มัดจำ
มีการเสนอให้ย้ายบทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังวิกิตำรา หากบทความนี้สามารถปรับแก้ให้เป็นเนื้อหาสารานุกรมได้ แทนที่จะเป็นเพียงสำเนาของเอกสารต้นฉบับ
คุณก็สามารถช่วยปรับแก้ได้ ด้วยการกดที่ปุ่ม "แก้ไข" และนำป้ายข้อความนี้ออกเมื่อปรับแก้เสร็จแล้ว
กรณีไม่อาจทำให้เป็นสารานุกรมได้ คุณอาจช่วยจัดรูปแบบหน้านี้ให้เหมาะกับวิกิตำรา แล้วย้ายไปที่นั่นก็ได้ |
อักษรย่อ | คำเต็ม |
---|---|
ฎ. | คำพิพากษาศาลฎีกา (คลิก เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) |
ป.พ.พ. | ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (คลิก เก็บถาวร 2010-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) |
ม. | มาตรา |
ว. | วรรค |
การใช้อักษรย่อในนี้เพื่อมิให้บทความเยิ่นเย้อเท่านั้น แต่โดยปรกติแล้วควรเขียนด้วยคำเต็มไม่ควรย่อ เช่น "ป.พ.พ. ม.123 ว.2" ควรเขียนว่า "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 123 วรรคสอง" มากกว่า |
มัดจำ (อังกฤษ: earnest) คือ เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอันมีค่าในตัวซึ่งให้ไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญากันขึ้นแล้ว และเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญานั้น[1]
ลักษณะ
[แก้]มัดจำนั้นเป็นเพียงหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา ไม่ใช่การชำระหนี้ ซึ่งแม้มีการวางมัดจำไว้ สัญญาก็อาจยังไม่เกิดขึ้นก็ได้ เช่น คู่สัญญาตกลงจะทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือสัญญา ตราบใดที่ยังไม่มีการทำหนังสือสัญญา แม้มีการวางมัดจำกันแล้ว ตราบนั้นสัญญาก็ยังไม่เกิด อนึ่ง ข้อตกลงในเรื่องมัดจำนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้ และมัดจำเป็นเพียงเครื่องประกอบสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญา
แต่เงินที่ลูกหนี้ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าตามสัญญา หรือที่เรียกโดยภาษาปากว่า "เงินดาวน์" กับทั้งเงินที่ใช้ชำระหนี้ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญา ตลอดจนหลักประกัน และประกันที่เป็นหนี้อุปกรณ์ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่นับเป็นมัดจำ
"เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" |
ป.พ.พ. ม.377 |
ฎ.747/2544 ว่า คำว่า "มัดจำ" ตาม ป.พ.พ. ม.377 มีความหมายว่า จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญา ซึ่งอาจจะเป็นเงินหรือสิ่งมีค่าอื่นซึ่งมีค่าในตัวเอง สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้รับเงินจำนวนหนึ่งล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นแปดพันบาทเพื่อเป็นการวางมัดจำไว้กับผู้จะขาย โดยเงินมัดจำดังกล่าวจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าสามฉบับ และโจทก์นำมาฟ้องขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เพียงหนึ่งฉบับ เมื่อเช็คเป็นตราสารซึ่งผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินเมื่อทวงถามให้แก่ผู้รับเงิน จึงเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. ม.138 และเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง เพราะสามารถเรียกเก็บเงินหรือโอนเปลี่ยนมือได้ จึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจำได้แม้เช็คลงวันที่หลังจากวันทำสัญญา เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ฎ.9514/2544 ว่า แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวนห้าหมื่นห้าพันบาทในวันทำสัญญาเพื่อจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเงินมัดจำไปเสียทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีกอีกงวดจำนวนแปดหมื่นเจ็ดพันบาทนั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำ เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบ ตามกฎหมายไม่ได้
ฎ.1336/2545 ว่า โจทก์ชำระเงินดาวน์จำนวนสามแสนบาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวนหนึ่งล้านสองแสนบาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา โดยมิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระล่วงหน้า มิใช่มัดจำที่จำเลยจะริบได้
การปฏิบัติต่อมัดจำ
[แก้]"มัดจำนั้น ถ้า มิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น (3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ" |
ป.พ.พ. ม.378 |
