พิพิธภัณฑ์สงครามลัตเวีย

พิกัด: 56°57′04″N 24°06′33″E / 56.95111°N 24.10917°E / 56.95111; 24.10917
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑ์สงครามลัตเวีย
Latvijas Kara muzejs
ทางเข้าพิพิธภัณฑ์สงครามลัตเวีย
แผนที่
ก่อตั้ง15 ตุลาคม 2459 (2459-10-15)
ที่ตั้งSmilšu street 20 Vecrīga รีกา ประเทศลัตเวีย
พิกัดภูมิศาสตร์56°57′04″N 24°06′33″E / 56.95111°N 24.10917°E / 56.95111; 24.10917
ประเภทพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทหาร
ขนาดผลงานมากกว่า 25,400 ชิ้น
จำนวนผู้เยี่ยมชม141,700 (พ.ศ. 2557)
ผู้อำนวยการAija Fleija
เว็บไซต์karamuzejs.lv

พิพิธภัณฑ์สงครามลัตเวีย (ลัตเวีย: Latvijas Kara muzejs) เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทหาร ตั้งอยู่ที่กรุงรีกา ประเทศลัตเวีย

พิพิธภัณฑ์สงครามลัตเวียก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2459 ในชื่อพิพิธภัณฑ์กองพันทหารปืนไรเฟิลลัตเวีย[1] เดิมทีพิพิธภัณฑ์มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ถนน Tērbatas 1/3 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพลปืนไรเฟิลลัตเวียและสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ใน พ.ศ. 2460 เมื่อริกาถูกโจมตี ข้าวของในพิพิธภัณฑ์ถูกอพยพออกไป ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2462 พิพิธภัณฑ์ได้รับการบูรณะและดำเนินงานที่หอคอยเพาเดอร์ในเมืองเก่าริกา พิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนเข้าชมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2464

ใน พ.ศ. 2479 รัฐบาลได้เข้าซื้อที่ดินบริเวณข้างเคียง การก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ใหม่เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2480 ตามโครงการของสถาปนิก Artūrs Galindoms งานตกแต่งภายในได้รับการออกแบบเพิ่มเติมโดยสถาปนิก R. Legzdiņš สิ่งของในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดถูกเก็บไว้ชั่วคราวที่ห้องเครื่องของพิพิธภัณฑ์บนถนน Torņa อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่สร้างเสร็จในฤดูร้อน พ.ศ. 2483 แต่พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถจัดนิทรรศการได้ก่อนที่โซเวียตจะยึดครองลัตเวียใน พ.ศ. 2483 พิพิธภัณฑ์สงครามลัตเวียอยู่ภายใต้เขตอำนาจของคณะกรรมการเก็บกวาดของกองทัพประชาชนลัตเวียซึ่งได้ส่งมอบสิ่งของจากพิพิธภัณฑ์ให้กับกรรมการราษฎรฝ่ายการศึกษาและถูกเก็บไว้ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์ริกาเดิม และส่งมอบที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ให้กับกองทัพแดง พิพิธภัณฑ์สงครามลัตเวียได้ปิดตัวลงในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2484[1] อาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนทหารเรือริกานาฮีมอฟตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2488 และยังคงเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนี้ต่อไปจนถึง พ.ศ. 2496

ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2533 สถานที่ดังกล่าวถูกครอบครองโดยพิพิธภัณฑ์การปฏิวัติสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลัตเวีย[2] ซึ่งตีความประวัติศาสตร์ลัตเวียในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผ่านมุมมองของอุดมการณ์โซเวียต อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมโบราณวัตถุอันล้ำค่าที่เป็นตัวแทนของสหภาพโซเวียตไว้เป็นคอลเล็กชันในช่วงที่ดำรงอยู่

ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2533 รัฐบาลลัตเวียได้บูรณะพิพิธภัณฑ์สงครามลัตเวียขึ้นอีกครั้ง[1]

ส่วนจัดแสดง[แก้]

พิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงต่าง ๆ ที่เน้นไปที่สงครามต่าง ๆ ที่ลัตเวียมีส่วนเกี่ยวข้อง มีการจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของลัตเวียและริกาก่อนยุคปัจจุบัน และอีกหนึ่งนิทรรศการเน้นไปที่คริสต์ศตวรรษที่ 18-19 มีการจัดแสดงนิทรรศการสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของลัตเวียในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองซึ่งครอบคลุมการรบหลายครั้งโดยละเอียด มีการสำรวจกิจกรรมทางทหารล่าสุดของลัตเวีย รวมถึงการมีส่วนร่วมในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Inta Pētersone (1999). Latvijas Brīvības cīņas 1918-1920 : enciklopēdija (ภาษาลัตเวีย). Riga: Preses nams. pp. 141–142. ISBN 9984003957. OCLC 43426410.
  2. "Latvijas Kara muzejs" (ภาษาลัตเวีย). Latvian Museums Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-01. สืบค้นเมื่อ 4 August 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]