ฟ้อนสาวไหม
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ฟ้อนสาวไหมปรากฏอยู่สองแบบ คือสาวไหมในการฟ้อนเจิงหรือร่ายรำท่าต่อสู้ด้วยมือเปล่า ซึ่งมีลีลากระบวนท่าที่แน่นอน และการฟ้อนสาวไหมที่เป็นการฟ้อนของผู้หญิงที่แสดงความเคลื่อนไหวในลีลาร่ายรำที่นุ่มนวล มิได้ร้อนแรงเหมือนอย่างที่ปรากฏในเชิงต่อสู้
ประวัติฟ้อนสาวไหม
[แก้]การฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย พ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ ชาวบ้านตำบลแม่ก๊ะ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเรียนเชิงมาจากพ่อครูปวน คำมาแดง บ้านร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ ได้เป็นครูเชิง หรือผู้สอนฟ้อนเชิง คือการฟ้อนด้วยมือเปล่าของผู้ชายในลีลาท่ารำในเชิงต่อสู้ ต่อมา "พ่อครูกุย"ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านศรีทรายมูล ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และพ่อครูกุย ได้ถ่ายทอดการฟ้อนให้แก่บุตรสาว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ คือ แม่ครูบัวเรียว(สุภาวสิทธิ์)รัตนมณีภรณ์ เมื่อแม่ครูอายุราว ๗ ขวบ
ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พ่อครูโม ใจสม ชาวมอญพระประแดงซึ่งเป็นนักดนตรีนาฏศิป์ไทยจากเชียงใหม่ ได้อพยพไปอยู่ในละแวกเดียวกันด้วย ซึ่งพ่อครูโมก็ได้ช่วยฟื้นฟู "วงกลองเต่งถิ้ง" ของวัด สอนนาฏศิลป์ และดนตรีไทยจนมีนักดนตรีไทยฝีมือดีหลายคน ในช่วงเวลานั้นแม่ครูบัวเรียวได้ฝึกนาฏศิลป์กับพ่อครูโมด้วย เมื่อมีงานฉลองในวัดที่เกี่ยวข้องกับวัดศรีทรายมูลแล้ว เจ้าอาวาสและคณะศรัทธาก็มักจะนำดนตรีและช่างฟ้อนมาร่วมในงาน ซึ่งแม่ครูบัวเรียวก็ได้ไปร่วมฟ้อนด้วย โดยเฉพาะแม่ครูมักจะฟ้อนสาวไหมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม่ครูได้ดัดแปลงลีลาการฟ้อนสาวไหมเชิงต่อสู้แบบชายให้เข้ากับบุคลิกของสตรี คือให้อ่อนช้อยงดงามและให้ลงจังหวะดนตรี แบบนาฏศิลป์ไทย ขณะเดียวกันดนตรีประกอบการฟ้อนแต่เดิมใช้ดนตรีพื้นเมืองประเภทใดก็ได้นั้น ก็เริ่มใช้วงกลองเต่งถิ้ง บรรเลงเพลงพื้นเมือง เช่น ปราสาทไหว และฤๅษีหลงถ้ำ ซึ่งต่อมาเห็นว่าไม่กระชับ จึงเลือกใช้เพลง"สาวไหม" แทนซึ่งเพลงนี้ ท่านผู้รู้บางท่าน ก็ว่าเป็นเพลงที่พ่อครูโมดัดแปลงจากเพลง"ลาวสมเด็จ"เพื่อใช้ประกอบการฟ้อนสาวไหม
ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๓ คณะศรัทธาจากวัดศรีทรายมูลได้ไปช่วยการฟ้อนที่วัดถ้ำปุ่มถำปลา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ครั้งนั้น นายอินทร์หล่อ สรรพศรี ซึ่งเป็นนักดนตรีไทยชั้นครูของเชียงรายได้ไปเห็นการฟ้อนของแม่ครูบัวเรียวด้วย ต่อมานายอินทร์หล่อ ได้ชมการฟ้อนของแม่ครูบัวเรียวที่งานวัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และได้เชิญให้พบกับภรรยาของตนคือ แม่ครูพลอยศรี สรรพศรี ซึ่งเป็นช่างฟ้อนในคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐฯ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมีด้วย "แม่ครูพลอยศรี" ได้ปรับปรุงแก้ไขท่าฟ้อนของแม่บัวเรียว จากเดิม มี๑๓ ท่าฟ้อนให้เป็น ๒๑ ท่าฟ้อน
แต่ถึงกระนั้นการฟ้อนแบบต้นฉบับของแม่ครูบัวเรียวยังเป็นที่นิยมถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์อยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการพัฒนา และกระบวนการสอน ของแม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ที่มีการปรับตัวตามสภาพสังคมวัฒนธรรมที่มีพลวัฒอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแม่ครูบัวเรียว ยังถ่ายทอดการฟ้อนพื้นเมืองล้านนาอีกหลายรูปแบบ ณ บ้านสาวไหม ชุมชนศรีทรายมูล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ท่าฟ้อนต้นฉบับแม่ครูบัวเรียว
[แก้]โดยท่าฟ้อนของแม่ครูบัวเรียวที่เป็นมาตรฐาน มี ๑๖ ท่าฟ้อน ดังนี้