มัดจำนั้นจะมีผลต่อเมื่อมีการมอบให้แก่กันแล้วในวันที่ทำสัญญากันเท่านั้น เช่น แม้ในสัญญาจะระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมอบบ้านพร้อมที่ดินของตนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นค่ามัดจำในการซื้อรถยนต์ แต่ในเมื่อยังไม่มีการส่งมอบบ้านพร้อมที่ดินให้กันจริง ๆ บ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่มัดจำ แม้ฝ่ายแรกจะผิดสัญญา ฝ่ายหลังก็ไม่อาจริบบ้านพร้อมที่ดินนั้นไปได้เพราะไม่ใช่มัดจำดังที่กล่าว
ตามกฎหมายไทยแล้ว ป.พ.พ. ม.378 ว่า ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น มัดจำนั้นต้องจัดการดังต่อไปนี้ คือ
1. ให้ฝ่ายที่รับมัดจำส่งมัดจำคืนแก่ฝ่ายที่วางมัดจำ หรือให้หักบางส่วนออกเพื่อชำระหนี้ได้
2. ในกรณีที่ฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนี้ ให้ฝ่ายที่รับมัดจำสามารถริบมัดจำทั้งหมดได้
3. ในกรณีที่ฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ ฝ่ายนี้ต้องคืนมัดจำทั้งหมดให้แก่ฝ่ายที่วางมัดจำ
สำหรับมัดจำที่เป็นเงินนั้น เมื่อคืนต้องคืนพร้อมดอกเบี้ยด้วย[2]
ฎ.1056/2541 ว่า แม้สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยจะระบุว่า โจทก์มอบบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นค่ามัดจำในการซื้อบ้านและที่ดินของจำเลย แต่ในทางพฤตินัย เมื่อโจทก์ยังมิได้ส่งมอบบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลย บ้านและที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่มัดจำ ดังนี้ แม้โจทก์จะผิดสัญญาจำเลยก็ไม่อาจริบบ้านและที่ดินพิพาทได้
ฎ.7705/2544 ว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผ่นปลิวโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อรถยนต์ของจำเลยที่ระบุว่า "รับโทรศัพท์มือถือฟรีพร้อมประกันภัยชั้นหนึ่ง" ซึ่งข้อความตามแผ่นปลิวโฆษณาดังกล่าวถือว่าเป็นเงื่อนไขในข้อเสนอขายที่จำเลยกำหนดขึ้น จำเลยจึงต้องส่งมอบโทรศัพท์มือถือและทำสัญญาประกันภัยชั้นหนึ่งให้ ทั้งต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทด้วยตามเงื่อนไขในข้อเสนอขาย เมื่อจำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ทั้งต่อมายังนำรถยนต์พิพาทกลับคืนไปไว้ในความครอบครองของตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ และต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และดำเนินการฟ้องคดี จึงถือได้ว่าสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทเลิกกันโดยปริยาย อันมีผลให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. ม.391 ว.1 และจำเลยต้องส่งคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. ม.378
เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- กำชัย จงจักรพันธ์. (2551). คู่มือกฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9789749900451.
- กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2550). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไปว่าด้วยบุคคลธรรมดา และหลักทั่วไปว่าด้วยนิติบุคคล. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742885755.
- ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549, มีนาคม). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9742883653.
- ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. (2551). คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 13, แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742886653.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2543). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123529.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2544). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123758.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2551). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
- ราชบัณฑิตยสถาน. (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
- ศาลฎีกา. (2550, 26 มกราคม). ระบบสืบค้นคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2003-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
- สุชาติ รุ่งทรัพยธรรม. (2547). ย่อหลักทรัพย์และนิติกรรม. มปท. ISBN 974-92489-0-2.
- อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์. (2551). "การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ." ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9789740321316.