พระนางดีใจเป็นล้นพ้น และเดินทางกลับบ้านทันที

มัลลิกาแพ้ท้อง จากน้ำในสระโบกขรณี[แก้]

อยู่มาไม่นานพระนางก็แพ้ท้องอยากลงอาบและดื่มน้ำในสระโบกขรณี อันเป็นสระน้ำมงคลและเป็นที่หวงแหนของพระเจ้าลิจฉวี เมืองไพศาลี สระนี้ได้รับการอารักขาเป็นอย่างดี พันธุละอุ้มภริยาขึ้นรถถือธนูคู่ชีพ มุ่งหน้าไปยังเมืองไพศาลีเมื่อถึงเมืองไพศาลีแล้ว ก็มุ่งตรงไปยังสระโบกขรณี และใช้แส้หวายหวดไล่เหล่าทหารที่อารักขาสระน้ำจนแตกกระจาย ให้ภริยาลงอาบน้ำ ดื่มน้ำ แล้วขึ้นรถห้อตะบึงกลับ

พวกเจ้าลิจฉวีเมื่อทราบว่ามีผู้บุกรุกก็ออกติดตาม มหาลิลิจฉวีสหายร่วมสำนักของพันธุละ ซึ่งบัดนี้ตาบอดทั้งสองข้าง และเป็นอาจารย์ของลิจฉวีราชกุมารทั้งหลาย ได้ยินเสียงฝีเท้าม้าและล้อรถวิ่งผ่านไป รู้ทันทีว่าเป็นพันธุลเสนาบดีผู้เกรียงไกร จึงร้องห้ามพวกลิจฉวีไม่ให้ตามไป เพราะจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตแต่พวกเจ้าลิจฉวีไม่เชื่อฟัง

พันธุละบอกภริยาว่า ถ้ารถม้าที่ตามมาปรากฏเป็นแนวเดียวกันเมื่อไรให้บอก และเมื่อนางมัลลิกาเห็นว่ารถได้เรียงแถวเป็นแนวเดียวกันแล้วจึงบอก พันธุละจึงโก่งคันศรปล่อยธนูไปด้วยความแรง ลูกธนูออกจากแล่งด้วยความเร็วเจาะเกราะทะลุหัวใจของมัลลกษัตริย์ 500 คน พร้อมกัน ล้มลงสิ้นชีวิตหมดสิ้น

ต่อมานางมัลลิกาก็คลอดบุตรชายแฝด 16 ครั้ง ครั้งละ 2 คนบุตรทั้งหมดเจริญเติบโตเต็มวัยแล้วได้เรียนศิลปวิทยาสำเร็จกันจนหมดแต่ละคนก็มีบุรุษบริวารนับพันคน[5]

อยู่มาวันหนึ่ง พันธุลเสนาบดี ได้ทราบว่าพวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดี วินิจฉัยคดีด้วยความไม่ยุติธรรมเก่เจ้าทุกข์ จึงวินิจฉัยเสียเอง ทำให้ประชาชนมีความยุติธรรม เรื่องรู้ไปถึงพระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์จึงทรงมอบหน้าที่วินิจฉัยคดีแก่พันธุละอีกตำแหน่งหนึ่ง

พันธุละ พร้อมกับบุตรชาย 32 คนถูกสังหารสิ้น[แก้]

พวกอำมาตย์ไม่พอใจ จึงยุยงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลส่งให้พันธุละไปปราบโจรที่ชายแดน และส่งทหารไปดักฆ่าพันธุละและพร้อมกับบุตรชาย 32 คนจนสิ้นชีวิตหมดสิ้น

วันที่พันธุละและบุตรทั้งหมดถูกฆ่า นางมัลลิกานิมนต์พระอัครสาวกทั้งสอง พร้อมภิกษุ 500 รูปไปฉันภัตตาหารที่บ้าน เช้าวันนั้นมีคนนำจดหมายมาแจ้งว่าสามีและบุตรของพระนางถูกโจรฆ่าตายหมดสิ้น นางรับมาอ่านเสร็จแล้วใส่ชายพกไว้และจัดการงานถวายภัตตาหารต่อ ขณะนั้นนางทาสี(สาวรับใช้)ซึ่งยกถาดแก้วใส่เนยใสเข้ามาถวายพระภิกษุก้าวพลาดทำถาดนั้นตกลงแตก พระภิกษะนั้นเห็นว่าถาดแก้วมีราคาสูงมากจึงเกรงว่านางมัลลิกาจะเกิดโทสะและลงโทษนางทาสีผู้นั้น จึงพูดปลอบใจหวังให้คลายโทสะว่า " ธรรมดาของย่อมแตกเสียหายได้ อย่าได้คิดเสียดายเสียใจเลย " นางมัลลิกาจึงนำจดหมายออกจากชายพกและเรียนต่อพระเถระว่า "เมื่อเช้านี้ ดิฉันได้ข่าวว่าสามีและบุตรชายทั้ง 32 คน ได้ตายเสียแล้ว ยังไม่คิดอะไร เพียงแค่ถาดเนยใสแตกจะคิดอะไรเล่า"