- ไหว้ (เทพนม)
- บิดบัวบาน
- พญาครุฑบิน
- สาวไหมช่วงยาว
- ม้วนไหมซ้าย
- ม้วนไหมขวา
- ตากฝ้าย (เป็นท่าใหม่ที่แม่ครูบัวเรียว ได้เพิ่มเติม ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔)
- ม้วนไหมใต้เข่า
- ม้วนไหมใต้ศอก
- พุ่งหลอดไหม
- สาวไหมรอบตัว
- คลี่ปมไหม
- ปูเป็นผืนผ้า
- พับผ้า
- พญาครุฑบิน
- ไหว้ ตอนจบ
ท่าฟ้อนของแม่ครูพลอยศรี
[แก้]โดยท่าฟ้อนของแม่ครูพลอยศรี มี ๒๑ ท่าฟ้อนดังนี้
- ไหว้
- บิดบัวบาน
- บังสุริยา
- ม้วนไหมศอกซ้าย
- ม้วนไหมศอกขวา
- ม้วนไหมซ้ายล่าง
- ม้วนไหมขวาล่าง
- สาวไหมกับเข่าซ้าย
- ม้วนไหมวงศอก
- สาวไหมช่วงสั้นรอบตัว
- ว้นไหมซ้าย
- สาวไหมช่วงยาวรอบตัว
- คลี่ปมไหม
- พุ่งกระสวยเล็ก
- สาวขึ้นข้างหน้า
- ขึงไหมข้างหน้า
- ม้วนไหมเป็นขดโดยใช้ศอกซ้าย
- ม้วนไหมเป็นขดโดยใช้ศอกขวา
- สาวรอบตัวอีกครั้ง
- เอามาม้วนใต้ศอกซ้ายอีก
- ไหว้
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
[แก้]การฟ้อนสาวไหมนี้ เป็นท่าหนึ่งของเชิงสาวไหมที่มักเรียกกันในภายหลังว่า "สาวไหมลายเจิง" แม่ครูบัวเรียวได้เล่าว่าเมื่อครั้งเล็ก พ่อครูกุยได้สอนเชิงสาวไหมให้กับหนุ่มๆ ในละแวกบ้าน และได้ปรับเอาท่าสาวไหมในเชิงนั้นมาคิดประดิษฐ์เป็นฟ้อนสำหรับผู้หญิง โดยนำไปผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทอผ้า จึงได้นำวิถีชีวิต กระบวนการทอผ้ามาผสมผสานกับเชิงสาวไหมจนกลายเป็น "ฟ้อนสาวไหม" ให้กับลูกสาวคือแม่ครูบัวเรียวนั่นเอง
แต่ปัจจุบันนี้ มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าการฟ้อนสาวไหมนั้น 'ประดิษฐ์มาจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอเป็นผ้าไหม' อยู่มากมายรวมไปถึงวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ที่ได้นำการฟ้อนสาวไหมมาปรับปรุงด้วยเช่นกัน อาจจะเป็นเพราะความไม่เข้าใจในภาษาล้านนาอย่างลึกซึ้ง จึงตีความว่าเป็นการฟ้อนที่เลียนแบบการทอผ้าไหม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำว่า "ไหม" ในภาษาล้านนา หมายถึงเส้นด้าย รวมถึงสิ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นเล็กบาง เช่น ฝ้ายไหมมือ ก็คือเส้นด้ายที่ใช้ผูกข้อมือให้ศีลให้พร เป็นต้น
หลักฐานที่สนับสนุนว่าการฟ้อนสาวไหม หมายถึงการฟ้อนที่ประดิษฐ์มาจากกระบวนการทอผ้าฝ้ายไม่ใช่ผ้าไหม ก็คือ สภาพความเป็นอยู่ การปลูกต้นฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าฝ้ายของชาวล้านนาตั้งแต่อดีตนั่นเอง ในล้านนามีการเลี้ยงไหมอยู่น้อยมากจนไม่อาจจะเรียกได้ว่าการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมเป็นวัฒนธรรมของล้านนา
อีกทั้งได้สอบถามยังครูเชิงหลายท่าน ทุกท่านต่างยืนยันว่าท่าสาวไหมในเชิงของล้านนา ไม่ได้หมายถึงการสาวเส้นไหมอย่างแน่นอน
แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในชื่อของฟ้อนสาวไหมว่า พ่ออุ้ยกุย สุภาวสิทธิ์ เห็นว่าคำว่าฟ้อนสาวไหม มีรูปภาษาที่สวยงามกว่าคำว่า ฟ้อนสาวฝ้าย ดังนั้นจึงเห็นว่าควรใช้ สาวไหม จะมีความงามทางด้านภาษามากกว่า
ฟ้อนสาวไหม เป็น ฟ้องที่แฝงด้วยปรัชญาชีวิต ว่า ชีวิตทุกชีวิตต้องมีอุปสรรค ดั่งการสาวไหมต้องเจอปม เมื่อคลี่ปมไหมให้ดี และถักทอเป็นผืนผ้าได้สวยงามก็ เปรียบดังชีวิตที่ต้องต่อสู้ฝ่าฟันด้วยความเพียรและอดทนผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาต่างๆ มาได้ เป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- สารนุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เรื่อง ฟ้อนสาวไหม หน้า ๔๘๙๔-๔๙๐๒
- หนังสือ ฟ้อนเชิง :อิทธิพลที่มีต่อฟ้อนในล้านนา โดยศุนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๗
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- หนังสืออ่านเพิ่มเติม ฟ้อนสาวไหม เก็บถาวร 2009-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน