พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถาน

พิกัด: 34°28′3″N 69°7′12″E / 34.46750°N 69.12000°E / 34.46750; 69.12000
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถาน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถานเมื่อปี 2005
แผนที่
ก่อตั้ง1922
ที่ตั้งเขต 6 คาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน
พิกัดภูมิศาสตร์34°28′3″N 69°7′12″E / 34.46750°N 69.12000°E / 34.46750; 69.12000
ขนาดผลงาน100,000 คน (1978), ปัจจุบัน 50,000-80,000 คน[1][2][3]
ผู้อำนวยการโมฮาเมด ซูบัยร์ อาเบดี (Mohammed Zubair Abedi)[1][4]
เว็บไซต์https://www.nationalmuseum.af/

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถาน (ดารี: موزیم ملی افغانستان; ปาทาน: د افغانستان ملی موزیم) เป็นอาคารความสูง 2 ชั้น ตั้งอยู่ตรงข้ามถนนกับวังดารุลอามานในย่านดารุลอามาน กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ในอดีตพิพิธภัณฑ์นี้เคยถือว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดของโลก[5][6] และเคยมีรายงานเกี่ยวกับการขยายอาคารพิพิธภัณฑ์และการสร้างพิพิธภัณฑ์หลังใหม่อยู่[7]

ของสะสมของพิพิธภัณฑ์ในอดีตถือว่าเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งในเอเชียกลาง[8] ด้วยของสะสมมากกว่า 100,000 ชิ้นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงหลายพันปีก่อน และมีวัตถุจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งเปอร์เซีย พุทธ และอิสลามเป็นต้น อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองที่เริ่มต้นในปี 1992 ได้ถูกปล้นหลายครั้งและถูกจรวดโจมตีอีกจำนวนหนึ่ง เป็นผลให้ของสะสมกว่า 70% ที่จัดแสดงสูญหายโดยถาวร[9][10] นับตั้งแต่ปี 2007 ได้มีองค์การนานาชาติจำนวนหนึ่งร่วมกันช่วยกู้คืนโบราณวัตถุราว 8,000 ชิ้น ซึ่งรวมถึงรูปปั้นแกะสลักหินทรายที่ได้คืนมาจากเยอรมนี[11] ในปี 2012 ได้มีโบราณวัตถุ 843 ชิ้นที่สหราชอาณาจักรส่งมอบคืน ซึ่งรวมถึงงาช้างเบกรามอันมีชื่อเสียง[12]

ประวัติศาสตร์[แก้]

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถานเปิดให้บริการในปี 1919 ในรัชสมัยของกษัตริย์อามานุลลอฮ์ ข่าน[13] ของสะสมเดิมทีจัดแสดงภายในพระราชวังบาเฆบาลา และในปี 1922 ได้ย้ายออกมาพร้อมใช้ชื่อของสะสมว่า "ของสะสมหายาก" ('Cabinet of Curiosities')[14] อาคารหลังปัจจุบันของพิพิธภัณฑ์ได้ย้ายมาเริ่มต้นใช้งานในปี 1931[15] ในปี 1973 สถาปนิกชาวเดนมาร์กได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบอาคารใหม่ของพิพิธภัณฑ์ อย่างไรก็ตามไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารใหม่นี้[16] ในปี 1989 ทองคำแบกเตรียได้ถูกเคลื่อนย้ายไปยังคลังใต้ดินของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน[9]

หลังการล่มสลายของรัฐบาลของโมฮาเมด นาญีบุลลอฮ์ และการเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองในต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 พิพิธภัณฑ์ถูกปล้นหลายรอบ เป็นผลให้ของสะสมมากกว่า 70% สูญหาย[9] ในเดือนพฤษภาคม 1993 มีการโจมตีทางจรวดลงที่พิพิธภัณฑ์ ซากของอาคารได้ถล่มลงมาทับโบราณวัตถุภายใน ซึ่งรวมถึงเครื่องปั้นดินเผาโบราณ[17] ในเดือนมีนาคม 1994 พิพิธภัณฑ์ในตอนนั้นใช้งานเป็นฐานบัญชาการของกองทัพ ได้ถูกจรวดโจมตีและเสียหายอย่างหนัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและวัฒนธรรม ในสมัยของประธานาธิบดีบูร์ฮานูดดีน รับบานี มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ 71 คนเริ่มทำการเคลื่อนย้ายโกดังวัตถุของพิพิธภัณฑ์ไปไว้ยังโรงแรมคาบูล (ปัจจุบันคือโรงแรมเซรีนา คาบูล) เพื่อป้องกันความเสียหายจากการโจมตีด้วยจรวดและระเบิดในอนาคต[16] การขนย้ายเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 1996[8] ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2001 กลุ่มตอลิบานได้เข้าทำลายโบราณวัตถุจำนวนมากเนื่องด้วยเหตุผลทางศาสนา[18] โดยมีรายงานในช่วงปลายปีเดียวกันว่าตอลิบานทำลายโบราณวัตถุมากกว่า 2,750 ชิ้นในปีนั้น[19]

