มลรัฐ (คำศัพท์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำว่า มลรัฐ ใช้เรียกหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นของบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี[1] ตรงกับคำว่า "state" ในภาษาอังกฤษ

ต่อมา "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่องกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง พ.ศ. 2544" ได้กำหนดให้ใช้ "มลรัฐ" สำหรับสหรัฐเมริกาเท่านั้น ในขณะที่คำว่า "มลรัฐ" ไม่เคยบรรจุในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับใด ๆ

มีการสันนิษฐานว่า คำว่า "มลรัฐ" อาจบัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันความสับสน กับคำว่า "รัฐ" ซึ่งในทางรัฐศาสตร์อาจหมายถึง ดินแดนอันมีอำนาจอธิปไตยโดยอิสระของตนเอง และยังมีผู้อธิบายว่า[ใคร?] "มลรัฐ" นั้นน่าจะมาจากคำว่า "มัลลรัฐ" (มราฐี: मल्ल रट्ठ) ซึ่งเป็นรัฐในประวัติศาสตร์อินเดียที่มีการปกครองแบบสหพันธรัฐ เมื่อมีปัญหาก็มาปรึกษากันในสภา ในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกาใหม่ ๆ คงเห็นว่า สหรัฐอเมริกาประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ คล้ายกับมัลลรัฐ จึงนำมาใช้เรียกเขตการปกครองของสหรัฐอเมริกา และภายหลังได้ลด ล ลงเสียตัวหนึ่ง

คำว่า "มลรัฐ" ปัจจุบันมีประกาศราชบัณฑิตยสถานให้เลิกใช้แล้ว ให้เหตุผลว่า[2]

...คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้พิจารณาตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ แล้ว เห็นว่าคำดังกล่าว ("มลรัฐ") เป็นคำที่ราชบัณฑิตยสถานใช้กันมานาน ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเหตุผลความเป็นมาที่แน่ชัด จึงหารือไปยังคณะกรรมการชำระพจนานุกรม และคณะกรรมการจัดทำสารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: ภูมิภาคอเมริกา แห่งราชบัณฑิตยสถาน และได้รับคำชี้แจงเหตุผลประกอบการพิจารณาว่า เห็นควรเลิกใช้คำ "มลรัฐ" แล้วเปลี่ยนมาใช้คำ "รัฐ" แทนเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่มีการปกครองระบอบเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. คำว่า state มีความหมาย 2 ประการ คือ ประการแรกหมายถึง รัฐชาติ (nation state) ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ คือ ดินแดน ประชากร รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย อีกนัยหนึ่งหมายถึงประเทศ ในความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป ส่วนประการที่ 2 หมายถึง รัฐที่ร่วมกันเป็นสหพันธรัฐ (federation) หรือสมาพันธรัฐ (confederation) ซึ่งมีอำนาจอธิปไตยแบ่งปันกันระหว่างรัฐที่เป็นสมาชิกกับรัฐบาลกลางตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น ๆ ดังนั้น รัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาจึงมีสถานภาพคล้ายคลึงกับรัฐของประเทศที่มีระบอบการปกครองเป็นสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐอื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก เพียงแต่อำนาจอธิปไตยของรัฐอาจมีมากน้อยไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปรัชญาในด้านการเมืองและการปกครองของแต่ละประเทศ
  2. การใช้คำ "มลรัฐ" กับรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกานั้น ราชบัณฑิตยสถานกำหนดกันมานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายให้เข้าใจว่า เหตุใดจึงใช้ "มลรัฐ" เฉพาะกับรัฐในสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ประเทศอื่น ๆ ที่มีการปกครองระบอบสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐในปัจจุบันล้วนใช้คำ "รัฐ" ทั้งสิ้น อีกทั้งคำ "มลรัฐ" ก็มิได้เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ทำให้ไม่สามารถชี้แจงตอบคำถามของบุคคลและหน่วยงานภายนอกที่ไต่ถามเหตุผลในการใช้คำ "มลรัฐ" เฉพาะกับสหรัฐอเมริกาได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ราชบัณฑิตยสถานจึงเห็นควรยกเลิกการใช้ "มลรัฐ" ในสหรัฐอเมริกา แล้วเปลี่ยนใช้คำ "รัฐ" แทน

อ้างอิง[แก้]

  1. ความรู้เรื่องภาษี เก็บถาวร 2005-02-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรรมสรรพากร
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. (2549). "พจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากล เล่ม 1 (อักษร A-L) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน." กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน. หน้า ค.