ระหัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กังหันลมซึ่งแปลงแรงจากลม เพื่อหมุนดึงเพลาระหัดให้ระหัดวิดน้ำสม่ำเสมอ ในนาเกลือ
ระหัดวิดน้ำ ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่เกิน 30 ชิ้น
ภาพระหัดแบบใช้แรงกลแปลงจากกระแสน้ำ
ระหัดวิดน้ำใช้แรงถีบ ไต้หวัน ประเทศจีน ปีค.ศ. 1915
ระหัดวิดน้ำใช้แรงถีบ ประเทศจีน ปี 1911
ระหัดวิดน้ำใช้เทียมวัว จากหนังสือสารานุกรมจักรพรรดิ (古今图书集成 Gǔjīn Túshū Jíchéng) ประเทศจีน ราวปีค.ศ. 1700-17/5
ระหัดวิดน้ำแบบไม่มีราง ในประเทศอินเดีย

ระหัด (อังกฤษ: Rahat หรือ Chain Pump) เป็นเครื่องชักน้ำหรือวิดน้ำ ประกอบด้วยรางและสายโซ่ (สายพาน) โดยทั่วไปรางและใบระหัดทำจากไม้ ใช้มือหมุน ใช้ถีบด้วยเท้า หรือใช้แรงสัตว์ หรือใช้แรงกลแปลงจากกระแสน้ำหรือลม ใช้ในการชลประทานเพื่อการกสิกรรมทั่วไปที่ต้องอาศัยน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก โดยเฉพาะการทำนาต้องดึงน้ำขังต้นข้าวจนกระทั่งก่อนข้าวออกรวงจึงดึงน้ำออก ชาวนาจะปลูกข้าวในฤดูฝนปีละครั้ง เรียกว่า ข้าวนาปี แต่เมื่อมีการชลประทานดีขึ้นจะปลูกข้าวนอกฤดูฝนอีกด้วย ซึ่งเรียกว่า นาปรัง การใช้ระหัดวิดน้ำมีความสำคัญต่อการทำนาในสมัยก่อนมาก เพราะเมื่อฝนชุกน้ำในแม่น้ำลำคลองจะมีระดับสูงขึ้น หากแปลงนาซึ่งทำคันไว้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้มากพอ

ลักษณะ

สำหรับการเพาะปลูกแล้ว ชาวนาจะใช้ชงโลงหรือระหัดวิดน้ำเข้าแปลงนา การใช้ชงโลง (หรืิอเรียก โพง) วิดน้ำได้ครั้งละไม่มากนัก และต้องออกแรงมากเนืื่องจากต้องวิดน้ำและเหวี่ยงข้ามคันนาไปอีกข้างหนึ่ง เพื่อประหยัดแรงจึงได้คิดวิธีวิดน้ำหรือชักน้ำโดยการใช้ระหัดขึ้น ระหัดมักทำด้วยไม้สักเนื่องจากทนน้ำ[1][2] สันนิษฐานว่าระหัดถูกประดิษฐ์ขึ้นในประเทศจีน[3] (เรืยก 水转翻车 Shuǐ zhuǎn fānchē) หรือ ในประเทศเปอร์เซีย[4] และได้รับการแนะนำให้รู้จักในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงรวมทั้งประเทศไทย ในประเทศอินเดียมีชื่อเรียกในภาษาฮินดีและอูรดูว่า Rahat (ราหัท)[5][6] หรือ Rehat เป็นเครื่องชักน้ำคล้ายระหัดคือมีสายพานที่เรียงด้วยกระบอกน้ำหลายใบ แต่ไม่มีราง ใช้ชักน้ำด้วยแรงคนหรือสัตว์ในแนวดิ่งจากบ่อน้ำที่มีความลึกค่อนข้างมาก [7]

มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ รางน้ำ ใบระหัด เพลา และมือหมุน

รางน้ำ โดยมากใช้ไม้สักทำเป็นโครง มีความยาวประมาณ 5 – 6 เมตร ใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ตีประกบทั้ง 2 ข้าง ให้รางน้ำซีกข้างบนโปร่ง ด้านล่างตีไม้ทึบ รางน้ำมีความสูงประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร

ใบระหัดหรือใบพัด เป็นไม้แผ่นบางเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จำนวน 30 – 40 ใบ กว้างประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 – 15 เซนติเมตร เข้าเดือยใบระหัดแต่ละใบโดยใช้สลักตอกให้แกนใบยึดซึ่งกันและกัน ใบระหัดยึดคล้องกันแบบลูกโซ่ มีความยาวประมาณ 2 เท่า ของรางน้ำ ระหัดวิดน้ำอาจมีขนาดสั้นและยาวตามความต้องการของผู้ใช้

