พระศรีเมืองทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระศรีเมืองทอง[1]
ชื่อเต็มพระศรีเมืองทอง
ชื่อสามัญพระนอนวัดขุนอินทประมูล
ประเภทศิลปะสุโขทัย
ความกว้าง50 เมตร
วัสดุปูนปั้น
สถานที่ประดิษฐานพระวิหาร วัดขุนอินทประมูล
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระนอนวัดขุนอินทประมูล หรือ พระศรีเมืองทอง ประดิษฐานอยู่ ณ วัดขุนอินทประมูล ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง อยู่ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร องค์พระยาว 1 เส้น 5 วา หรือ 50 เมตร ซึ่งนับเป็นพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวเป็นอันดับที่สอง รองจากพระนอนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ พระนอนที่วัดบางพลีใหญ่กลาง จ. สมุทรปราการ สมเด็จพระศากยมุณีศรีสุเมธบพิตร ซึ่งยาว 53 เมตร ส่วนพระนอนจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี ยาว 47 เมตร

จากตำนานกล่าวว่า ขุนอินทประมูล ได้ยักยอกเงินหลวงมาสร้าง ครั้นถูกสอบถามว่าเอาเงินจากไหนมาสร้างพระ ขุนอินทประมูลก็ไม่ยอมบอกความจริง จึงถูกลงโทษจนตาย คงมีความเชื่อที่ว่า ถ้าบอกแหล่งที่มาของเงินแล้ว ตนจะไม่ได้กุศลตามที่ปรารถนา

จากการสันนิษฐานมีความเห็นว่าได้สร้างในสมัยกรุงสุโขทัย โดย พระยาเลอไทย (Loe Thai) พระพักตรหันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก เมื่อมองตลอดทั้งองค์มีความสง่างามมาก พระพักตรงดงามได้สัดส่วน แสดงออกถึงความมีเมตตา

ปัจจุบัน องค์พระนอนอยู่กลางแจ้งไม่มีวิหารคลุมเช่นพระนอนองค์อื่น เนื่องจากวิหารเดิมคงหักพังไปนานแล้ว ดังจะเห็นได้จาก เสาพระวิหารที่ยังปรากฏอยู่รอบองค์พระนอน รอบ ๆ องค์พระมีต้นไม้ขนาดใหญ่หลายต้นขึ้นอยู่โดยรอบ ทำให้มีความสงบร่มเย็น เหมาะแก่การไปนมัสการให้เกิดความสุข สงบ ตามธรรมชาติ ซึ่งแปลกออกไปจากบรรยากาศในพระวิหาร

มีงานนมัสการองค์พระช่วงปลายเดือนเมษายนของทุกปี

อ้างอิง[แก้]