พระนางยสุนทราเทวี
ยสุนทราเทวี | |
---|---|
มหาเทวีแห่งล้านนา | |
พระราชสวามี | พญากือนา |
พระราชบุตร | พญาแสนเมืองมา |
ราชวงศ์ | มังราย |
ยสุนทราเทวี เป็นมเหสีพระองค์หนึ่งในพญากือนา และเป็นมหาเทวีพระราชชนนีในพญาแสนเมืองมา และเป็นมหาเทวีเจ้าตนย่า (พระอัยยิกา) ในพญาสามฝั่งแกน ถือเป็นฝ่ายในแห่งอาณาจักรล้านนาที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการปกครองของอาณาจักรล้านนายาวนานนับทศวรรษ
พระราชประวัติ
[แก้]ยสุนทราเทวีเป็นธิดาของใครไม่ปรากฏ ทราบเพียงว่าเป็นพระนัดดาของพ่อท้าวงั่วเถิง (พงศาวดารโยนกเรียก เจ้าวัวเถลิง) เจ้าผู้ครองเมืองเชียงของ[1] การอภิเษกสมรสของพระองค์กับพญากือนา คาดว่าน่าจะมาจากพระราชเสาวนีย์ของพระนางจิตราเทวี พระราชชนนีของพญากือนาและเป็นธิดาของท้าวงั่วเถิง เพื่อผลประโยชน์กับเครือญาติและกลุ่มผู้สืบสันดานให้เป็นใหญ่สืบต่อมา[2] พระองค์ประสูติการพระราชโอรสคือพญาแสนเมืองมา[3] พระองค์มีพระราชอำนาจสูง หลังการสืบราชสมบัติของพญาแสนเมืองมา พระองค์ได้เป็นผู้กำหนดว่าจะให้ใครเป็นอัครมเหสีของพระราชโอรสผู้ขึ้นครองราชย์ได้ ซึ่งพระองค์เลือกติโลกจุฑาเทวีซึ่งเป็นนางสนม และนางรับใช้ในพระองค์ที่มีเชื้อสายชนชั้นสูงเป็นพระสุณิสา[4] ดังปรากฏใน พื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า[5]
"...ทีนี้จักจาด้วยแม่เจ้าราชบุตรสามฝั่งแกนก่อนแล ดังนางผู้นี้เป็นเชื้อท้าว มีรูปโฉมอันงามผ้ง เป็นสาวนางสนมอยู่ใช้สอยมหาเทวีแม่เจ้าแสนเมืองมา ยังมีในวัน 1 นางผู้นั้นเอาผ้าเช็ดหน้ามหาเทวีออกตาก หันนกจอกตัว 1 มากรายหน้านาง 7 บาทย่าง ลูนนั้นมหาเทวีใช้นางเอาจังหันไปส่งสวามีพุทธญาณ วัดเชียงยืน นางบอกเหตุอันตนได้หันนกจอกนั้นย่างมาหานั้นแก่มหาสวามี มหาสวามีจึงว่า ดูรา นางอุบาสิกามึงอย่าบอกแก่ใผ มึงจักได้เป็นเทวีดั่งมหาเทวีบัดนี้บ่อย่าชะแลว่าอั้น ถัดนั้นมหาเทวีใช้นางไปหาเจ้าแสนเมืองมาลูกแห่งตน เจ้าแสนเมืองมาก็เอานางไปอยู่นอนทวย นางจึงทรงคัพภได้ 3 เดือน มหาเทวีหันหลาก จึงถามว่านางทรงคัพภลูกใผว่าอั้น นางบอกว่าข้าทรงคัพภกับเจ้าเหนือหัวลูกแม่เทวีแลว่าอั้น มหาเทวีจึงแต่งอุ้มส่งหื้อนางไปเป็นเมียเจ้าแสนเมืองมาลูกแห่งตน..."
หลังการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของพญาสามฝั่งแกน พระราชนัดดา พระองค์เป็นหนึ่งในอำนาจที่คอยค้ำจุนและอุปถัมภ์ราชบัลลังก์ของพระราชนัดดาตลอดพระชนม์ชีพในฐานะมหาเทวีเจ้าตนย่า ดังปรากฏใน ตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน ความว่า[6]
"...เมื่อนั้นท้าวสามประหยาแม่ไนยกับมหาเทวีเจ้าตนย่า เจ้าทั้งสองมีใจยินดีในคุณแห่งมหาเถระเจ้ามากนัก แล้วก็พร้อมกันราธนามหาเถระเจ้าลงไปนพบุรีเชียงใหม่ แล้วก็กระทำน้ำพุทธาภิเษกยังสิริวังโสมหาเถระเจ้าหื้อเป็นราชครู แล้วเอาแคว้นดอนแท่นหื้อเป็นทานแก่มหาเถระเจ้า
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สงวน โชติสุขรัตน์. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ศรีปัญญา, 2564, หน้า 90-91
- ↑ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 6
- ↑ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : ตรัสวิน, 2543, หน้า 65-66
- ↑ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 48
- ↑ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : ตรัสวิน, 2543, หน้า 70
- ↑ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 51