พระอัสสชิเถระ
พระอัสสชิเถระ | |
---|---|
ภาพวาดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 สดับพระปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ชื่อเดิม | อัสสชิพราหมณ์ |
ชื่ออื่น | พระอัสสชิเถระ |
สถานที่เกิด | เมืองกบิลพัสดุ์ |
สถานที่บวช | ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (วันแรม 4 ค่ำ เดือน 8) |
วิธีบวช | เอหิภิกขุอุปสัมปทา |
สถานที่บรรลุธรรม | ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน บรรลุพระอรหันต์พร้อมกับปัญจวัคคีย์ด้วยอนัตตลักขณสูตร |
ฐานะเดิม | |
ชาวเมือง | เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ |
บิดา | บิดาท่านเป็นพราหมณ์ 1 ใน 8 คนที่ทำนายลักษณะเจ้าชายสิทธัตถะ ในวันขนานพระนามหลังเจ้าชายประสูติได้ 5 วัน |
วรรณะเดิม | พราหมณ์ |
การศึกษา | จบไตรเพท |
สถานที่รำลึก | |
สถานที่ | ธรรมเมกขสถูป, ธรรมราชิกสถูป (สถานที่บรรลุพระอรหันต์) ภายในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือสารนาถในปัจจุบัน |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา |
พระอัสสชิ หรือ พระอัสสชิเถระ เป็นพระภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ และพระอสีติมหาสาวก
พระอัสสชิ มีบทบาทสำคัญในการช่วยเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล ด้วยความเป็นผู้มีมารยาทน่าเลื่อมใสของท่าน ทำให้ท่านเป็นภิกษุรูปแรกที่ทำให้อุปติสสมาณพ ซึ่งต่อมาคือพระสารีบุตร เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้กล่าวคาถาสำคัญยิ่งคาถาหนึ่งในพระพุทธศาสนาคือพระคาถา เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ... พระคาถานี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระคาถาสำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะกล่าวถึงความเป็นเหตุผลและจุดมุ่งหมายในพระพุทธศาสนาไว้ในคาถาเดียว ท่านดำรงอายุพอสมควรแก่กาลก็ดับขันธปรินิพพาน
ชาติกำเนิด
[แก้]พระอัสสชิ เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “อัสสชิพราหมณ์”
เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ท่านได้ศึกษาศิลปะวิทยาจนจบไตรเพทในสำนักพราหมณ์แห่งเมืองกบิลพัสดุ์
สาเหตุที่ออกบวช
[แก้]เนื่องด้วยพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของท่าน เคยเป็นพราหมณ์ 1 ใน 8 คนที่ได้รับนิมนต์เข้ารับภัตตาหารในพระราชวังกรุงกบิลพัสดุ์ในวันขนานพระนามเจ้าชายสิทธัตถะ และได้ทำนายว่าเจ้าชายสิทธัตถะหากออกผนวชจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บิดาของท่านจึงตั้งใจว่าหากเจ้าชายออกผนวชตนจะออกบวชตาม แต่ด้วยบิดาของท่านมีอายุมากแล้ว และเกรงว่าตนอาจจะอยู่ไม่ถึงวันที่เจ้าชายบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านจึงสั่งเสียให้ลูกชายคืออัสสชิพราหมณ์ออกบวชหากเจ้าชายออกผนวชตามคำทำนาย โดยเมื่อเจ้าชายออกบวชท่านได้ตามโกณฑัญญพราหมณ์และบุตรพราหมณ์ 108 จำนวน 3 คนออกบวชด้วย
ประวัติของท่านหลังจากนี้คล้ายคลึงกับประวัติท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ
ดูเพิ่มได้ที่ พระอัญญาโกณฑัญญะ และ พระสารีบุตรเถระ
บุพกรรมในอดีตชาติ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ความสำคัญในพระพุทธศาสนา
[แก้]ท่านก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล เป็นพระสงฆ์กลุ่มแรกที่พระพุทธเจ้าทรงส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้มีกิริยามารยาทน่าเลื่อมใสมาก จนทำให้อุปติสสะมาณพ บุตรแห่งนายบ้านนาลันทาเกิดความเลื่อมใสและยอมตนบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้กล่าวพระคาถาสำคัญในพระพุทธศาสนาคือพระคาถาที่รู้จักกันดีว่าคือพระคาถา "เย ธมฺมา" พระคาถานี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระคาถาสำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะกล่าวถึงความเป็นเหตุผลและจุดมุ่งหมายในพระพุทธศาสนาไว้ในคาถาเดียว คาถานี้ได้รับการยอมรับมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยทวารวดี พระคาถาจำนวน 4 บาทนี้ได้ถูกนำมาจารึกลงและบรรจุไว้ในพระเจดีย์ในฐานะองค์แทนแห่งพระพุทธศาสนา[1] พระคาถาของท่านมีดังนี้
- เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
- เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ
"ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้"
— พระอัสสชิเถระคาถา
บั้นปลายชีวิต
[แก้]ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านดับขันธปรินิพพานเมื่อใดและที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงปรินิพพาน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ วารสาร เมืองโบราณ MuangBoran Journal. พระพิมพ์เม็ดกระดุม (ซุ้มศรีวิชัย) กรุเขาศรีวิชัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1] เก็บถาวร 2015-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 3-9-52
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ 84000
- เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน