พระองค์เจ้าขุนเณร
พระองค์เจ้าขุนเณร | |
---|---|
ประติมากรรมพระรูปพระองค์เจ้าขุนเณร ที่หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวัดกาญจนบุรี | |
ประสูติ | ไม่ปรากฏ อาณาจักรอยุธยา |
สิ้นพระชนม์ | ไม่ปรากฏ อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
ราชวงศ์ | จักรี (สถาปนา) |
พระบิดา | พระอินทรรักษา |
พระมารดา | อนุภริยาของพระอินทรรักษา |
ศาสนา | เถรวาท |
อาชีพ | ทหาร |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
แผนก/ | กองทัพหลวง |
ชั้นยศ | นายทัพ |
หน่วย | กองโจร |
การยุทธ์ | สงครามเก้าทัพ กบฏเจ้าอนุวงศ์ |
พระองค์เจ้าขุนเณร เป็นพระโอรสบุญธรรมใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี
พระประวัติ
[แก้]พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นบุตรของพระอินทรรักษา (เสม) พระภัสดาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินีเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์เจ้าขุนเณร ทรงเป็นเจ้านายนอกพระราชวงศ์จักรี เพราะพระชาติประสูติของพระองค์นั้นเกิดกับหญิงสามัญ ซึ่งเป็นอนุภริยาในพระอินทรรักษา สำหรับพระองค์เจ้าขุนเณร นับว่าเป็นเจ้านายที่พระปรีชาการศึกสงครามพระองค์หนึ่ง ทรงประทับที่วังบ้านปูน แต่พระชีวประวัติเท่าที่สืบค้นมีน้อยมาก สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 3[1]
พระกรณียกิจ
[แก้]พระองค์เจ้าขุนเณรทรงนำทัพในการรบที่สำคัญ มีดังนี้
- การรบในสมัยสงครามเก้าทัพ
พระกรณียกิจที่ปรากฏชัดเจนและมีความสำคัญยิ่งขึ้น คือ เหตุการณ์ในการทำสงครามกับพม่า ที่เรียกว่าสงครามเก้าทัพ ณ เมืองกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. 2328 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์เจ้าขุนเณรได้รับหน้าที่เฉพาะกิจโดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้ากองโจร[2] คอยทำลายกองเสบียงที่มาจากเมืองเมาะตะมะ ทวาย และตะนาวศรี พระองค์เจ้าขุนเณรใช้กองกำลังที่พระองค์ทรงฝึกเองเพียง 1800 คนเท่านั้น ที่จะต้องยันกองทัพพม่า ที่ยกมาเป็นจำนวนนับแสน ซึ่งในการปฏิบัติงานสำคัญ เป็นภารกิจเสี่ยงต่อภัยอันตรายตลอดเวลา ยากที่กำลังพลปกติทั่วไปจะกระทำได้สำเร็จ[3]
- สงครามปราบเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์
พระกรณียกิจครั้งสุดท้ายของพระเจ้าขุนเณร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงทำการรบกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ในฐานะกองโจร ในปี พ.ศ. 2369 ขณะพระองค์เจ้าขุนเณรมีพระชนมายุกว่า 60 พรรษา ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทัพกองโจรคุมกำลังกองโจร ซึ่งเป็นคนพม่า คนทวาย และเป็นนักโทษมาแล้ว จำนวน 500 คน ภายหลังให้ทหารเมืองนครราชสีมามารวมด้วยอีก 500 คน โดยให้พระณรงค์สงครามเป็นหัวหน้า[4]
พระอนุสรณ์
[แก้]- ค่ายขุนเณร ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของกรมรบพิเศษที่ 5[5]
พระเกียรติยศ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ พระองค์เจ้าขุนเณร | |
---|---|
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม/เพคะ |
พระอิสริยยศ
[แก้]- ไม่ปรากฏ : ขุนเณร
- สมัยรัชกาลที่ 1 : พระองค์เจ้าขุนเณร
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]มีนักแสดงผู้รับบท พระองค์เจ้าขุนเณร ได้แก่
- สุริยัน ปฏิพัทธ์ จากละครเรื่อง สงครามเก้าทัพ (2531)
อ้างอิง
[แก้]พระองค์เจ้าขุนเณร ผู้บัญชาการกองทัพนินจาของไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์ เก็บถาวร 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ:สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2554, หน้า 183
- ↑ "วีรบุรุษผู้ถูกลืม!! จากสามัญชน สู่ เจ้านายในพระราชวงศ์จักรี เปิดประวัติ "พระองค์เจ้าขุนเณร" ปรมาจารย์การรบกองโจรแห่งสงครามเก้าทัพ !!". tnews. 17 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2021.
- ↑ โรม บุนนาค (20 พฤศจิกายน 2017). "พระองค์เจ้าขุนเณร "ยอดนายทัพกองโจร" สมัย ร.๑-ร.๓! สร้างวีรกรรมมหัศจรรย์อย่างคาดไม่ถึง!!". mgronline. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2021.
- ↑ Comic Creation. พระองค์เจ้าขุนเณร. กรุงเทพ : E.Q. Plus, พ.ศ. 2553. 136 หน้า. หน้า หน้าที่ 106. ISBN 9789747444025
- ↑ การจัดตั้งค่ายขุนเณร