พระนางติโลกจุฑาเทวี
ติโลกจุฑาเทวี, ติโลกะจุฑาเทวี,[1] ติโลกจุกะเทวี[2] หรือ สมเด็จบพิตร พระมหาเทวีศรีรัตนจักรวรรดิ[ก] เป็นพระชายาในพญาแสนเมืองมา และเป็นมหาเทวีพระราชชนนีในพญาสามฝั่งแกน พระองค์มีบทบาทสำคัญในการปกครองอาณาจักรร่วมกับพระราชโอรส
พระราชประวัติ
[แก้]ติโลกจุฑาเทวีมีเชื้อสายไทลื้อ บุรพชนเป็นเจ้านายจากสิบสองพันนา[3] แต่เดิมพระองค์สนองพระเดชพระคุณเป็นนางสนมของพญาแสนเมืองมา และเป็นนางรับใช้คอยถวายงานแด่ยสุนทราเทวีผู้มีพระราชอำนาจสูง หลังการสวรรคตของพญากือนา และสืบราชสมบัติของพญาแสนเมืองมาที่ขณะนั้นมีพระชันษา 13 ปี[4] ยสุนทราเทวีได้เป็นผู้กำหนดว่าจะให้ใครเป็นอัครมเหสีของพระราชโอรสผู้ขึ้นครองราชย์ ซึ่งทรงเลือกติโลกจุฑาเทวีเป็นพระสุณิสา[5] โดยมีพระมหาสวามีรูปหนึ่งมาทำนายทายทักว่าติโลกจุฑาเทวีจะได้ขึ้นเป็นมเหสีด้วย[4] ดังปรากฏใน พื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า[6]
"...ทีนี้จักจาด้วยแม่เจ้าราชบุตรสามฝั่งแกนก่อนแล ดังนางผู้นี้เป็นเชื้อท้าว มีรูปโฉมอันงามผ้ง เป็นสาวนางสนมอยู่ใช้สอยมหาเทวีแม่เจ้าแสนเมืองมา ยังมีในวัน 1 นางผู้นั้นเอาผ้าเช็ดหน้ามหาเทวีออกตาก หันนกจอกตัว 1 มากรายหน้านาง 7 บาทย่าง ลูนนั้นมหาเทวีใช้นางเอาจังหันไปส่งสวามีพุทธญาณ วัดเชียงยืน นางบอกเหตุอันตนได้หันนกจอกนั้นย่างมาหานั้นแก่มหาสวามี มหาสวามีจึงว่า ดูรา นางอุบาสิกามึงอย่าบอกแก่ใผ มึงจักได้เป็นเทวีดั่งมหาเทวีบัดนี้บ่อย่าชะแลว่าอั้น ถัดนั้นมหาเทวีใช้นางไปหาเจ้าแสนเมืองมาลูกแห่งตน เจ้าแสนเมืองมาก็เอานางไปอยู่นอนทวย นางจึงทรงคัพภได้ 3 เดือน มหาเทวีหันหลาก จึงถามว่านางทรงคัพภลูกใผว่าอั้น นางบอกว่าข้าทรงคัพภกับเจ้าเหนือหัวลูกแม่เทวีแลว่าอั้น มหาเทวีจึงแต่งอุ้มส่งหื้อนางไปเป็นเมียเจ้าแสนเมืองมาลูกแห่งตน..."
พระองค์ได้ประสูติการพญาสามฝั่งแกน พระราชโอรส ขณะที่เสด็จกลับจากสิบสองพันนา พอเดินทางถึงพันนาฝั่งแกนก็มีประสูติพระราชโอรสที่นั่น พญาสามจึงมีสร้อยพระนามว่า "ฝั่งแกน"[3] ภายหลังเมื่อพระราชโอรสมีพระชันษาได้ 13 ปี จึงได้สร้างวัด ณ สถานที่ที่พระราชโอรสประสูติโดยตั้งชื่อวัดนั้นว่า วัดเพิง[4]
หลังการเสด็จสวรรคตของพญาแสนเมืองมา และการครองราชย์ของพญาสามฝั่งแกน พระองค์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกครองอาณาจักรร่วมกับพระราชโอรส[7] และปรากฏใน พื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า
"...เสนาทังหลายอภิเสกเจ้าราชบุตรสามฝั่งแกน อายุได้ 13 ปี เป็นพญาในปีรวงไส้ สกราชได้ 763 ตัว เดือน 8 เพ็ง เม็งวัน 6 ไทยกดสะง้า เจ้าเป็นพญาแล้ว นางผู้แม่ก็ได้เป็นมหาเทวีชื่อว่า ติโลกจุฑาเทวี..."
ถือว่าพญาสามฝั่งแกนจึงได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากทั้งติโลกจุฑาเทวี พระราชชนนี และยสุนทราเทวี พระอัยยิกาที่ยังทรงพระชนม์ในขณะนั้น[8] พระองค์และพระราชโอรสได้สืบทอดพระราชปณิธานของพญาแสนเมืองมาที่จะสร้างเจดีย์หลวงเพื่ออุทิศถวายแด่พญากือนาที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เสร็จ ติโลกจุฑาเทวีที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงทรงรับเป็นแม่กองงานบัญชาการการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ใช้ระยะเวลา 5 ปีจึงแล้วเสร็จ พร้อมกับสร้างวิหารหลวง หล่อพระอัฏฐารส และพระอัครสาวกซ้ายขวา ณ วัดเจดีย์หลวงด้วย[4]
เชิงอรรถ
[แก้]- หมายเหตุ
ก พระนามดังกล่าวปรากฏในจารึกวัดพระคำ ในจังหวัดพะเยา จากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน) อธิบายว่าพระนามดังกล่าวเป็นของสิริยศวดีเทวี[9] ส่วนเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ว่าพระนามดังกล่าวเป็นการเรียกแทนพระนามของติโลกจุฑาเทวี ที่จารึกดังกล่าวถูกจารขึ้นในสมัยหลังซึ่งกล่าวถึงพระนาง[10]
- อ้างอิง
- ↑ สงวน โชติสุขรัตน์ (ปริวรรต). "ตำนานวัดเจดีย์หลวง". ประชุมตำนานลานนาไทย เล่ม 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, หน้า 145
- ↑ สงวน โชติสุขรัตน์. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ศรีปัญญา, 2564, หน้า 96
- ↑ 3.0 3.1 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552, หน้า 228
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 "พระนางติโลกจุฑาเทวี". สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-09. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 48
- ↑ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : ตรัสวิน, 2543, หน้า 70-71
- ↑ "จารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 51
- ↑ "จารึกวัดพระคำ". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 144