พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในอภินิหารบรรพบุรุษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐาน ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี (วัดคุ้งตะเภา บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์)

พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ผู้เป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี ส่วนใหญ่มักจะยึดถือจาก อภินิหารบรรพบุรุษ อันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในการศึกษาพระราชประวัติก่อนเป็นพระมหากษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อย่างไรก็ตาม นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ เห็นว่าหลักฐานดังกล่าวยากต่อการพิสูจน์ความถูกต้อง และยังพบข้อผิดพลาดอยู่มาก[1]

พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[แก้]

พระราชสมภพ[แก้]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเกิดแต่บิดา "จีนไหยฮอง ชื่อหยง แซ่แต้" แต่ไม่ปรากฏนามมารดาในอภินิหารบรรพบุรุษ[2] เมื่อเข้ามาตั้งตัวในกรุงศรีอยุธยาแล้วได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย[3] และได้ตำแหน่ง ขุนพัฒ ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงกรุงเก่า แต่มีฐานะไม่มั่งคั่งมากนัก

ทารกคนนี้คลอดได้ 3 วัน มีงูเหลือมใหญ่เลื้อยเข้าไปขดรอบตัวทารก เป็นทักขิณาวัฏ ขุนพัฒผู้เป็นบิดาเกรงว่าเรื่องนี้อาจลางร้ายแก่สกุล จึงยกบุตรคนนี้ให้แก่เจ้าพระยาจักรี[4] แล้วเจ้าพระยาจักรีได้เลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และตั้งแต่เจ้าพระยาจักรีได้เด็กน้อยคนนี้มา ลาภผลก็เกิดมากมูลพูนเพิ่มมั่งคั่งขึ้นแต่ก่อน เจ้าพระยาจักรีจึงกำหนดเอาเหตุนี้ขนานนามให้ว่า สิน

ขณะทรงพระเยาว์[แก้]

ครั้นเมื่ออายุได้ 7 ขวบ เจ้าพระยาจักรีนำเข้าฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส[5] ต่อมาได้เข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่ออายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้จัดงานมงคลตัดจุกนายสิน เป็นการเอิกเกริกและในระหว่างนั้น มีผึ้งหลวงมาจับที่เพดานเบญจารดน้ำปรากฏอยู่ถึง 7 วันจึงหนีไป และในระหว่างนี้ นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ในภาษาต่างประเทศ มี ภาษาจีน (ในที่นี้หมายถึงภาษาหมิ่นใต้), ภาษาญวน และภาษาแขก จนสามารถพูดคล่องได้ทั้ง 3 ภาษา และยังได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ขอม และคัมภีร์พระไตรปิฎก

วันหนึ่ง นายสินคิดตั้งตนเป็นเจ้ามือบ่อนถั่ว ชักชวนบรรดาศิษย์วัดเล่นการพนัน พระอาจารย์ทองดีทราบเรื่องจึงลงโทษทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสิน โดยให้มัดมือคร่อมกับบันไดท่าน้ำประจานให้เข็ดหลาบ นายสินถูกมัดแช่น้ำตั้งแต่เวลาพลบค่ำ พอดีเป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น พระอาจารย์ทองดีไปสวดพระพุทธมนต์ลืมนายสิน จนประมาณยามเศษ พระอาจารย์นึกขึ้นได้จึงให้พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นอันเตวาสิก ช่วยกันจุดไต้ค้นหาก็พบนายสินอยู่ริมตลิ่ง มือยังผูกมัดติดอยู่กับบันได แต่ตัวบันไดกลับหลุดถอนขึ้นมาได้อย่างอัศจรรย์ เมื่อพระภิกษุสงฆ์ช่วยกันแก้มัดนายสินแล้ว พระอาจารย์ทองดีจึงพาตัวนายสินไปยังอุโบสถให้นั่งลงท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ แล้วพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายสวดพระพุทธมนต์ด้วยชัยมงคลคาถาเป็นการรับขวัญ[6]

ทรงออกผนวช[แก้]

ต่อมาเมื่อนายสินเรียนจบการศึกษา เจ้าพระยาจักรีก็ได้นำไปถวายตัวรับราชการภายใต้หลวงนายศักดิ์นายเวร ภายหลังเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์จนมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ โดยได้อุปสมบทอยู่กับอาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส และบวชอยู่นานถึง 3 พรรษา ในระหว่างอุปสมบทพระภิกษุสินได้ออกบิณฑบาตพร้อมกับพระภิกษุ ทองด้วง เป็นประจำ เพราะรับราชการเป็นมหาดเล็กทำงานด้วยกันมาหลายปี ทั้งสองมีความรักใคร่กลมเกลียวกันมาก ได้อุปสมบทพร้อมกัน

วันหนึ่ง ทั้งสองได้พบกับซินแสหมอดูชาวจีนผู้หนึ่ง ซึ่งทำนายว่าทั้งสองมีลักษณะมีบุญที่จะขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งในเวลาต่อมา ทองด้วง สหายของสิน ได้กลายมาเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลถัดจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก[7]

รับราชการ ป้องกันพระนคร[แก้]

เจ้าเมืองกำแพงเพชรถึงแก่กรรม สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดเรียกพระยาตากไปรับตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรอยู่ในขณะที่กำลังติดพันศึกกับกองทัพพม่า ทำให้พระยาตากไม่ได้ขึ้นไปปกครองกำแพงเพชร ส่วนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ วินิจฉัยว่า ได้มีการเรียกตัวพระยาตากลงมาป้องกันพระนคร ปรากฏฝีมือเข้มแข็ง จึงได้รับแต่งตั้งให้ปกครองเมืองกำแพงเพชร[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 59-60.
  2. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 63-64, 67
  3. Carl Parkes (2001). Moon Handbooks: Southeast Asia 4 Ed. Avalon Travel Publishing. pp. 770. ISBN 1566913373.
  4. พระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส, อภินิหารบรรพบุรุษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ โปรดให้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2473
  5. "เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของวัดเชิงท่า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-09. สืบค้นเมื่อ 2010-03-29.
  6. จักรปาณี,หลวง. นิราศทวารวดี. พระนคร : กรุงเทพการพิมพ์, 2512. หน้า 22 - 23 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราช ทานเพลิงศพ นายเอิบ ทังสุบุตร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 20 ธันวาคม 2512)
  7. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, สามกรุง (พระนคร:คลังวิทยา 2511) หน้า 54-58
  8. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 97.

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส, อภินิหารบรรพบุรุษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ โปรดให้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2473
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด.

ดูเพิ่ม[แก้]