ฟาง ล่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟาง ล่า
เกิดไม่ทราบ
เทศมณฑลเช่อ, มณฑลอานฮุย
เสียชีวิตค.ศ. 1121
ไคเฟิง, มณฑลเหอหนาน
อาชีพผู้นำกบฏ

ฟาง ล่า ตามภาษาจีนมาตรฐาน หรือ ฮองละ ตามภาษาจีนฮกเกี้ยน (จีนตัวย่อ: 方腊; จีนตัวเต็ม: 方臘; พินอิน: Fāng Là; ตาย ค.ศ. 1121) เป็นหัวหน้ากบฏชาวจีนซึ่งก่อการกำเริบต่อต้านราชวงศ์ซ่ง (宋朝) เรื่องราวของเขาได้รับการดัดแปลงเป็นนิยายเรื่อง ซ้องกั๋ง (宋江) ซึ่งมีเขาเป็นตัวละครหลักฝ่ายร้ายและเป็นหนึ่งในคู่ต่อสู้ของ 108 ขุนศึก (一百单八將)

ชีวิต[แก้]

ฟาง ล่า เป็นชาวจังหวัดเช่อ (歙州) ปัจจุบัน คือ เทศมณฑลเช่อ (歙县), มณฑลอานฮุย (安徽省) แต่เอกสารบางฉบับว่า เขาเป็นชาวเทศมณฑลชิงซี (清溪縣) ปัจจุบัน คือ เทศมณฑลฉุนอาน (淳安縣), มณฑลเจ้อเจียง (浙江省)

ใน ค.ศ. 1120 เขานำพาประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านราชวงศ์ซ่ง โดยเริ่มที่หมู่บ้านซีเสี่ยน (七賢村) ในจังหวัดเช่อ แต่เอกสารบางฉบับว่า เริ่มที่เมืองว่านเหนียน (萬年鄉) ในเทศมณฑลชิงซี

กองกำลังของฟาง ล่า ยึดจังหวัดหาง (杭州) ได้ ก่อนจะยึดภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบัน คือ มณฑลเจียงซี (江西省), มณฑลเจียงซู (江苏省), มณฑลเจ้อเจียง, และมณฑลอานฮุย ประกอบด้วยเทศมณฑล 52 แห่ง และจังหวัด 6 แห่ง

ครั้น ค.ศ. 1121 ราชวงศ์ซ่งส่งขุนพลหวัง เยฺวียน (王淵) นำทัพมาปราบ หาน ชื่อจง (韓世忠) ลูกน้องของหวัง เยฺวียน ปลอมตัวเข้ามาเป็นไส้ศึกในเทศมณฑลชิงซีและยึดครองเทศมณฑลไว้ได้ ทำให้ฟาง ล่า และลูกน้องอีก 52 คนถูกจับกุม ขุนพลถง กว้าน (童貫) คุมตัวพวกเขากลับไคเฟิง (开封) เมืองหลวง และสี่เดือนถัดมา พวกเขาถูกพิพากษาว่า เป็นกบฏ และถูกประหารชีวิตด้วยการถลกหนังในไคเฟิง

ใน ซ้องกั๋ง[แก้]

นวนิยาย ซ้องกั๋ง พรรณนาเรื่องราวกึ่งแต่งขึ้นของฟาง ล่า ในการยุทธ์กับ 108 ขุนศึกแห่งเขาเหลียง (梁山) ความว่า จักพรรดิซ่งฮุ่ยจง (宋徽宗) ส่งชาวเขาเหลียงไปปราบกบฏและรบกับราชวงศ์เหลียว (遼朝) ทางเหนือ หนึ่งในกบฏที่ต้องถูกปราบ คือ กลุ่มของฟาง ล่า ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เจียงหนาน (江南) แต่การรบกับฟาง ล่า ทำให้ขุนศึก 108 คนตายลง 59 คน ชาวเขาเหลียงจึงส่งไฉ จิ้น (柴進) กับย่าน ชิง (燕青) เข้าไปเป็นไส้ศึก ทำให้จับฟาง ล่า ได้ในที่สุด ฟาง ล่า พยายามหลบหนี แต่ถูกภิกษุหลู่ จื้อเชิน (魯智深) จับตัวไว้ได้ ขุนพลถง กว้าน จึงคุมตัวกลับไคเฟิง สี่เดือนถัดมา เขาถูกพิพากษาว่า เป็นกบฏ และถูกประหารชีวิตด้วยวิธีหลิงฉือ (凌遲) คือ เชือดเป็นพันชิ้นหมื่นชิ้นให้ตายอย่างช้า ๆ

อ้างอิง[แก้]

  • Buck, Pearl S. (2006). All Men are Brothers. Moyer Bell. ISBN 9781559213035.
  • Ichisada, Miyazaki (1993). Suikoden: Kyoko no naka no Shijitsu (ภาษาญี่ปุ่น). Chuo Koronsha. ISBN 978-4122020559.
  • Keffer, David. "Outlaws of the Marsh: A Somewhat Less Than Critical Commentary". Poison Pie Publishing House. สืบค้นเมื่อ 19 December 2016.
  • Li, Mengxia (1992). 108 Heroes from the Water Margin (ภาษาจีน). EPB Publishers. ISBN 9971-0-0252-3.
  • Miyamoto, Yoko (2011). "Water Margin: Chinese Robin Hood and His Bandits". Demystifying Confucianism. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-28. สืบค้นเมื่อ 19 December 2016.
  • Shibusawa, Kou (1989), Bandit Kings of Ancient China, Koei
  • Zhang, Lin Ching (2009). Biographies of Characters in Water Margin. Writers Publishing House. ISBN 978-7506344784.