ข้ามไปเนื้อหา

ภูเขาน้ำแข็งบี-15

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขอบของภูเขาน้ำแข็ง บี-15เอ ในทะเลรอสส์ทวีปแอนตาร์กติกา, 29 มกราคม 2545

ภูเขาน้ำแข็งบี-15 เป็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดตามขนาดพื้นที่ตั้งแต่มีการบันทึก[หมายเหตุ 1] มันมีความยาว 295 กม. กว้าง 37 กม. คิดเป็นพื้นที่ขนาด 11,000 ตารางกิโลเมตร—ซึ่งใหญ่กว่าประเทศจาเมกา

ภูเขาน้ำแข็งบี-15 แยกตัวออกมาจากหิ้งน้ำแข็งรอสส์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 ต่อมาใน พ.ศ. 2546 ภูเขาน้ำแข็งบี-15 ได้แตกออก โดยก้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า บี-15เอ ซึ่งมีขนาด 6,400 ตารางกิโลเมตร[2] บี-15เอ ลอยออกไปจากเกาะรอสส์มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือไปทางทะเลรอสส์ และในเดือนตุลาคม 2548 บี-15เอ ก็ได้แตกออกเป็นภูเขาน้ำแข็งขนาดเล็ก[3] พ.ศ. 2561 ภูเขาลูกใหญ่ที่สุดที่แตกออกจาก บี-15 ยังคงเดินทางขึ้นไปทางทิศเหนือ โดยมีต่ำแหน่งคร่าว ๆ คืออยู่ระหว่างหมู่เกาะฟอล์กแลนด์และเกาะเซาท์จอร์เจีย

ประวัติ

[แก้]
ภูเขาน้ำแข็งบี-15เอ ที่เดินทางเป็นระยะเวลาสี่ปี ตั้งแต่ กรกฎาคม 2545 ถึง มีนาคม 2549
เส้นทางของภูเขาน้ำแข็งบี-15แซด ตั้งแต่ 2557–2561

ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 ภูเขาน้ำแข็งบี-15 ได้แยกตัวออกมาจากหิ้งน้ำแข็งรอสส์ใกล้กับเกาะโรสเวลต์ ทวีปแอนตาร์กติกา[4][5] การแยกตัวออกมานั้นเป็นการแยกตัวตามรอยแต่ที่มีอยู่แล้วตามหิ้งน้ำแข็ง[4] ภูเขาน้ำแข็งสามารถวัดความยาวได้ประมาณ 295 กิโลเมตร กว้าง 37 กิโลเมตร คิดเป็นขนาดพื้นที่ 10,915 ตร.กม.—ขนาดใกล้เคียงกับเกาะจาเมกา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการที่ก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมาแตกออกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรตามธรรมชาติในระยะยาวซึ่งเกิดขึ้นทุก ๆ 50–100 ปี[4] ใน พ.ศ. 2543, 2545 และ 2546 แตกออกมาเป็นภูเขาน้ำแข็งเล็ก ๆ หลายลูก โดยมีลูกที่ใหญ่ที่สุดคือ ภูเขาน้ำแข็งบี-15เอ ที่มีขนาด 6,400 ตร.กม.[2]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ภูเขาน้ำแข็งบี-15เจได้แตกออกจากภูเขาน้ำแข็งบี-15เอ ทำให้บี-15เอได้ลอยตัวออกจากเกาะรอสส์สู่ทะเลรอสส์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 ภูเขาน้ำแข็งรูปมีดบี-15เคได้แตกออกทำให้บี-15เอลอยขึ้นไปทางเหนือ เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 กระแสน้ำได้พัดบี-15เอไปทางลิ้นน้ำแข็งไดรกัลสกี (เป็นธารน้ำแข็งที่อยู่บริเวณส่วนปลายของธารน้ำแข็งดาวิด มีลักษณะเป็นพื้นน้ำแข็งยืนยาวออกไปในทะเล[6]) ก่อนจะถึงลิ้นน้ำแข็งไดรกัลสกีไม่กี่กิโลเมตร บี-15เอก็เกยตื้นกับภูเขาใต้ทะเล ก่อนจะลอยไปทางเหนืออีกครั้ง[7] ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2548 บี-15เอชนกับลิ้นน้ำแข็ง ทำให้ส่วนปลายของลิ้นน้ำแข็งแตกออก แต่บี-15เอไม่ได้รับผลกระทบจากการปะทะ[6]

ภูเขาน้ำแข็งบี-15เอยังคงลอยเรียบไปตามชายฝั่งแมกเมอร์โดเซาน์ เมื่อวันที่ 27–28 ตุลาคม พ.ศ. 2548 บี-15เอเกยตื้นที่นอกชายฝั่งแหลมอาแดร์ วิกตอเรียแลนด์และได้แตกออกเป็นภูเขาน้ำแข็งลูกเล็ก ๆ แรงสั่นสั่นสะเทือนจากการชนวัดได้ไกลถึงสถานีวิจัยขั้วโลกใต้อามุนด์เซน-สก็อตต์[8][9] การชนกันครั้งนี้ได้แตกเป็นภูเขาน้ำแข็งบี-15พี บี-15เอ็มและบี-15เอ็น ส่วนภูเขาน้ำแข็งลูกที่ใหญ่ที่สุดใช้ชื่อว่าบี-15เอต่อไป (1,700 ตร.กม.) บี-15เอได้ลอยไกลขึ้นไปทางเหนือก่อนจะแตกออกเป็นภูเขาน้ำแข็งลูกเล็ก ๆ ตามการรายงงานของหน่วยลาดตระเวนการประมงของกองทัพอากาศในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549[ต้องการอ้างอิง] ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 มีผู้พบเห็นเศษภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่หลายลูกห่างจากชายฝั่งทิมารุ ประเทศนิวซีแลนด์เพียง 60 กม. ลูกที่ใหญ่ที่สุดวัดขนาดได้ประมาณ 18 กิโลเมตร โผล่พ้นผิวน้ำทะเล 37 เมตร