ในการโจมตีของตอลิบานปี 2021 และหลังการยึดกรุงคาบูลสำเร็จ โมฮามัด ฟาฮีม รอฮีมี (Mohammad Fahim Rahimi) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ปี 2016 ประกาศสัญญาว่าตนจะคงตำแหน่งนี้เพื่อพิทักษ์ของสะสมของพิพิธภัณฑ์ หลังเกิดความกังวลอย่างมากไปทั่วว่าตอลิบานอาจจะเข้ามาทำลายโบราณวัตถุอีกครั้ง ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นไปแล้วในคริสต์ทศวรรษ 1990[20] ข้อมูลจากเดือนมีนาคม 2023 ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ (แทน) คือ โมฮามัด ซูบัยร์ อาเบดี (Mohammad Zubair Abedi)[1][4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Over 50 instances of artifact smuggling prevented in last 18 months: officials". Ariana News. March 21, 2023. สืบค้นเมื่อ 2023-03-22.
  2. "The Taliban destroyed Afghanistan's ancient treasures. Will history repeat itself?". National Geographic Society. August 14, 2021. สืบค้นเมื่อ 2023-03-22.
  3. "National Museum of Afghanistan express growing concerns for the safety of ancient artefacts in the region". Mashable. August 18, 2021. สืบค้นเมื่อ 2023-03-22.
  4. 4.0 4.1 "57 Ancient Coins Handed Over to National Museum". TOLOnews. March 22, 2023. สืบค้นเมื่อ 2023-03-22.
  5. From Our Own Correspondent - a celebration of fifty years of the BBC Radio Programme by Tony Grant
  6. Games without Rules: The Often-Interrupted History of Afghanistan by Tamim Ansary
  7. "Director Says National Museum Needs Larger Building for Major Exhibits". TOLOnews. 12 October 2022. สืบค้นเมื่อ 2023-03-22.
  8. 8.0 8.1 Girardet, Edward; Jonathan Walter, บ.ก. (1998). Afghanistan. Geneva: CROSSLINES Communications, Ltd. p. 291.
  9. 9.0 9.1 9.2 Lawson, Alastair (1 March 2011). "Afghan gold: How the country's heritage was saved". BBC. สืบค้นเมื่อ 1 March 2011.
  10. Burns, John F. (30 November 1996). "Kabul's Museum: The Past Ruined by the Present". The New York Times.
  11. (31 January 2012) Germany returns Afghan sculpture bbc.co.uk/news/
  12. (19 July 2012) Looted art returned to Afghanistan, bbc.co.uk
  13. Afghanistan: Hidden Treasures from the National Museum, Kabul (2008), p. 35. Eds., Friedrik Hiebert and Pierre Cambon. National Geographic, Washington, D.C. ISBN 978-1-4262-0374-9.
  14. Meharry, Joanie Eva "The National Museum of Afghanistan: In Times of War" เก็บถาวร 2010-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Levantine Review
  15. "National Museum of Afghanistan - SILK ROAD". en.unesco.org.
  16. 16.0 16.1 Grissmann, Carla (February 19, 2004). "KABUL MUSEUM". ใน Ehsan Yarshater (บ.ก.). Encyclopædia Iranica (Online ed.). United States: Columbia University.
  17. "Museum Under Siege: Full Text - Archaeology Magazine Archive". archive.archaeology.org.
  18. "Destruction in Kabul: I watched as the Taliban destroyed my life's work". BBC News. 20 January 2016. สืบค้นเมื่อ 15 February 2019.
  19. "Taliban destroyed museum exhibits". The Daily Telegraph. 23 November 2001.
  20. "Afghan national museum chief on institute's future: 'I was ready to give my life for it'". The National. 2021-09-15. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.