ฟลายอิงดัตช์แมน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
The Flying Dutchman ภาพเขียนโดย Albert Pinkham Ryder
ภาพแสดงการเกิดภาพลวงตาของเรือสองลำ

ฟลายอิงดัตช์แมน (อังกฤษ: Flying Dutchman; ดัตช์: De Vliegende Hollander) เป็นเรื่องเล่าขานในหมู่ชาวประมงในยุคกลาง ว่าเป็นเรือผีสิงที่ต้องคำสาปให้เดินทางในมหาสมุทรชั่วกัลปาวสาน ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ มักถูกพบเห็นในคืนที่มีหมอกหนาทึบ บางครั้งพบเห็นเป็นแสงประหลาดในเวลากลางคืน ว่ากันว่าเป็นแสงที่ลูกเรือลำนั้นส่งสัญญาณกับผู้พบเห็น เพื่อฝากข้อความถึงแผ่นดินใหญ่หรือคนรู้จัก[ต้องการอ้างอิง]

ฟลายอิงดัตช์แมนได้รับการบันทึกเป็นเอกสารมาตั้งแต่คริสต์สตวรรษที่ 17 และมีรายงานการพบเห็นเป็นครั้งคราวมาจนถึงคริสต์สตวรรษที่ 20 ครั้งหนึ่งที่ได้รับการบันทึก เป็นการพบเห็นโดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อ ค.ศ. 1880 ขณะทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ ขณะนั้นทรงประจำการอยู่บนเรือรบ Bacchante นอกชายฝั่งออสเตรเลีย ระหว่างซิดนีย์ กับเมลเบิร์น [1] และจอมพลเรือคาร์ล เดอนิทซ์ แห่งกองทัพเรือเยอรมันได้บันทึกว่าฟลายอิงดัตช์แมนแล่นผ่านเรือของตนไปเมื่อปี ค.ศ. 1942[2]

เรื่องเล่าของฟลายอิงดัตช์แมนนั้นมีมากมาย แต่เรื่องที่รู้จักกันดีที่สุด คือ กัปตันชาวดัตช์ ชื่อ ฟาน เดอร์ เดกเคน พยายามเดินเรือไปอัมสเตอร์ดัม แต่ระหว่างทางกลับพบสภาพอากาศที่เลวร้ายในแหลมกูดโฮป ประเทศแอฟริกาใต้ เขาพยายามนำเรือผ่าพายุทั้งที่หลายฝ่ายคัดค้านจนเรือชนโขดหินจนเรือใกล้ล่ม แต่กัปตันยังคงดื้อดึงพร้อมพ่นคำหยาบต่อสวรรค์ และนั้นเองทำให้เขาต้องคำสาปคือเขาจะต้องเดินเรือไปทั่วมหาสมุทรชั่วนิรันดร์พร้อมกับลูกเรือผีของเขา และเรือของเขาจะนำมาซึ่งหายนะแก่ผู้พบเห็น[2]

นักวิทยาศาสตร์ในอดีตให้คำอธิบายปรากฏการณ์ฟลายอิงดัตช์แมน ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางแสงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นมิราจหรือฟาตา มอร์กานา ที่เกิดจากการหักเห (refraction) และการสะท้อน (reflection) ที่พบเห็นในทะเล [3]

เรื่องฟลายอิงดัตช์แมนถูกนำไปดัดแปลงเป็นบทละคร และนวนิยายหลายเรื่องในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และถูกนำไปสร้างเป็นอุปรากร โดยริชาร์ด วากเนอร์ในปี ค.ศ. 1843 และปรากฏในวัฒนธรรมสมัยนิยมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นชื่อเรือโจรสลัดลำหนึ่งในภาพยนตร์ชุด Pirates of the Caribbean ของดิสนีย์

อ้างอิง[แก้]

  1. Rose, Kenneth (1983), King George V, London: Weidenfeld and Nicolson, ISBN 0297782452, p. 11
  2. 2.0 2.1 "10 เรือผี". ต่วยตูนส์. สืบค้นเมื่อ July 26, 2016.[ลิงก์เสีย]
  3. Round-about Rambles in Lands of Fact and Fancy by Frank R. Stockton

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]