ใน พ.ศ. 2561 ศูนย์น้ำแข็งแห่งชาติติดตามภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่เหลือได้ 4 ลูก (ขนาดไม่ต่ำกว่า 37,040 ตร.ม.)[3] เช่น บี-15แซด ที่อยู่ห่างจากเกาะเซาท์จอร์เจียไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 277.8 กิโลเมตร วัดขนาดได้ 18,520x9,260 ตารางเมตร และยังคงลอยไปทางเหนือ ยิ่งมันลอยไปเหนือเท่าไหร่อัตราการละลายของมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น[10]

ใน พ.ศ. 2563 มีภูเขาน้ำแข็งเพียง 2 ลูกที่ยังติดตามได้คือ บี-15เอเอ อันเป็นเศษของบี-15แซด อยู่บริเวณตะวันออกของเกาะเซาท์จอร์เจียในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ กับอีกลูกคือ บี-15เอบี ที่ยังลอยอยู่นอกชายฝั่งแอนตาร์กติกา[11]

ภาพถ่ายจากดาวเทียม

[แก้]
บี-15เอ ลอยไปทางลิ้นน้ำแข็งไดรกัลสกี ก่อนจะชนกันในวันที่ 2 มกราคม 2548 (นาซา)
ส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็ง บี-15 ที่แยกออกจากกัน โดยในภาพได้ถายรูปของ บี-15เอ็ม, บี-15เอ็น, และ บี-15พี, 31 ตุลาคม 2548 (ดีเอ็มพีเอส)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ภูเขาน้ำแข็งบี-15 เป็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดที่บันทึกได้โดยภาพถ่ายจากดาวเทียม ใน พ.ศ. 2499 มีรายงานว่าภูเขาน้ำแข็งในแอนตาร์กติกมีขนาดความยาวประมาณ 333 กิโลเมตร (207 ไมล์) และกว้างประมาณ 100 กิโลเมตร (62 ไมล์) แต่เป็นบันทึกก่อนที่จะมีภาพถ่ายจากดาวเทียม ทำให้ขนาดภูเขาน้ำแข็ง พ.ศ. 2499 นั้นมีความน่าเชื่อถือน้อย[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Goering, Laurie (24 March 2000). "Mammoth Iceberg Is Born In Antarctic". Chicago Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-22. สืบค้นเมื่อ 18 February 2014.
  2. 2.0 2.1 Arrigo, Kevin R.; Van Dijken, Gert L. (January–February 2004). "Annual changes in sea-ice, chlorophyll a, and primary production in the Ross Sea, Antarctica". Deep-Sea Research Part II: Topical Studies in Oceanography. 51 (1–3): 117–138. Bibcode:2004DSRII..51..117A. doi:10.1016/j.dsr2.2003.04.003.
  3. 3.0 3.1 Specktor, Brandon (2018-06-08). "Antarctica's Largest Iceberg Is About to Die ... Near the Equator". Space.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-08-01.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Massive Iceberg Peels Off from Antarctic Ice Shelf". National Science Foundation. 22 March 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-07. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  5. "Biggest iceberg tracked from space". The ATSR Project. 9 May 2000. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  6. 6.0 6.1 "Pile-up as berg hits Antarctica". BBC. 19 April 2005. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  7. Bhattacharya, Shaoni (19 April 2005). "World's largest iceberg 'goes bump in the night'". New Scientist. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  8. MacAyeal, Douglas R.; และคณะ (12 September 2006). "Transoceanic wave propagation links iceberg calving margins of Antarctica with storms in tropics and Northern Hemisphere". Geophysical Research Letters. 33 (17): L17502. Bibcode:2006GeoRL..3317502M. doi:10.1029/2006gl027235.
  9. Martin, Seelye; Drucker, Robert; Aster, Richard; Davey, Fred; Okal, Emile; Scambos, Ted; MacAyeal, Douglas (2010). "Kinematic and seismic analysis of giant tabular iceberg breakup at Cape Adare, Antarctica". Journal of Geophysical Research. 115 (B6): B06311. Bibcode:2010JGRB..115.6311M. doi:10.1029/2009jb006700.
  10. Eleanor Imster (11 June 2018). "End of the journey for iceberg B-15?". สืบค้นเมื่อ 22 July 2019.
  11. Scott Sutherland (28 April 2020). "New satellite images reveal Iceberg A-68's days are numbered". สืบค้นเมื่อ 20 May 2021.

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Stone, Gregory S. (2003). Ice Island : Expedition to Antarctica's Largest Iceberg. Boston, Massachusetts: New England Aquarium Press, National Geographic Society. ISBN 1593730179. OCLC 52739140.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]