*** ในสำนวนที่แตกต่าง : พระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)วัดท่าซุง เล่าไว้อีกนัยว่า พระเถระที่พระภัตตุเทศก์จัดให้ไปรับภัตตาหารตามที่นางมัลลิกานิมนต์ในวันนั้นไม่มีพระอริยะบุคคลหรือพระผู้ทรงฌานที่มีเจโตปริยญาณ(ญาณรู้ใจผู้อื่น)เลย เมื่อนางทาสีทำมัลลิกาทำถาดแก้วแตก..ไม่มีภิกษะรูปใดรู้ว่าใจนางมัลลิกายังคงสงบนิ่งเลย ท่านจึงได้คิดเมตตาพูดปลอบใจเช่นนั้น

และเมื่อนางมัลลิกาตอบโดยยกข่าวเรื่องสามีและบุตรเสียชีวิตที่เพิ่งมาถึงในเช้านั้น แต่กลับวางใจได้สงบนิ่งนั้น ก็ทำให้พระภิกษุเหล่านั้นตระหนักได้ว่า นางมัลลิกาผู้นี้บรรลุอริยะบุคคลถึงระดับพระอนาคามีซึ่งจะสามารถตัดปฏิฆะได้หมดสิ้นแล้ว

* ในสำนวนที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานเล่านั้น น่าจะสมเหตุผลกว่าสำนวนที่บอกว่า..นิมนต์อัครสาวกทั้งสองไป

เพราะถ้าเป็นพระอัครสาวก หรือพระอริยะผู้ทรงฌาน ย่อมทราบดีว่า นางมัลลิกามีจิตใจสงบเย็นไม่มีโทสะต่อนางทาสี..ไม่มีความจำเป็นต้องพูดปลอยโยนแต่อย่างใด

พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบความจริง[แก้]

นางมัลลิกาเรียกสะใภ้ทั้ง 32 คน มาให้โอวาทว่า สามีของพวกเธอไม่มีความผิด แค่ได้รับผลกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน พวกเธออย่าได้เศร้าโศกไปเลย จากนั้นบุรุษที่พระเจ้าปเสนทิโกศลส่งคนมาสอดแนม ได้นำข้อความที่นางมัลลิกาสอนแก่สะใภ้ไปกราบทูลให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ พระองค์ทรงสลดพระราชหฤทัยที่หลงเชื่อคนผิด ทำให้พันธุละเพื่อนผู้ซื่อสัตย์พร้อมบุตรต้องเสียชีวิต

พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ลงโทษประหารพวกอำมาตย์ที่ทูลความเท็จและทรงไปกล่าวขอโทษกับนางมัลลิกาพร้อมลูกสะใภ้ด้วยพระองค์เอง นางไม่ได้โกรธอะไรแต่นางได้ขอพระราชาอนุญาตว่าจะกลับไปยังเมืองมาตุภูมิพร้อมกับลูกสะใภ้ทั้งหมด พระองค์ก็ทรงอนุญาต และรับทีฆการายนะผู้เป็นหลานชายของพันธุละเป็นอำมาตย์ หลังจากที่นางมัลลิกาพร้อมกับสะใภ้ทั้ง 32 คนได้กลับไปยังเมืองมาตุภูมิแล้ว พวกนางไม่ได้ปรากฏตัวอีกเลย จนกระทั่งหลังจากพระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ พวกมัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราได้อัญเชิญพระพุทธสรีระไปถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ โดยนำขบวนเคลื่อนที่จากทิศเหนือไปยังทิศตะวันออกของเมืองกุสินารา ระหว่างทางขบวนเคลื่อนที่ นางมัลลิกาได้ขอให้ขบวนหยุดแล้วนำมหาลดาปสาธน์ เครื่องประดับของนางมาถวายแก่พระพุทธสรีระจนพระพุทธสรีระเปล่งแสงประกายอย่างน่าอัศจรรย์

ในบั้นปลายชีวิต คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ระบุว่านางเสียชีวิตเมื่อใด แต่คงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงอันตรธานไป

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือเรียนสังคมศึกษา ส019 พระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิกา[ลิงก์เสีย]
  2. Bhikkhu Bodhi  (Translator). (2012). The Numerical Discourses of the Buddha: A Complete Translation of the Anguttara Nikaya (The Teachings of the Buddha).Wisdom Publication.
  3. Phra Thepyanmongkol. (2011). Samatha-Vipassana Meditation in Accordance with the Four Foundations of Mindfulness to Reach Lord Buddha Dhammakayas and Nibbana. The Most Profound Teachings of Luang Phor Wat Paknam = Phra Mongkol-Thepmuni (Luang Phor Sodh) Ratchaburi Thailand.
  4. ณกมล ชาวปลายนา. สารัตถธรรมจากคัมภีร์ปัทเวทน์ของพระเจ้าประเสนทิโกศล (ตำราพุทธทำนาย) : นัยและท่าที่ของพระพุทธเจ้าต่อการพยากรณ์ , The Concept of Patthaveth of King Passendikoson (Prophesied by Lord Buddha) : Viewing of The Lord Buddha on The dream Prediction. วารสารศรีปทุมปริทรรศน์. หน้า 51-61
  5. กิเลน ประลองเชิง. (2560). วิถีจอมยุทธ. ไทยรัฐออนไลน์ 4 ตุลาคม 2560