พระยาดัษกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตเสถียร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระยาดัษกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) หรือ พันเอกพระยาดัษกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) เป็นบุตรชายของพระยาพระกฤษณรักษ์ (บุญยัง โรหิตเสถียร) ข้าหลวงใหญ่ ณ หลวงพระบาง , ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ และ เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 5

เรียบเรียงจาก ประชุมพงษาวดารภาคที่ 11 เรื่อง พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง ซึ่งได้มีการพิมพ์แจกในงานศพของพระยาดัษกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) ซึ่งมีการจัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร กล่าวว่า นายพันเอก พระยาดัษกรปลาส (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) ท ม.ต ช. ดุษฎีมาลา. เข็มราชการแผ่นดิน. ฯลฯ เป็นบุตรชายของ พระยาพระกฤษณรักษ์ (บุญยัง โรหิตเสถียร) เกิดในรัชสมัย รัชกาลที่ 3 เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 10 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1211 พ.ศ. 2392 แรกเริ่มได้เข้ารับราชการเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2414 ซึ่งมีอายุ 22 ปี เป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ 5 2 ปี จึงได้เป็นนายสิบโท 3 ปี แล้วจึงได้เป็นนายสิบเอกในกองร้อยที่ 6 อีก 4 ปี

เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2424 ในสมัยเมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็น เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้กราบบังคมทูลขอพระยาดัษกรปลาศไปเป็นนายร้อยโทในกรมทหารสมัครกองร้อยที่ 3 และเลื่อนยศขึ้นเป็นร้อยเอกในปีนั้น ก่อนจะรับราชการต่อมาจนได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงดัษกรปลาศ ในปีระกา พ.ศ. 2428 โปรดให้เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีแต่ยังเปนนายพันเอกเจ้าหมื่นไวยวรนารถในสมัยนั้นเป็นแม่ทัพคุมกองทหารไปปราบปรามพวกฮ่อ ซึ่งเข้ามาบุกรุกในอาณาเขตเมืองหลวงพระบาง เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีจึงให้พระยาดัษกรปลาศคุมทหาร 1 ยก ล่วงหน้านำไปทางเมืองงอย ในเขตรหัวพันทั้งหก ซึ่งฮ่อเข้ามาตั้งค่ายอยู่หลายแห่ง ซึ่งพระยาดัษกรปลาศยกขึ้นไปถึงค่ายฮ่อและเข้าตีค่ายก่อนทหารกองอื่น พวกฮ่อล้มตายแตกหนี พระยาดัษกรปลาศจึงตั้งมั่นอยู่ที่นั่น แต่งกองทหารตีค่ายฮ่อซึ่งเป็นค่ายน้อย ตั้งอยู่ที่อื่นๆในจังหวัดนั้นจนฮ่อแตกหนีไปหมด

ในเรื่องครอบครัวนั้นพระยาดัษกรปลาศมีพี่น้องรวม 9 คน คือ เจ้าจอมศิลา และ เจ้าจอมแปลก (ในรัชกาลที่ 4), นายไผ่, นายพันเอก พระยาดัษกรปลาศ, นายทองคำ , นายร้อยโท นาค , รองอำมาตย์โท ขุนพิทักษ์สาลี, ปุก (ภริยาหลวงสารยุทธสรสิทธิ์), นายสวน ซึ่งภายหลังพระยาดัษกรปลาศได้รับพระราชทานนามสกุล โรหิตเสถียร จากรัชกาลที่ 6 ทำให้ทุกคนในครอบครัวเริ่มต้นใช้นามสกุล

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙ ตอนที่ ๓๘ หน้า ๓๑๖, ๑๘ ธันวาคม ๑๑๑
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญปราบฮ่อ, เล่ม ๑๕ ตอนที่ ๒๖ หน้า ๒๘๒, ๒๕ กันยายน ๑๑๗
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๔๖ หน้า ๕๕๒, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๑๑๕
  4. ราชกิจจานุเบกษา, เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการโรงเรียนทหาร พระราชทานเหรียญจักรมาลาแก่นายทหารที่ได้รับราชการครบ ๑๕ ปี แลพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนนายร้อยที่สอบไล่ได้, เล่ม ๑๒ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๓๑๘, ๑ ธันวาคม ๑๑๔