เพลา ทำเป็นท่อนไม้วงกลมใช้ไม้หรือเหล็กเป็นแกน เจาะรูหลวม ๆ ให้หมุนได้สะดวก มีเหลาด้านปลายรางน้ำ 2 เพลา ทำเป็นลักษณะคล้ายฟันเฟือง เพื่อให้ใบระหัดกับฟันเฟืองสับกันไปมา สามารถชักดึงให้ใบระหัดเคลื่อนหมุนได้มือหมุน มือหมุน 2 ข้างจะทำเป็นแกนมีที่จับ เจาะรูยึดกับแกนเพลา ใช้หมุนโดยการดึงสลับข้างกัน เวลาใช้จะวางระหัดด้านปลายจุ่มไปในน้ำให้เอียงทอด ดึงมือหมุนทีละข้างสลับกันไปเรื่อย ๆ แกนเพลาเมื่อหมุนแล้วจะทำให้ฟันเฟืองและใบระหัดหมุนตาม ใบระหัดจะพุ้ยน้ำหรือตักน้ำขึ้นมาในรางและไหลออกตรงช่องมือหมุน การวิดระหัดอาจใช้คนเดียวหรือ 2 คน ช่วยกันหมุน ซึ่งทำให้ผ่อนแรงได้มากการใช้ระหัดวิดน้ำนอกจากใช้เพื่อการเพาะปลูกแล้ว ยังใช้วิดน้ำหาปลาได้อีกด้วย

ปัจจุบันในประเทศไทยไม่นิยมใช้ระหัดวิดน้ำในการกสิกรรมแล้ว โดยส่วนมากเกษตรกรหันมาใช้เครื่องสูบน้ำเข้ามาแทน แต่อาจพบเห็นได้ในนาเกลือซึ่งเป็นระหัดที่ีใช้แรงกลแปลงจากกระแสลม

ส่วนประกอบสำคัญของระหัดฉุดน้ำแบบกังหันลม

  1. ส่วนของใบพัด ก้านใบทำจากไม้ยึดติดกับแกนหมุน ใบรับลมทำจากเสื่อ ลำแพน หรือ ผ้าใบ ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้แผ่นพลาสติก มีจำนวน 6 ใบ แกนหมุนตั้งในแนวนอนอยู่บนเสาไม้
  2. เสาของกังหันลม ทำจากไม้จำนวน 2 ต้น ปักไว้เป็นคู่เพื่อรองรับแกนหมุน
  3. สายพานขับแกนเพลา ทำจากเชือกที่มีความเหนียวและทนต่อแรงเสียดสี ทำหน้าที่ถ่ายแรงจากการหมุนของแกนหมุนไปยังแกนเพลาให้หมุนตามเพื่อใช้ฉุดระหัดไม้
  4. แกนเพลา ทำจากเหล็กหรือไม้กลม วางอยู่บนเสาไม้คู่เหนือพื้นดินที่พอเหมาะ มีซี่ไม้ลักษณะคล้ายเฟืองยึดติดกลางแกนเพลาเพื่อขับหมุนฉุดแผ่นระหัด
  5. ส่วนของรางน้ำและระหัด ทำจากไม้ ลักษณะรางน้ำเป็นกล่องรางไม้ตัว บ. (ตัวยู u) เป็นร่องน้ำเปิดโปร่ง พาดเฉียงระหว่างท้องน้ำ กับพื้นนาเกลือแล้วใช้ไม้แผ่นขนาดเท่าหน้าตัดของกล่องรางน้ำทำระหัดเรียงต่อกันเป็นซี่ ๆ ด้วย เชือก หรือ โซ่ห่างกันพอประมาณเพื่อกักเก็บและฉุดน้ำเคลื่อนตัวจากที่ต่ำขึ้นที่สูง

อ้างอิง

  1. บริษัท โรงเลื่อยจักรเสริมวงศ์ จำกัด ข้อดีของการใช้ไม้สักมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.
  2. ไม้ที่ใช้ทำเรือ สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.
  3. 钦定古今图书集成/经济汇编/考工典/第244卷
  4. Srikantaiah Vishwanath. The Persian Wheel in India. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.
  5. The Tribune India. ‘Rahat’: A farmers’ companion of olden days สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.
  6. India Culture. RAHAT- A Traditional Irrigation Technique, Madhya Pradesh สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563.
  7. S.Vishwanath, Amitangshu Acharya. Persian wheel : The water lifting device in Kolar, Karnataka India Water Portal.